ตะลุยป่าหาว่านวิ(พิ)เศษ

ตะลุยป่าหาว่านวิ(พิ)เศษ

มาแล้วครับ ฉบับนี้เรามาพักเรื่องราวแบบวิชาก๊านวิชาการเสียบาง แล้วมาพูดเรื่องเบาสมอง พร้อมภาพประกอบในเชิงการท่องเที่ยวกัน

ช่วงที่ผู้เขียนหาข้อมูล และทำการเขียนอยู่นี้เป็นช่วงต้นฤดูฝน ที่ฝนเริ่มตกชุก(พ.ค.-มิ.ย.) ทำให้ว่านที่ลงหัวในฤดูแล้งต่างพากันแข่งชูหน้าสลอน ออกดอกออกผลกันยกใหญ่ บรรดาคอว่านที่อดทนรออย่างใจจดใจจ่อก็จะได้ชื่นชมกับลูกๆต้นว่านที่แข่งกันแทงยอดอ่อนและพากันออกดอกรับวัสสานฤดู(ฤดูฝน) เพราะต้นว่านต้นใดที่หัวแก่ดี และได้รับการดูแลอย่างดีในปีที่ผ่านมาก็มักจะพากันออกดอกกันในช่วงนี้ โดยเฉพาะว่านที่นักเลงว่านยอมรับกันจริงๆ ซึ่งมักจะเป็นพืชป่าเมืองร้อน โดยตามธรรมชาติเขาจะออกดอกในช่วงนี้ หรือออกดอกอีกทีก็ในช่วงต้นฤดูหนาวเมื่อเขาสะสมอาหารไว้เต็มที่นั่นแหละครับ

จุดประสงค์ของบรรดานักเลงว่าน ที่ชอบเข้าป่าตามช่วงฤดูกาลต่างๆนั้นก็มีหลากหลายประการ ได้แก่ เข้าไปสำรวจแหล่งว่าน, ค้นคว้าวิจัยว่านที่จัดเป็นว่านแท้ของไทย เนื่องจากพบได้ตามป่าไม้ธรรมชาติ ซึ่งมิใช่ไม้ต่างประเทศที่หาซื้อได้ตามตลาดเท่านั้น, ตลอดจนหาว่านหายากที่หาได้ตามแหล่งเฉพาะ ซึ่งตามตลาดว่านไม่ค่อยจะมีขายหรือมีก็ราคาแพง, และที่สำคัญคือ เพื่อค้นหาสายพันธ์ว่านที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างตามแต่ละท้องถิ่น

อย่างว่านเพชรกลับซึ่งเป็นว่านที่มีจุดเด่นคือมีรากย้อนกลับแทงขึ้นชี้ฟ้า ซึ่งจากการสำรวจตามป่าหลายๆที่ก็พบว่ามีหลากหลายสายพันธ์ย่อยด้วยกัน หรือว่านในตระกูลดอกเข้าพรรษาคือว่านตระกูลหงส์หรือกระจายทั้งหลาย แต่ละท้องที่ก็มีสายพันธ์แตกต่างกันออกไป ช่วงฤดูฝนนี้ผู้เขียนลองสำรวจป่าทางแถบภาคกลางและภาคเหนือ คือจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เห็นธรรมชาติของว่านท้องถิ่นแตกต่างออกไปจากที่มักสำรวจในเขตภาคอีสาน

ว่านหงส์ทองอีกสายพันธ์หนึ่ง ที่มีเอกลักษณะคือต้นเตี้ยและใต้ใบแดง พบที่ป่า จ.พิษณุโลก
ว่านหงส์ทองอีกสายพันธ์หนึ่ง ที่มีเอกลักษณะคือต้นเตี้ยและใต้ใบแดง พบที่ป่า จ.พิษณุโลก

