สารบัญ: คลิ๊กเลือกอ่าน
๕ เพชรกลับ: ว่านที่เรียกว่า เพชรกลับทั้ง ๕ ต้น
ว่านเพชรกลับ เป็นว่านกลุ่มหนึ่งที่ผมเห็นว่าปัจจุบันเล่นผิดฝาผิดตัว เล่นสลับกันมาก และเอากระชายเลื้อยป่ามาเล่นปนกันมั่วไปหมด ผมจึงได้คลอดบทความนี้ขึ้นมา ไม่งั้นหากปล่อยไว้นานๆจะเลอะเทอะกันไปใหญ่….
ว่านเพชรกลับดีอย่างไร / สรรพคุณ
ว่านนี้มีอานุภาพใช้เป็นว่านอยู่คงกระพันชาตรี และเป็นว่านป้องกันจากถูกคุณไสย- ศาสตร์ต่าง ๆ ในเมื่อมีว่านนี้ไว้ในบ้านเรือน หรือมีหัวว่านประจำติดตัวอยู่เสมอ ว่ากันว่าถ้าไปป่าหรือในการไปเที่ยวผจญภัยสำคัญ ๆ ถ้าแม้มีหัวว่านนี้ติดตัวไปด้วย ถึงแม้จะต้องผ่านถิ่นทุรกันดารอันเต็มไปด้วยการเจ็บไข้ร้ายแรงอย่างใด ก็จะต้องกลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพจนได้เสมอ ไม่มีการเสียตัวตายนอกบ้านเป็นอันขาด1 เป็นว่านที่ใช้ในทางแคล้วคลาดปลอดภัย ประการหนึ่งเมื่อทำจนเต็มที่ ว่านนี้ยังช่วยกลับร้ายกลายเป็นดีได้อีกด้วย[อรรถวัติ กบิลว่าน]
การใช้ในทางวิทยาคม ก่อนจะนำหัวว่านไปใช้ ให้ตั้งนะโม 3 จบ ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยและบริกรรมด้วย คาถาอิติปิโสถอยหลัง ดังนี้ ” ติวาคะ ภะโธ พุทนังสานุสมะวะ เทถาสัตถิระสา มะธัมสะริปุ โรตะนุต อทูวิกะโล โตคุสะ โนปันสัมพะระจะชาวิช โธพุทธสัมมาสัมหังระอะ วาคะภะ โสปิติอิ ” เสกน้ำรดด้วย นะโมพุทธายะ หรืออิติปิโสถอยหลังเป็นประจำ
ลักษณะร่วมของว่านกลุ่มเพชรกลับ
ว่านเพชรกลับ ตามที่ได้ค้นคว้าข้อมูลจากตำราและ อ.ว่านต่างๆที่ยังมีชีวิตอยู่ พบว่าปัจจุบันมีว่านกลุ่มที่ชื่อ “เพชรกลับ” นี้ด้วยกัน ๕ ชนิด คือ
- เพชรกลับ Boesenbergia thorelii (Gagnep.) Loes. (ชาวเขาเผ่าม้งเรียก ว่านกระชายขาว)
- เพชรกลับตัวผู้ Boesenbergia spp.
- เพชรกลับดำ Boesenbergia spp.
- เพชรกลับแดง Boesenbergia spp.
- เพชรกลับนเรศวร, ว่านนเรศวร Boesenbergia petiolata Sirirugsa
ลักษณะเด่นสำคัญ จุดร่วม จุดตัด-จุดตาย ของ “๕ เพชรกลับ”
ว่านกลุ่มนี้เป็นพืชสกุล (Genus) กระชาย (Boesenbergia) ทั้งหมด มีลักษณะร่วมคือรากกลับย้อนต้นฝืนแรงดึงดูดของโลก จึงเป็นที่มาของคำว่า “เพชรกลับ” โดยจุดเด่นของแต่ละต้นคือ
ว่านเพชรกลับ
Boesenbergia thorelii (Gagnep.) Loes. (ชาวเขาเผ่าม้งเรียก ว่านกระชายขาว): หัวใหญ่สุดในกลุ่มประมาณนิ้วหัวแม่มือ เนื้อในสีขาว เป็นต้นที่พบได้มากที่สุด ใช้เป็นสมุนไพร บำรุงร่างกายให้แข็งแรง กระปรี้กระเปร่า และความจำดี เมื่อแรกงอกเมื่อต้นยังไม่แก่ ใต้ใบจะแดงเรื่อๆ ต่อมาจะจางไป หลังใบอาจพบเส้นใบแดงเรื่อๆจางๆ
ทางสมุนไพร หัวดองกับเหล้าขาวดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ ใช้ด้านการบำรุงร่างกายให้แข็งแรง กระปรี้กระเปร่า และความจำดี2
ว่านเพชรกลับตัวผู้
