ว่านแตกต่างจากต้นไม้ ตลอดจนสมุนไพรทั่วไป ที่มีมิติแห่งความเชื่อ พิธีกรรม หรือกรรมวิธีทางจิตศาสตร์มาร่วมด้วย การกู้เก็บว่านก็ค่อนข้างมีแบบแผนพิธีกรรมที่เฉพาะออกไป ในแต่ละกลุ่มว่านหรือแม้แต่ในว่านแต่ละตัว
สารบัญ: คลิ๊กเลือกอ่าน
หากไม่ได้กู้เก็บว่าน อิทธิฤทธิ์ของว่านจะค่อยๆเสื่อมลง
อ้างอิงข้อมูลของ ตำราคุณลักษณะว่าน และวิธีปลูกว่าน โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ กล่าวว่า
อิทธิฤทธิ์ของว่านนั้นจะมีคงที่ตลอดไปได้มักเป็นว่านที่ได้ปลูกติดต่อเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนมาแล้วโดยมาก เพราะผู้ปลูกเหล่านั้นทราบเคล็ดลับของการทำให้ว่านคงทรงอิทธิฤทธิ์อยู่โดยมิเสื่อมคลาย ส่วนว่านที่ขึ้นเองตามป่าเขาโดยธรรมชาตินั้นมักไม่ใคร่มีอิทธิฤทธิ์ ทั้ง ๆ เป็นว่านชนิดเดียวกันอย่างเดียวกัน
ในการนี้ถึงแม้จะได้นำเอาว่านมาปลูก ถ้ามิได้ระมัดระวัง โดยปล่อยให้ว่านขึ้นและโรยราไปเองตามธรรมชาติหรือปล่อยให้ว่านคงอยู่ในดินตลอดระยะเวลาจนกว่าจะถึงฤดูฝนมาใหม่ ว่านก็จะผลิแตกต้นอีก แต่อิทธิฤทธิ์ของว่านนั้นจะจืดจางเสื่อมลงไปทุกที นาน ๆ หลายฝนเข้าก็หมดฤทธิ์ไปเอง ทั้งนี้เป็นเพราะธาตุสาร(ปรอท) ในตัวว่านลืมต้น คือหนีออกไปจากต้นในขณะเมื่อว่านโทรมในฤดูแล้ง ถ้าหากได้กู้ว่านขึ้นจากดินภายในเดือน ๑๒ วันอังคารหรือภายในเดือนอ้ายไม่เกินข้างขึ้นอ่อน ๆ วันพุธเสียก่อนแล้ว คืออย่าให้ว่านคงอยู่ในดินเลยพ้นถึงฤดูนกกาเหว่าหรือนกยูงร้องหาคู่จึงจะไม่เสีย ถ้าปล่อยให้หัวว่านคงอยู่เลยฤดูนี้ไป ว่านนั้น ๆ ก็จะเสื่อมอานุภาพลงไปเรื่อย ๆ
จากข้างต้นจึงเป็นหลักฐานยืนยัน ๒ ประเด็นคือ
๑. ว่านบ้านย่อมดีกว่าว่านป่า เพราะว่านป่าเอาแน่เอานอนไม่ได้ ปรอทลืมต้นไปแล้ว แม้มีโอกาศกลับมาใหม่ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะกลับมาเท่าเดิม อาจไม่กลับมาเลยก็ได้ถ้าเหตุปัจจัยไม่ครบ (ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกลับมา)
๒. การกู้ว่านทุกปีย่อมดีกว่าการไม่กู้ว่านเลย อันนี้ในมุมคติทางว่าน หรือทางไสยศาสตร์ครับ ยังมีอีกประเด็นคือ การกู้ว่านเป็นการดูผลผลิตแต่ละปีว่าเหลือมากน้อยอย่างไรจะได้เตรียมการในฤดูต่อไปได้ และเป็นการเอาซากว่านเก่าที่ฝ่อและพร้อมจะเป็นแหล่งเชื้อโรคหากไม่ได้ทำการกู้เก็บ และเอาซากว่านเหล่านั้นออก
พิธี การกู้ หรือเก็บเอาว่านขึ้นเก็บไว้
1) ให้เลือกเอาวันอังคารวันใดวันหนึ่งในเดือน ๑๒ หรือไม่เกินวันพุธข้างขึ้นอ่อน ๆ ของเดือนอ้าย เป็นวันขุดเอาหัวว่านขึ้น
2) เวลาจะขุดว่าน ให้ใช้มือตบดินตรงใกล้กอว่านหรือต้นว่านนั้นแล้วว่าคาถาเรียกว่านไปตบดินไปสลับกัน จนกว่าคาถาใช้เรียกว่านจะจบลง จึงขุดเอาหัวว่านขึ้นมา