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากบอกไว้เป็นข้อคิดคือ “ขอให้เข้าป่าหาว่าน เพื่อการอนุรักษ์ มิใช้เข้าป่าหาว่านเพื่อทำลาย” การกู้เก็บว่านในป่า ในปัจจุบันควรหลีกเลี่ยงเขตอุทยานแห่งชาติ(ผิดกฎหมายเด้อ) หรือควรกู้เก็บมาแต่น้อยเพื่อการอนุรักษ์เท่านั้น ขออย่าได้กู้เก็บมาเพื่อการซื้อขาย ให้เราตอบใจตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นการอนุรักษ์หรือการทำลาย โดยผู้เขียนมีความเชื่อว่า

การอนุรักษ์ไม่ใช่การไม่ใช้ประโยชน์เลย แต่การอนุรักษ์คือการรู้จักในคุณค่าและใช้อย่างรู้พอ ต้องรู้จักมองการณ์ระยะไกล และมองถึงผลกระทบรอบด้าน

เพราะคิดในอีกแง่มุมหนึ่งหากป่าไม้ยังถูกทำลายไปเรื่อยๆเช่นนี้ ว่านป่าเฉพาะถิ่นคงต้องหมดไปจากป่าแน่นอน การเก็บมาจากป่าแต่ส่วนน้อยที่ไม่กระทบต่อสมดุลธรรมชาติมากนัก อาจเป็นเส้นทางหนึ่งในการอนุรักษ์สายพันธ์ว่านก็เป็นได้

ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจะหลีกเลี่ยงการระบุสถานที่พบว่านต่างๆอย่างชัดเจน เพียงแต่บอกเขตค้นพบกว้างๆเท่านั้น เพื่อปกป้องว่านหายากตามธรรมชาติให้คงอยู่คู่ผืนป่าไทยตราบชั่วลูกชั่วหลานครับ

เบื้องต้นเมื่อจะเข้าป่า

สิ่งที่ควรเตรียมตัวในการเข้าป่าหน้าฝนคือ ชุดต้องมิดชิด เพราะช่วงนี้ยุงมักเยอะมาก อาจต้องพกยาทากันยุงด้วย น้ำเปล่าสำหรับดื่มสักขวด เสบียงพอประมาณ รองเท้าควรเป็นรองเท้าหุ้มยิ่งสูงแบบคอมแบทได้ยิ่งดี เพื่อกันงู ตะขาบ หรือสัตว์มีพิษอื่นๆ มีดพกหรือเสียมขนาดเล็กสักด้าม ถุงพลายติกสำหรับใส่ตัวอย่างว่านหลายๆใบ เป้หรือย่ามสะพาย พร้อมกล้องถ่ายรูปตัวเก่งที่พกพาสะดวก

ว่านพรายแก้ว(มีจุดเด่นคือมีเส้นกลางใบขาวสวยดังแก้ว) Zingiber bradleyanum
ว่านพรายแก้ว(มีจุดเด่นคือมีเส้นกลางใบขาวสวยดังแก้ว) Zingiber bradleyanum

ก่อนเข้าเขตป่าควรจุดธูปบอกเจ้าที่เจ้าทางเสียก่อนโดยเฉพาะเมื่อเข้าเขตป่าที่ลึก ให้ครูว่าน เจ้าป่าเจ้าเขาช่วยอำนวยชัย ให้ได้ค้นพบว่านหลากหลายสายพันธ์ ตลอดจนได้พบว่านหายากตามต้องการต่างๆ

การเข้าป่าสำรวจว่านในป่าไม่ควรเข้าไปคนเดียว อย่างน้อยให้เข้าไปกัน สองถึงสามคน โดยเฉพาะเขตป่าที่อาถรรพ์รุนแรง หากไม่แน่จริงอย่าเข้าไปดีกว่าอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย ปัจจุบันป่าที่แรงๆยังมีอยู่มาก การเข้าป่าอย่าได้ทักอะไรมั่วๆเห็นอะไรผิดปกติให้เงียบไว้หรือเพียงสะกิดให้เพื่อนดูหรือระวังตัว เพราะอาจจะได้รับคุณไสย ลมเพลมพัด หรืออาถรรพ์ป่าติดมาโดยไม่รู้ตัวได้

