วิธีการปลูกว่าน ตามอย่างโบราณ ในมุมมิติทางจิตศาสตร์

ผมมีพรรคพวกท่านหนึ่ง ที่ลี้ยงว่านตามอย่างโบราณ ที่มิใช่เพียงการปลูกว่านอย่างต้นไม้ธรรมดาๆ “เราจะหวังผลพิเศษ จากวิธีการธรรมดาไม่ได้” การปลูกว่านให้เป็น “ว่าน” ที่เหนือกว่ามวลไม้ทั่วไป วิธีการปลูกก็ควรจะไม่ธรรมดาด้วย ผมเห็นบทความนี้ละเอียดซับซ้อนดี… แม้ผมจะมีทางครูแบบหนึ่งที่เหมาะกับวิถีชีวิตของตัวผมเอง แต่เห็นว่าบทความนี้ดีมากๆ เลยขออนุญาตเจ้าของบทความนำมาเสนอใน ณ ที่นี้ครับ เพราะเฟสบุคก็คือบ้านเช่าที่เจ้าของจะกีดกันการมองเห็นอย่างไรก็ได้ บทความดีๆที่เก่าแล้วก็ตกไปน่าเสียดาย ….. การเล่นว่านอีกมุมมิติจิตศาตร์หนึ่งจะประกอบด้วย…

อนึ่งในมิติบางส่วนที่คิดว่ามีประโยชน์ ผมก็ได้สอดแทรกไว้เพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นครับ แต่จำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องของคนเรียนวิชา อันบอกระบุเป็นสาธารณะไม่ได้ “สามสิ่งควรปกปิด ปิดแล้วจึงงาม คือ มนต์ของพราหมณ์ เป็นต้น” จึงเพียงชี้ให้เห็น ให้คนเรียนด้วยกัน ได้เข้าใจยิ่งขึ้นครับ

ส่วนประกอบที่ 1 ในการปลูกว่าน: ดิน

ดิน ดินที่ใช้จะมีด้วยกัน 2 ส่วน คือ

1.ดินส่วนใหญ่ที่เป็นวัสดุปลูก

พูดถึงดินวัสดุปลูกกันก่อน หากไปซื้อดินสำเร็จต้องดูเป็นสักหน่อย ดินบางที่ใช้เพาะเมล็ดได้ดีแต่ใช้ปลูกไม่ได้ คือปลูกแล้วงามแป็บเดียวแล้วก็จะดูแกรนๆไปเฉยเลย ดินปลูกว่านผมจะใช้ ดินขุยไผ่ ซึ่งเป็นดินล้วนๆ ผสมใบก้ามปู หรือดินหมักใบก้ามปู เวลาซื้อต้องถามอันที่เขาไม่ใส่ปุ๋ยคอกหรือขี้วัวมานะคับ เพราะปลูกว่านจะไม่ใส่ของเหล่านี้ และกาบมะพร้าวสับหยาบ อัตราส่วน 2/1/1 กาบมะพร้าวสับเวลาซื้อมาร้อยทั้งร้อยจะไม่แห้ง ต้องเอามาตากใหม่ให้แห้งสนิท ดินขุยไผ่กับใบก้ามปูก็เช่นกัน เอามาตากให้แห้งสนิท

บางตำราอาจใช้การคั่วเพื่อฆ่าเชื้อก็ได้ ถ้าสามารถทำได้ บางคณะก็ใช้การคั่ว ใครสะดวกก็ขอเชิญครับ การคั่ว จะใช้เวลาแค่เพียงดินสุก และระหว่างการคั่ว จะมีคาถากำกับดินซึ่งผมไม่ได้ใช้เพราะไม่รู้ 555 ที่ใช้คือ บทภาวนาสัมมาอรหังเพราะเป็นบทที่ใช้ประจำตัวของผมเอง แล้วส่งกำลังลงไปที่ดินตลอดการทำ

การตากดิน
การตากดินให้แห้ง เพื่อฆ่าเชื้อในดินส่วนหนึ่ง

2.ดินมงคล

ส่วนที่สองคือ “ดินมงคล” ได้จากดินที่เราไปพลีมาจากที่ต่างๆที่เป็นมงคลเช่น ดินเจ็ดนคร ดินเจ็ดสระ ดินเจ็ดจอม ดินเจ็ดท่า ดินนาอุดม ดินถนำถ้ำ ดินยอดเขา และอื่นๆซึ่งการจะได้มาเราต้องมีการพลีมาจากสถานที่ต่างๆ การพลีก็จะมีวิธีต่างๆกันไปโดยผมจะใช้แก่นไม้จันทน์เป็นเครื่องพลี นำดินมงคลใส่ลงไปในดินวัสดุปลูกนิดหน่อยตามความพอใจ ว่ามีมากหรือมีน้อย ใส่ได้ตั้งแต่ 1หยิบมือ เป็นต้นไปต่อ 1กระถาง ใส่ 1 กำมือ 1 กอบมือก็ได้ แล้วแต่เราส่วนใหญ่จะผสมตอนจะปลูก ดินมงคลใส่ลงไปเพื่อให้ว่านได้เสพ พลังงานจากดินมงคลนั้นๆเพื่อเสริมสร้างพลังของต้นว่านเอง