3) คาถาสำหรับเรียกว่านมีดังนี้ “อมขุก ๆ กูจะปลุกพญาว่านให้ลุกก็ลุก กูจะปลูกพญาว่านให้ตื่นก็ตื่น พญาว่านหนีไปอื่นให้แล่นมาหากูนี่เน้อ มาฮอดแล้วพันเฝ้าตื่น อม มะ สะ หะ หับคงทน”
4) ในการขุดเอาว่านขึ้นใช้หัวเพื่อนำไปทำอะไรหรือติดตัวไปไหนด้วย หรือจะขุดเพื่อเก็บว่านเอาไว้เพราะมีมากเกินไป ก็ต้องใช้คาถาเรียกว่านกำกับเวลาขุดขึ้นทุกคราวไป ว่านนั้น ๆ จึงจะทรงอิทธิฤทธิ์คงที่อยู่เสมอไม่เสื่อมคลายลงเลย
ฤกษ์ในการขุดหรือปลูกว่าน
การขุดหรือปลูกว่านให้คงมีอิทธิฤทธิ์โดยไม่เสื่อมคลายนั้น ท่านมีวันกำหนดให้ทำการใน
เดือนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
เดือนอ้ายหรือเดือน ๑ ใช้วันพุธ
เดือนยี่หรือเดือน ๒ กับเดือน ๗ ใช้วันพฤหัสบดี
เดือน ๓ กับเดือน ๘ ใช้วันศุกร์
เดือน ๔ เดือน ๙ กับเดือน ๑๑ ใช้วันเสาร์
เดือน ๕ กับเดือน ๑๐ ใช้วันอาทิตย์
เดือน ๖ กับเดือน ๑๒ ใช้วันอังคาร
ตามตำราโดยมากมักปลูกในเดือนวันอังคาร และขุดในเดือน ๑๒ วันอังคาร เหมือนกันอย่างนี้เกือบทุกเล่ม ทั้งนี้เพราะเดือน ๖ วันอังคาร เป็นฤดูฝนเหมาะแก่การปลูก และเดือน ๑๒ เหมาะแก่การขุดเอาขึ้น เพราะเป็นสมัยน้ำจะลงมาท่วมบรรดาพืชที่ปลูกกับพื้นดินนั่นเอง ส่วนวันอังคารทั้ง ๒ เดือนนั้น ก็เพราะเป็นเกณฑ์ฤกษ์ดีของเดือน ทั้งสองนั้นตกในวันอังคาร
เคล็ดลับของการขุดว่าน เพื่อให้ต้นว่านขลังเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์คือ ในขณะที่ยกต้นว่านขึ้นจากดินที่ปลูกอยู่เดิมเมื่อขุดออกได้แล้ว ให้ร้องว่า ขะโมย…ขะโมย…ขะโขย ๓ ครั้ง ดังนี้แล้ว จึงนำว่านนั้นไปปลูกตามพิธีการปลูกว่านแต่ละชนิดให้ถูกต้องต่อไป เมื่อทำได้ดังนี้ ต้นว่านนั้นจะคงความขลังความศักดิ์สิทธิ์ตามอิทธิฤทธิ์ที่มีโดยมิเสื่อมคลาย (เข้าใจว่านี้เป็นกลของคนโบราณที่ป้องกันไม่ให้ใครมาขโมยว่าน เลยแทรกบทคติลวงขึ้นมาเอาไว้จับขโมยครับ อีกประการอาจเป็นเรื่องของการขโมยฤทธิ์ว่านจากพิทยาธรที่บางคติเชื่อว่าฤทธิ์ว่านนั้นส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากพวกนักสิทธิ์พิทยาธร)
วิธีปลูกว่าน
เพราะว่านเป็นกายสิทธิ์มีคุณฤทธิ์โดยเฉพาะตัวของว่านเอง ฉะนั้นการปลูกจึงต้องมีพิธีรี-ตรองมากกว่าการปลูกพืชธรรมดาทั่วไป เช่นในการปลูกว่านจะต้องหาวันฤกษ์ดีของเดือนที่จะปลูก เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ผู้ปลูกเองกับเป็นการเพิ่มคุณฤทธิ์ให้แก่ว่านไปด้วยในตัว โดยมากมักปลูกกันในวันอังคาร เดือน ๖ เพราะเป็นหน้าฝนเหมาะแก่การปลูกพืชชนิดนี้มากกว่าเดือนอื่น
ดินที่ใช้ปลูกว่านต้องเป็นดินสะอาดปราศจากวัตถุพวกมูลสัตว์ต่าง ๆ เจือปน และเป็นดินบริเวณกลางแจ้งไม่มีอะไรบัง ควรร่อนเอาแต่ส่วนละเอียด ๆ ไปใช้ ดินมี ๒ สี คือดำกับแดง
