ว่านก็คล้ายวัตถุมงคลอื่นๆเช่นกัน คนเล่นว่านเชิงลึกจะคัดสรรว่านที่ดีทั้งนอกและดีทั้งในมาทำการปลูกเลี้ยงดูและต่อยอดด่อเชื้อว่านเพื่อใช้งาน
สารบัญ: คลิ๊กเลือกอ่าน
ว่านดีนอก/ดีในหมายถึงอะไร
หมายถึงว่านที่ผ่านกระบวนการหลัก ๒ กระบวนการได้แก่
๑. การคัดสรรสายพันธ์ว่านที่ตรงตามตำรา
๒. ผ่านการเลี้ยงดูปลุกเสกจนกระทั้งว่านใช้งานได้
๑. การคัดสรรสายพันธ์ว่านที่ตรงตามตำรา
อย่างนี้คือ ดีนอก คือ “ตรงตามตำรา” ที่ระบุไว้ โดยเป็นตำราโบราณจริงที่ไม่ได้ใส่สีตีไข่ขายของอย่างเช่นข้อมูลที่พบเห็นได้ใน Internet ยุคปัจจุบัน การแยกคัดตามตำราโบราณนั้นมีแยบคายมาก ซึ่งหลายอย่างไม่ได้ระบุไว้ในตำราเสียอีก แต่กลับถ่ายทอดแบบปากต่อปาก “มุขปาฐะ” ในสำนักไสยศาสตร์ หมอพื้นบ้าน หรือสำนักว่าน เป็นต้น
แต่สิ่งที่พึงระวังอย่างมากคือ “ตำราโบราณไม่ได้ระบุข้อมูลไว้ทั้งหมด” สังเกตุไหมครับว่าตำราว่านเก่าโบราณจะกล่าวเรื่องของว่านอย่างกว้างๆระบุเอาไว้ไม่ชัดเจน เนื่องเพราะ
- การจดจารตำราแต่ก่อนนั้นค่อนข้างยากลำบาก และใช้ความเพียรสูง ดังนั้นการจดจึงเป็นการจดหัวใจหลักๆ สั้นๆและกระชับที่สุด
- จดเพื่อกันลืมเท่านั้น ไม่ได้จดเพื่อถ่ายทอด (ตนที่เคยยกเรียนอย่างโบราณจะเข้าใจดี) หลายครั้งจะจดแบบข้ามๆ และบังๆเอาไว้เพราะในสำนัก เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ด้วยเคยเห็นและใช้ว่านเป็นประจำ การจดจึงเพียงจดกันลืมเท่านั้น
- จดแยกเล่ม ตัวว่านอยู่เล่มหนึ่ง ตัวคาถาพิธีกรรมอยู่เล่มหนึ่ง บังเอาไว้ให้คนนอกสายที่ไม่ได้ยกเรียน บังเอิญได้ไปจะได้ “ได้วิชาไม่ครบ”
- จดแบบบังวิชา โดยเฉพาะตัวคาถา จะใช้ทั้งสลับคาถา ตัดทอนคาถา และอื่นๆ อันนี้เป็นเรื่องปกติครับ คนวงในรู้ดีครับ
- ไม่ได้ระบุเคล็ดเอาไว้ เช่น เคล็ดคัดเลือกต้นที่ดีที่สุด เคล็ดพิธีกรรม
ดังนั้นวิชาว่านและวิชาโบราณทั้งหลายหากต้องการได้ของสมบูรณ์ที่ใช้งานได้จริงๆ ก็ต้องขอบอกอย่างชัดเจน และจะบอกซ้ำในหลายๆที่ว่า “ต้องยกเรียนในสำนักที่มีตัวตนชัดเจน” ครับ
การคัดต้นว่านจึงเป็นเหมือนการเลือกที่จะสร้างนักรบดีๆสักคน หรือแฟ้นหาม้าแข่งดีๆสักตัว ก็ต้องดูลักษณะ โครงสร้าง สายพันธ์ที่แข็งแรง เช่นไรก็เช่นนั้นว่านก็เช่นเดียวกัน อย่างว่านสาวหลง ก็ต้องเลือกสายพันธ์ที่หอมเป็นพิเศษ ต้นที่ไม่หอมก็คัดออก ว่านเสน่ห์จันทน์ที่ต้องหอมมีเอกลักษณะ หอมหวานใช้เป็นว่าน หอมฉุนก็เอาไปใช้เป็นเครื่องยาไป เป็นต้น
๒. ผ่านการเลี้ยงดูปลุกเสกจนกระทั่งว่านใช้งานได้
“อย่างนี้คือดีใน” คือ เกิดอิทธิฤทธิ์ดังประสงค์หรือดังตำราว่าไว้ ตามธรรมดาฤทธิ์ว่านในป่าจะเสื่่อมลงทุกครั้งเมื่อถึงฤดูกาเหว่าร้อง เมื่อว่านลงหัวปรอทในว่านจะลืมต้น พอฤดูกาลใหม่บางทีปรอทก็กลับเข้าต้น บางทีก็ไม่เข้าต้น ว่านป่าจึงมีทั้งมีฤทธิ์มากบางทีใช้ไม่ได้แรงไป-ดื้อไป บางตัวก็ฤทธิ์กลางๆ บางตัวก็ไม่มีฤทธิ์ทางว่านเลย ใช้ได้แต่เป็นสมุนไพร
ดังนั้นครูว่านที่รู้สรรพคุณ รู้ลักษณะจึงคัดว่านเอาลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณะ สี กลิ่น รส กำเนิด ตลอดจนนิมิตรบางประการขณะกู้ว่าน.. หรือแม้กระทั้งต้องใช้ “ตาใน” ส่องตรวจสอบดู เมื่อได้ว่านลักษณะดีมาแล้วก็เอามาเพาะบ่มเลี้ยง เรียกว่า “กล่อมว่าน” ให้ว่านใช้งานได้ตามตำรา หรือตามที่เราประสงค์ อีกเป็นเวลา ๒ ปีบ้าง ๓ ปีบ้าง เรียกว่าเกิด “ญาณว่าน” หรือ “ปรอทว่านอยู่ตัว”
ดังนี้แล้วจึงได้ว่านที่ใช้ได้จริงๆ ซึ่งหลายๆคนที่เล่นว่านแบบผิวเผินไม่ได้เล่นแบบเชิงลึก ก็ค้นพบว่าเลี้ยงว่านไปก็งั้นๆ ว่านทางโชคลาภก็ไม่เห็นจะมีโชคอะไรเลย ว่านทางเมตตาก็งั้นๆไม่เห็นรู้สึกว่าตนมีเสน่ห์อันใด พลอยกล่าวหาคนโบราณ กล่าวหาว่าน กล่าวหาคนเล่นว่านว่าเป็นพวกงมงายหาสาระ…
น่าเสียดายเพราะคนเหล่านั้นเล่นว่านแบบขาดองค์ประกอบครบถ้วน เหมือนทำแกงแต่ไม่ใส่เครื่องแกงใส่แต่หมูกับผักก็ย่อมเป็นแกงไปไม่ได้ … ว่านก็เหมือนยาบางอย่างที่กินทันทีไม่ได้ผล ต้องเอาไปต้ม ต้องเอาไปกระสายยาต่างๆถึงจะเกิดฤทธิ์อย่างนี้เป็นต้นครับ…
อรรถ
๒๓ ม.ค.๖๓