ก่อนเข้าเขตป่าเมื่ออยู่ตะเข็บชายป่าให้ทำการเบิกไพรด้วยคาถาเบิกไพรเสียก่อน โดยมีพิธีการคือ ให้ว่าคาถาเบิกไพรเก้าคาบ แล้วเพ่งกระแสจิต ด้วยความตั้งใจที่มุ่งมั่น สูดลมหายใจเข้าหนัก ๆ แล้วเป่าออกไปตามทางที่เราจะไปแรง ๆ สามครั้ง แล้วก็เดินไปภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง จะช่วยป้องกันอันตรายทั้งหลายทั้งปวงและคาถานี้ยังช่วยแก้อาถรรพ์ของว่านเถาวัลย์หลงที่ทำให้หลงป่าหาทางออกไม่ได้อีกด้วย คาถามีแค่สี่ตัวจำง่ายๆคือ “ พะ นา มะ เหฯ ”

ว่านสรรพกรหรือกระชายดอกขาว
ว่านสรรพกรหรือกระชายดอกขาว

หรืออาจจะใช้คาถานกแซวหรือคาถาป้องกันภัย ซึ่งมีประวัติอันยาวนานตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล โดยมีกล่าวอยู่ในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่สอง(๑) ซึ่งเป็นนิทานอดีตชาติของ พระจูฬปันถก พระมหาสาวกผู้เป็นเลิศทางฤทธิ์ทางใจ ตัวพระคาถามีว่า

 “ฆะเฏสิ ฆะเฏสิ กิงการะณา ฆะเฏสิ อะหังปิ ตัง ชานามิ ชานามิ”

การเข้าป่านั้นแนะนำให้เข้าเช้าเย็นกลับ ไม่ควรนอนค้างในป่าเว้นแต่มีพรานหรือผู้ชำนาญทางเป็นผู้นำทาง ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยนั่นเอง และเพราะในเวลาหนึ่งวันนั้นก็พอเพียงแล้วที่ท่านจะได้พบความอลังการของบรรดาว่านในป่าทั้งหลาย

เมื่อพบว่านน่าสนใจในป่าให้ทำการเทียบกับหนังสือคู่มือดูว่านเล่มเก่งของท่านที่ท่านชอบใช้ ว่าว่านที่พบคือว่านอะไร ว่านในป่านั้นดูยากกว่าว่านในเมืองเพราะมีจุดต่างในรายละเอียดปลีกย่อยทำให้เรางงได้ แต่ก็เป็นอะไรที่น่าสนุกมากเหมือนกับเราได้เล่นเกมส์เป็นนักสืบอะไรทำนองนั้นเลยทีเดียว ให้ทำการถ่ายรูปเก็บไว้ ถ้าเป็นว่านพื้นๆ ที่เรามีแล้ว หรือหาได้ง่ายก็ควรจะเก็บไปแต่เพียงภาพถ่าย ทิ้งไว้แต่เพียงรอยเท้าเท่านั้น เพราะเรามาเพื่อนุรักษ์มิใช่ทำลาย…

แต่หากพบว่านน่าสนใจเอามากๆ เมื่อชั่งใจแล้วว่าเราทำเพื่อการศึกษาและอนุรักษ์ ก็ให้สุ่มเก็บตัวอย่าง หัวแง่งเล็กๆ หรือเมล็ดมาเพาะ หากเข้าป่าในช่วงต้นฤดูฝน ว่านพึ่งแทงยอดอ่อน การเก็บตัวอย่างจะง่าย และเมื่อเราเอามาลงดินว่านก็จะติดต้นง่าย ในขณะที่ถ้าเข้าป่ากลางฤดูฝนต้นว่านจะสลายหัวเก่าเกือบหมดเพื่อเอาสารอาหารไปเลียงต้นและเตรียมก่อหัวใหม่ ช่วงนี้ไม่ควรกู้ว่านเพราะขืนเอาไปก็ยากที่จะปลูกติด ให้อดใจรอช่วงต้นฤดูหนาว ซึ่งตอนนั้นว่านจะสร้างหัวใหม่และสะสมอาหารเต็มที่พร้อมกับการกู้ว่านมากกว่า