- เป็นดินร่วน
- เป็นดินปนทราย
- เป็นดินเผาไฟแล้วทุบให้ละเอียด ทิ้งตากน้ำค้างไว้คืนหนึ่ง
- เป็นอิฐเผาไฟแล้วทุบให้ละเอียด
- หญ้าแห้งสับเป็นท่อน ๆ ขนาดครึ่งนิ้ว สำหรับผสมปนกับดินหรือดินปนทราย
เวลาเอาหัวว่านลงแล้ว เวลากลบดินอย่ากลบให้ดินแน่นเกินไปนัก เพื่อน้ำที่รดจะได้ซึม
ได้ง่าย หากกดดินแน่นหัวว่านเกินไป น้ำซึมได้ช้า ทำให้หัวว่านชุ่มน้ำเกินไปอาจเน่าเสียโดยง่าย และส่วนมากควรเหลือหัวว่านให้โผล่พ้นดินสักนิดหน่อยเพื่อสะดวกในการแตกต้นขึ้นใหม่
คาถาในการรดน้ำว่านเมื่อปลูกแล้ว
ว่านสำคัญ ๆ ที่มีคุณฤทธิ์มาก จำเป็นต้องเศกคาถากำกับในเวลาก่อนรดน้ำ คาถามีต่าง ๆ กันดังนี้
๑. “อิติปิโสภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ วิชาจรณสัมปันโน สุขโต โลกวิทู อนุตตโร ปุริสสธัมมสารถิ สัตถา เทว มนุสสานัง พุทโธ ภควาติ” ว่าจบ ๑ บ้าง ๓ จบบ้าง ๗ จบบ้าง แล้วจึงรดน้ำ
๒. “สัพเพเตโรคา สัพเพเตภะยา สัพเพเตอันตรายา สัพเพเตอุปัททวา สัพเพเตนิมิตา อวมังคลาวินาสสันตุ” เสก ๙ จบ แล้วจึงรดน้ำ
๓. “มหาลาโภ โหตุ ภวันตุเม” ๓ จบจึงรดน้ำ
๔. “นโมพุทธายะ” จบหนึ่งบ้าง ๓ จบบ้าง ๗ จบบ้าง และตามกำลังวันคือวันอาทิตย์ ๑ จบ ถึง เสาร์ ๗ จบบ้าง จึงรดน้ำ
แสงแดดกับการปลูกว่าน
ในการปลูกว่านลงกระถาง ควรเอาออกตั้งไว้ในที่แจ้งเพื่อรับแสงแดดในตอนเช้าและตอนบ่าย ส่วนตอนกลางวันแดดจัดมาก ควรทำร่มบังแดดให้ เพราะการปลูกในกระถางนั้นดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้มากเหมือนอย่างพื้นดิน ซึ่งรากของว่านอาจสามารถซอกซอนดูดน้ำตามพื้นดินมาบำรุงลำต้นให้ชุ่มชื้นกันความร้อนของแดดได้
อนึ่ง ขณะที่เริ่มปลูกใหม่ ๆ ควรระมัดระวังในเรื่องแสงแดด อย่าให้ถูกจัดนัก และเรื่องดินอย่ากดให้แน่นเกินไป น้ำอย่ารดให้ชุ่มโชกโชน เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการเล่นว่านมากเหลือเกิน ถ้าผู้ปลูกไม่เอาใจใส่ทนุถนอมว่านมักเน่าจากรากและหัวหรือเกิดเหี่ยวแห้งเฉาตายเป็นส่วนมาก
เพื่อให้ว่านสำคัญ ๆ ที่ปลูก เกิดผลศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นในอิทธิฤทธิ์แน่นอนสมเจตจำนงหรือตำราที่กล่าวไว้ควรใช้แผ่นทองแดงลงยันต์ด้วยอิติปิโสแปดทิศ ซึ่งเข้าพิธีปลุกเศกอย่างดีแล้ว พร้อมด้วยสิ่งอาถรรภ์อันเป็นมงคลหรือผงศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ตามสมควรมาฝังไว้โคนต้นว่านที่ปลูกไว้นั้น (มีกล่าวถึงกรรมวิธีการทำให้เฉพาะผู้ที่ยกเรียนในสำนัก แม้ตำราไสยศาสตร์ที่มีขายทั่วไปก็มีการบังเคล็ดวิชาเอาไว้ เพราะวิชาเหล่านี้ไม่ใช่เพียงการอ่านท่องได้ แต่ต้องรู้เคล็ดการวางจิตหรือเดินจิตด้วย)
