กำเนิดว่าน
ว่านเป็นพืชที่เกิดขึ้นโดยการวิวัฒนาการตามธรรมชาติเช่นเดียวกับบรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ฉะนั้นจังไม่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ว่า ว่านชนิดใดเกิดตั้งแต่เมื่อใด เท่าที่ปรากฏในตำราสมุดข่อย ซึ่งได้เป็นมรดกตกทอดกันต่อๆมาตั้งหลายชั่วอายุคนแล้วนั้นปรากฏ ดังนี้
“พระตำหรับว่าน”
สิทธิการิยะ ยังมีพระฤาษี ๔ องค์ในแผ่นดินนี้ มีฤทธาอานุภาพยิ่งกว่าบรรดาโยคีและฤาษีทั้งปวง ทั้ง ๔ องค์นี้มีนามว่า กะวัตฤาษีองค์หนึ่ง กะวัตพันฤาษีองค์หนึ่ง สัพรัตถนาถฤาษีองค์หนึ่ง จังตังกะบีละฤาษีองค์หนึ่ง พระฤาษี ๒ องค์ใน ๔ องค์นี้ ได้ให้ธาตุทั้ง ๔ ตั้งอยู่เป็นอธิบดีแก่บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวง ส่วนท่านฤาษีองค์ที่ ๔ คือท่านจังจังกะปิละนั้นได้ตั้งบรรดากบิลว่านต่างๆขึ้นไว้ สำหรับท้าวพระยาทั้งปวงอันรู้จีกคุณพระรัตนตรัย คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ทั้งยังรู้จักอดกลั้นต่อบรรดากุศลกรรมทั้งหลายอีกด้วย เพื่อสำหรับท้าวพระยาและสมณชีพราหมณ์ทั้งปวง จะได้รู้จักสรรพคุณและสารประโยชน์จากว่านต่างๆเหล่านั้น ไปได้รู้จักสรรพคุณและสารประโยชน์จากว่านต่างๆเหล่านั้น ไปช่วยบำบัดรโรคภัยไข้เจ็บ และช่วยปกป้องผองภยันตรายทุกข์ภัยนานาประการแกผู้เฒ่าผู้แก่แลคนทั้งปวงทั่วกัน
ตามที่กล่าวนี้แสดงว่า ได้เคยมีการรวบรวมบรรดาว่านต่างๆเข้าเป็นหมวดหมู่ สำหรับสั่งสอนประชาชนต่อๆมาให้รู้จักชนิดว่าน ลักษณะและสรรพคุณ หรือประโยชน์ของว่านมาแล้วในอดีต ทั้งแสดงว่าการกระทำอย่างนี้ได้กระทำในสมัยเมื่อพระพุทธศาสนาได้เกิดมีแล้ว คือไม่นานเกินกว่า ๒๕๐๐ ปีมานี้เองอย่างแน่นอน
โดยปกติพระฤาษี หรือ ท่านผู้ทรงวิทยาคุณขลังต่างๆ ย่อมพำนักอาศัยอยู่ตามป่าสูงหรือในถ้ำตามภูเขา ฉะนั้นบรรดาชนชาวป่าชาวดอยที่มีถิ่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจึงพลอยได้รับความรู้ในเรื่องว่านยาจากท่านเหล่านั้นเอง และคงรักษาความรู้ไว้ด้วยการบอกเล่าสืบทอดต่อมา จนทุกวันนี้การนับถืออิทธิฤทธิ์ของว่านจึงยังคงมีแพร่หลายอยู่เฉพาะในหมู่ชนชาวป่าชาวดอยเหล่านั้นตลอดมาจนบัดนี้ ได้แก่พวกกะเหรี่ยง, ละว้า, ข่า, ยาง, แม้ว, เย้า, ชอง, ต้องสู้, เขมรและลาวที่อยู่นอกๆเขตชุมชนออกไป ถึงในเมืองไทยเราตามแถวชาวชนบทชั้นนอกๆ ก็ยังคงมีเลื่อมใสเชื่อถือในอภินิหารของว่านอยู่อีกไม่น้อยเหมือนกัน
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com