ในขณะกู้ว่านก็ให้ใช้มือตบดินใกล้ๆ กอว่านแล้วว่าคาถาเรียกไปตบดินไปจนกว่าจะภาวนาคาถาเรียกอิทธิฤทธิ์ว่านจบลง จึงขุดเอาหัวว่านนั้นขึ้นมา โดยคาถาเรียกว่านมีดังนี้ “อมขุด ๆ กูจะปลุกพญาว่านให้ลุกก็ลุก กูจะปลุกพญาว่านให้ตื่นก็ตื่น พญาว่านหนีไปที่อื่นให้แล่นมาหากูนี่เน้อ มาฮอดแล้วพันเฝ้าตื่น อม มะสะ หะหับคงทน”

ดงว่านสาวหลงในป่าเขต จ.พิษณุโลก
ดงว่านสาวหลงในป่าเขต จ.พิษณุโลก

โบราณว่าหากไม่เรียกหรือปลุกว่านก่อนทำการกู้ว่าน ว่านที่ได้ไปจะไม่มีอิทธิฤทธิ์ ซึ่งไหนๆก็เข้าป่ามาทั้งทีแล้วก็ให้ทำเต็มสูตรตามอย่างโบราณท่านว่าจะดีที่สุดครับ

และยังมีเคล็ดอีกอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการเพิ่มความขลังศักดิ์สิทธิ์ของว่าน ในขณะที่ยกต้นว่านขึ้นจากดินที่ปลูกอยู่เดิม เมื่อขุดออกมาได้แล้ว ให้ร้องว่า ขโมย…ขโมย…ขโมย 3 ครั้ง จึงนำว่านนั้นไปปลูกตามพิธีการปลูกว่านแต่ละชนิดให้ถูกต้องต่อไป โบราณท่านว่าต้นว่านนั้นจะคงความขลังความศักดิ์สิทธิ์ตามอิทธิฤทธิ์ที่มีโดยมิเสื่อมคลาย

ในการหาว่านในป่าครั้งนี้ไฮไลท์อยู่ที่การเข้าป่าเขตเชียงใหม่ เนื่องจากได้เซียนว่านพรรคพวกของผู้เขียนลงทุนพาเข้าป่าเอง ทำให้ได้พบกับแหล่งว่านไก่แดง ที่มีหลายตำรามั่วว่าต้องเข้าไปเอาในเขตพม่าโน่น เป็นการปลุกกระแสราคาและความต้องการของตลาดว่านเข้าไปใหญ่ ขอบอกว่าไก่แดง ชนิดหลังใบแด๊งแดง หรือชนิดธรรมดาก็หาได้ตามป่าในประเทศไทยนี้แหละครับท่าน

ว่านไก่แดง(หลังใบไม่แดงมาก) ตามป่าธรรมชาติเขตภาคเหนือ กำลังออกดอกสวยทีเดียว
ว่านไก่แดง(หลังใบไม่แดงมาก) ตามป่าธรรมชาติเขตภาคเหนือ กำลังออกดอกสวยทีเดียว

ในทริปนี้เนื่องจากว่าเวลามีจำกัดจึงไม่สามารถเข้าป่าไปลึกและนานพอที่จะได้พบว่านไก่แดงชนิดหลังใบแดงจัดมากๆมาฝากแฟนๆได้ แต่ก็ได้ถ่ายภาพว่านไก่แดงหลังใบแดงจัดของพรรคพวกที่อยู่ในกระถางมาฝากครับ แหม่ ! อยากให้หน้านี้เป็นหน้าสีจัง จะได้อวดโฉมเจ้าไก่แดงให้เต็มที่เสียเลย

ว่านไก่แดงชนิดหลังใบแดงจัด กำลังแทงต้นสวยมากๆ
ว่านไก่แดงชนิดหลังใบแดงจัด กำลังแทงต้นสวยมากๆ