การคั่วดิน ไม่ได้คั่ววใส่ทุกกระถางนะครับแค่ลองทำดู
การคั่วดิน ไม่ได้คั่วใส่ทุกกระถางนะครับแค่ลองทำดู

ส่วนประกอบที่ 2 ในการปลูกว่าน: น้ำมนต์รดว่าน

ประกอบด้วย

1.วัตถุธาตุศักดิ์สิทธ์ต่างที่ใส่ลงไปในน้ำ เพื่อเพิ่มประจุพลังและแร่ธาตุให้แก่น้ำ ที่ผมใส่สงไปก็เช่น หินควอช หินสีต่างๆ แร่เหล็กน้ำพี้ แร่เกาะล้าน แร่บางไผ่ แร่เขาอึมครึม เมฆพัตร เมฆสิทธิ์ นวโลหะ แผ่นยันต์ออมน้ำ ปฐวีธาตุ หินใต้น้ำ และที่ควรใฝ่หามาใส่ไว้มี 2 อย่างคือ ข้าวตอกพระร่วง และแร่อกธรณี (สัจจะวาจาและพลังแห่งแม่นางธนณี: อรรถ) เพราะมีใช้ตรงกันอยู่ 2 สายที่เหลือแล้วแต่จะหากันได้

2.ภาชนะที่ใส่น้ำมนต์ ก็แล้วแต่เราว่าจะใช้ใหญ่โตสักแค่ใหน กะให้พอใช้รดต้นว่านที่มีอยู่ก็แล้วกัน แนะนำให้ใช้เป็นดินเผาจะช่วยปรับสมดุลค่า PH ของน้ำได้ส่วนนึง

3.น้ำ หมายถึงน้ำประจุพลัง หรือที่เราเรียกกันว่าน้ำมนต์นั่นหละ เริ่มตั้งแต่ น้ำที่จะนำมาใช้นิยมใช้ “น้ำตกดิน” หมายถึงน้ำที่ถูกรองรับแล้วโดยดิน น้ำฝนที่ตกจากหลังคาไม่นิยมใช้ นัยยะว่าไม่ได้แร่ธาตุ คือพลังจากดิน น้ำที่ถือว่าสุดยอดในการนำมาใช้คือ “น้ำโมกผา” คือน้ำที่ใหลรินอยู่ตามหลืบผา หรือที่ไหลมาจากนมผา แต่หายาก ข้ามไปก่อน เมื่อได้น้ำมาแล้วจะใช้น้ำมนต์จากแหล่งที่ศักดิ์สิทธ์ทั้งหลายมาผสม เช่น จากวัด จากพิธีต่างๆตามศรัทธาท่านไม่ได้ห้ามไว้

การผสมน้ำกับน้ำมนต์มีธรรมเนียมอยู่อย่างนึงคือ เราจะเทน้ำมนต์ใส่ในน้ำธรรมดา เทแล้วเราก็กวนให้เข้ากัน จริงๆมันก็เข้ากันอยู่แล้วหละ แต่เราต้องประกอบจิตคือ อธิษฐานให้น้ำทั้งหมดนั้นมีอานุภาพดั่งน้ำมนต์นี้ทุกประการ (มีบทภาวนาด้วย ซึ่งเป็นบทที่คนเรียนในสำนักต่างๆจะรู้กัน จึงขอชี้แต่บังคาถาไว้เพราะเป็นเรื่องของคนเรียนวิชาอย่างถูกต้องจริงๆ: อรรถ) ตามปกติเราจะตักน้ำมนต์เก็บไว้ส่วนหนึ่ง เผื่อในกรณีที่โอ่งน้ำมนต์แตก หรือมีเหตุอื่นๆทำใหนน้ำมนต์หกหายไป จะได้มีไว้ใช้ทำใหม่ เสร็จแล้วผมจะมีคาถากำกับน้ำ ดังนี้ ตั้งนะโม 3 จบก่อนแล้วสวดคาถาที่เราอยากใช้ในการทำน้ำมนต์ เช่น อิติปิโส หรืออื่นๆ หรือไม่ใช้ก็ได้ แล้วตามด้วยคาถากำกับน้ำดังนี้ 