Boesenbergia spp. ทั่วไปคล้ายเพชรกลับมาก ลักษณะที่แตกต่างออกไปคือ หัวจะเล็กกว่าและใต้ใบแดงจัด ทั้งหลังใบพบเส้นใบแดงชัดเจน แม้ตอนโตเต็มที่ก็ยังเห็นเส้นกลางใบแดงอยู่ ต้นนี้สรรพคุณทางยาสูงกว่าเพชรกลับ พบใช้มากทางแถบอีสาน ต้นนี้เป็นที่เข้าใจผิดกันบ่อยว่าเป็น “เพชรกลับแดง” เนื่องจากสีแดงของใบที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อนครับ
ว่านเพชรกลับดำ
Boesenbergia spp. คล้ายพืชกลุ่มกระชายเลื้อยในป่าแต่ต้นนี้ไม่เลื้อยแบบกระชายเลื้อย หัวขนาดเล็กเมื่อแห้งเปลือกหัวจะสีดำและแข็งเป็นที่มาของคำว่า “เพชรกลับดำ” ต้นนี้มี ๒ ต้นด้วยกันคือ ตัวผู้มีต้นสีดำ(นิยมเล่นต้นนี้) ตัวเมียมีต้นสีเขียว(นิยมใช้แทนกันเมื่อหาต้นตัวผู้ไม่ได้) ว่านต้นนี้เชื่อกันว่าเอกอุทางด้านแคล้วคลาดมาก
ว่านเพชรกลับแดง
Boesenbergia spp. ต้นนี้มักเล่นกันผิดกับเพชรกลับตัวผู้ เนื่องจากต้นนี้หายากกว่ามาก และพบว่าหายากที่สุดในกลุ่มเพชรกลับทั้งหลาย เป็นที่แสวงหากันมาก ราคาเมื่อราวๆ ๒๕๔๐ เล่นหากันเป็นต้น ราวๆ ๕๐๐-๑๕๐๐ บาท/ต้น ฟอร์มต้นคล้ายเพชรกลับดำ แต่ใต้ใบแดงชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อแรกงอกต้นหลังใบออกแดงก่ำ ต้นแห้งไม่ฉ่ำน้ำเท่าเพชรกลับดำ
ว่านเพชรกลับนเรศวร, ว่านนเรศวร
Boesenbergia cf. petiolata Sirirugsa เป็นว่านที่โดดเด่นทางด้านคงกระพัน ที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เชื่อกันว่า เป็นว่านที่สมเด็จพระนเรศวรใช้เคี่ยวน้ำมันชุบหอก-ดาบ เวลาออกศึก ตลอดจนกระทั่งใช้อาบแช่ว่านและใช้กินเพื่อคงกระพัน จึงตั้งชื่อว่า “ว่านนเรศวร” (บางข้อมูลกล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเสวยว่านนี้เกินขนาด จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระองค์สวรรคคต เนื่องจากพระวรกายไม่แข็งแรง
ว่านนี้มี ๒ ต้นคือต้นเขียวและต้นดำ ซึ่งนิยมเล่นหาต้นดำมากกว่า เชื่อว่ามีฤทธิ์แรงกว่า บางที่ปฏิเสธต้นเขียวด้วยซ้ำ เพราะมันแยกยากกับกระชายเลื้อย ว่านต้นนี้ต้นแท้จึงหายาก เนื่องจากมีไม้ป่าที่ไม่ใช่ว่านที่ลักษณะคล้ายๆกัน โดยคนเอามาขายดูไม่ขาด เอามาขายมาปะปนกันมากในยุคปัจจุบัน….
สรุป
๕ เพชรกลับ มีว่านตามชื่อรวม ๕ ต้น ตามลักษณะแวริเอชั่นได้ ๗ ต้น โดยว่านกลุ่มนี้เป็นพืชที่แยกยากกับไม้ป่ากลุ่มกระชายเลื้อย ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงเกิด “ว่านปลอม” เกิดขึ้นมากในยุคปัจจุบัน (๒๕๖๓-ปัจจุบัน) อีกทั้งลักษณะภายนอกที่ดูคล้ายๆกัน ก็อาจทำให้เล่นหาสับสน สลับชื่อกันได้อีก ผู้สนใจหากสนใจในรายละเอียดการเล่นว่านแท้ๆ ว่านเก่า แบบไม่ให้ผิดหวังเสียค่าโง่ เสียเวลา ควรเล่นหา “ว่านสืบทอด” ว่านคัด ที่ระบุตัวตนและที่มาได้ชัดเจนจะดีกว่าครับ เพราะจากที่เลี้ยงว่านมานานว่านแท้ว่านคัด ว่านสืบทอดเหล่านี้ อิทธิคุณคนละเรื่องกับว่านป่าเลยครับ…
อรรถวัติ กบิลว่าน
๑๕ ส.ค.๖๔
อ้างอิง
- https://farmssb.com/product/phet-klab/. ว่านเพชรกลับ.
- https://www.doa.go.th/research/attachment.php?aid=2436. การรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์ว่านเพชรกลับ.