นอกจากนี้ยังได้พบแหล่งว่านเพชรหน้าทั่งกลางน้ำ ซึ่งตำราทางสายเขาอ้อท่านว่าหากจะได้เพชรหน้าทั่งมา ให้หากอที่ขึ้นอยู่กลางน้ำไหลผ่านขนาบทั้งสองข้างเรียกเพชรหน้าทั่งกลางน้ำ ซึ่งจะถูกต้องตามตำราจริงๆและถือว่ามีฤทธิ์แรงมาก ในพิธีกินเหนียวกินมัน และพิธีอาบน้ำว่านสายเขาอ้อถือว่าเป็นตัวยาที่สำคัญมากตัวหนึ่ง

ว่านเพชรหน้าทั่งกลางน้ำ
ว่านเพชรหน้าทั่งกลางน้ำ

และนอกจากนี้ยังพบแหล่งดงว่านพระฉิม(ต้น) หรือหัวข้าวค่าซึ่งเป็นสมุนไพรโบราณหายาก ซึ่งหาดูชมหรือหาซื้อได้ค่อนข้างยากมากทีเดียว

ว่านพระฉิม(ต้น) หรือหัวข้าวค่า
ว่านพระฉิม(ต้น) หรือหัวข้าวค่า

พบว่านหาดูยากอีกหลายต้นได้แก่ ว่านพรายแก้วซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีพรายคาดกลางใบขาวเรืองสวยดังแก้ว  ว่านสรรพกรหรือกระชายดอกขาว และอีกหลายชนิดละลานตาไปหมด แต่จากการสังเกตแถบภาคเหนือนี้ไม่ค่อยพบว่านกลุ่มตระกูลเพชรน้อย หรือตระกูลว่านดักแด้ทั้งหลาย ซึ่งพบค่อนข้างมากทางแถบอีสาน ก็เรียกได้ว่าถิ่นใครถิ่นมันละครับ  การออกป่าหาว่านในทริปนี้ ผมได้อะไรกลับมามากมายนอกจากว่านเพื่อการอนุรักษ์จากป่าอีกหลายสายพันธ์ ได้แก่ประสบการณ์และเทคนิคการแยกว่านที่แตกฉานขึ้นซึ่งนักเลงว่านในอดีตอย่างป้าบุญช่วย อ.หล่อ ขันแก้ว และกลุ่มของอาจารย์ ส.เปลี่ยนสี ท่านก็แสวงหาว่านมาจากป่านี่แหละ พบว่าท่านเหล่านี้ยังเคยเจอกันเองในป่าบางที่ด้วยซ้ำไป เพราะการจะมัวงมเก็บว่านอยู่แต่ในตลาดว่านต่างๆ อาจทำให้ขาดโลกทัศน์ในการมองว่าน ถึงความหลากหลายทางชีวภาพ

เพราะเซียนว่านที่แท้จริงต้องแยกว่านออกจากจุดเด่นของว่านแต่ละตัว และรู้ขอบเขตของว่านชนิดนั้นๆตามสภาพภูมิอากาศต่างๆว่าอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดต่างๆได้บ้าง

เหมือนอย่างกุหลาบที่มีดอกหลายสี ต้นหลายขนาดแต่ก็ยังมีจุดเด่นให้เรียกว่ากุหลาบครับ พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ฉบับต่อไปเราจะคุยกันถึงเคล็ดลับการปลูกว่าน ตลอดจนคำแนะนำต่างๆในเชิงประสบการณ์ที่ไม่ค่อยมีตำราเล่มไหนบอกกัน อย่าพลาดเชียวนะครับ

 เรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน

ผู้เผยแพร่ หมอก็อต คลินิกแพทย์แผนไทย ลำพูน (โฮงยาพรมธวิหารฐ์)

พ.ค. ๒๕๕๔ – ๒ ก.ค. ๒๕๕๔
——————————————————-