ในขณะจะทำการขุดว่าน ควรเอาน้ำมนต์ที่เสกด้วยสัพพาสีแปดจบ พรมให้ทั่วต้นว่าน และบริเวณโคนต้นโดยรอบเสียก่อนแล้วจึงขุด ก็จะเพิ่มอิทธิฤทธิ์แก่ว่านนั้น ๆ ยิ่งขึ้น
บทสัพพาสี (บทขัด ขันธะปะริตตะคาถา)
* มิติการบังวิชาอย่างหนึ่งของคนโบราณคือกล่าวอะไรที่เฉพาะคนเคยเรียน หรือคนในสำนักจะรู้กัน ไม่เว้นแม้แต่ตัวว่านและคาถา ดังนั้นการอ้างอิงตำราเก่ามากเกินไปโดยไม่เคยผ่านการเรียนในสำนักมาก่อนจะทำให้หลงทางได้…
สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ
ยันนาเสติ วิสัง โฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง
สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ (บางมติ บางจังหวะใช้ พณามะหาย)
คำแปล บทขัดขันธะปะริตตะคาถา
พระปริตรอันใด ย่อมยังพิษอันร้ายแห่งงูร้ายทั้งหลาย
ให้ฉิบหายไป ดุจยาวิเศษอันประกอบด้วยมนต์ทิพย์
อนึ่งพระปริตรอันใด ย่อมห้ามกันอันตรายอันเศษของสัตว์ทั้งสิ้น
โดยประการทั้งปวง ในอาณาเขต ในที่ทั้งหมด ในกาลทุกเมื่อ
เราทั้งหลาย จงสวดพระปริตรอันนั้นเทอญ.
สำหรับคนเรียนในสำนักจะมีเคล็ดการแก้การหลีกเลี่ยง
มิติทางว่านผูกกับมิติทางไสยศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และโหราศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสำหรับคนเรียนอย่างลึกซึ้งจริง แบบเรียนตามพ่อก่อตามครู ยกเรียนอย่างถูกต้องนั้น มติบางอย่างที่ห้าม หรือที่บังคับ จะมีการหลีกเลี่ยงหรือแก้ได้ อาทิ
- หากไม่สะดวกในการกู้ว่านทุกปี จะใช้วิธีการกู้ปีเว้นปีก็ได้ โดยประกอบพิธีผูกจุกว่าน เป็นการผูกปรอทไม่ให้ลืมต้น
- หากจำเป็นหรือไม่แน่ใจว่าปุ๋ยหรือดินที่เราปลูกนั้นมีมลทิน เช่น ขี้วัว(บางตำราห้าม) ขี้สัตว์หรือไม่ จะมีวิธีสะตุดิน หรือวิธีชำระดิน
- หากจำเป็นด้วยติดธุระจริงๆในการกู้ว่าน จึงไม่สามารถกู้ว่านตามฤกษ์ได้ จะมีวิธี มีคาถาในการแก้ฤกษ์ หรือถึงขนาดเชิญฤกษ์ได้ (แต่อย่างไรเสียใช้ฤกษ์จริงๆย่อมดีที่สุด มั่นใจที่สุด)
นั่นหมายความว่า การเล่นว่านให้ง่าย ให้ได้ผลดีไม่หลงทาง จำต้องมีพี่เลี้ยงที่รู้จริง(ครูพัก) มีตำราที่ถูกต้อง บังวิชาน้อยที่สุด(ครูอักษร) และจำต้องยกเรียนให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียม เพื่อรับทั้งวิชา รับทั้งนิสัย(มติของการอยู่ร่วมกันในสังคม สำนัก) จากครูใหญ่คือคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆจริงๆ ที่ผ่านการครอบมือให้สอนได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งเชื่อมต่อกระแสแรงครู เพื่อให้วิชา ตัวว่าน ตัวคาถาใช้ได้ผลเป็นอัศจรรย์
เอวังฯ…
อรรถวัติ กบิลว่าน
๑๑ ก.พ.๖๔ ณ รังว่านอรรถวัติ บ้านสวนสุขสบาย จ.กำแพงเพชร