นะ ยะตะสะตะปะตะ นะมะพะทะ อิทธิฤทธิ นะอุดทะกังกะโรมิ  9 จบ ใช้กระบวยตักน้ำคนน้ำไปภาวนาไปนิยมคนวนขวา ระหว่างทำก็ขับปราณลงไปในน้ำทำไม่เป็นก็ข้ามไป ภาวนาอย่างเดียว

(การขับปราณทำไม่ถึงขั้นจะเหนื่อยมาก ถ้าคนเรียนมา ทำเป็น จะชิวๆ: อรรถ)

หม้อน้ำมนต์ ใช้หม้อเขียวใบใหญ่เลยยกไปมาสะดวกดี
หม้อน้ำมนต์ ใช้หม้อเขียวใบใหญ่เลยยกไปมาสะดวกดี

น้ำมนตืนี้นอกจากใช้รดว่านแล้ว ยังใช้ประพรมดินปลูกว่านก่อนที่จะตากหรือคั่วเพื่อไล่อวมงคลต่างๆได้ด้วย ใช้พรมสถานที่ บุคคลเพื่อความเป็นมงคลก็ได้

ส่วนประกอบที่ 3 ในการปลูกว่าน: บรรยากาศ

ไม่รู้จะเรียกอะไรเรียกบรรยากาศแล้วกัน คือสถานที่นั่นเอง การเตรียมสถานที่ต้องเป็นสถานที่ ที่ไม่พลุกพล่าน เพราะสถานที่ที่มีคนเดินขวักไขว่ หรือมีสัตว์เลี้ยงเดินไปมาเข้าออก จะมีความไม่เสถียรของพลังงานในสถานที่สูงซึ่งจะกระทบกับการสั่งสมกระแสพลังงานของว่านได้ การรดน้ำว่านจึงควรเป็นคนคนเดียวกันรด ก่อนเข้าใกล้ต้นว่านเราต้องปรับพลังงานของเราคือปรับอารมณของเราให้ปกติที่สุด หากเรามีพลังงานที่แตกต่าง ต้นว่านที่มีพลังงานสูงจะป้องกันตัวเองจากพลังงานที่แปลกปลอมนั่นอาจทำให้เรามีอาการอ่อนแรงลงได้

(ในบางสายวิชา มีการลงยันต์ในแผ่นโลหะเพื่อปรับสภาพบรรยากาศในการปลูกว่าน ซึ่งผมได้เขียนสอดแทรกเป็นายาดำในบทความที่ลงไว้ที่นี้แล้ว: อรรถ)

หลังจากเข้าไปในมณฑลว่าน การเข้ามณฑลว่านที่มีว่านจำนวนมากๆว่านแก่ๆจึงมีธรรมเนียมว่าให้ถอดรองเท้าเพื่อเชื่อมพลังงานของเรากับพื้นดินเพราะเราอาจไม่ทราบว่าวันนี้พลังงานเรามีความผิดแผกแตกต่างไปมากน้อยแค่ใหน อันนี้หมายถึงคนที่ปลูกว่านมากๆปลูกตามกรรมวิธีให้เป็นว่านแล้วว่านมีอายุมีพลังงานระดับสูงแล้ว ถ้าปลูก 10-20 กระถางอายุ 2-3 ปี คงไม่ต้อง แต่ก็ลองสังเกตุตัวเองดูนะครับ

ว่านในความหมายของผมคือ พืชที่มีความสามารถในการรับรู้และซึมซับและตอบสนองพลังงานรอบตัวได้ พืชชนิดใดทำได้เราเรียกว่านได้หมด ดังนั้นว่านจึงไม่ได้หมายถึงพืชที่มีหัวเพียงอย่างเดียว กลับมาต่อ หากใครพอจะมีความเข้าใจในเรื่องของหินบำบัดจะทราบว่า หินแต่ละชนิดจะมีความสามารถที่จะซึมซับพลังงานได้ต่างๆกันไป ถ้าเราเอา ควอชใส โรสควอช สะเก็ดดาวมาวางไว้ตรงหน้า แล้วเราส่งกระแสความเมตตาออกไป หินที่จะซึมซับกระแสเมตตาไว้ได้มากที่สุดคือ โรสควอช รองลงมาคือควอชใส และนิดหน่อยที่สะเก็ดดาว

ต้นว่านก็เช่นกัน ว่านแต่ละต้นจะซึมซับและตอบสนองกระแสพลังงานได้ไม่เหมือนกัน ว่านจึงมีอิทธิคุณไม่เหมือนกัน แต่ก็มีว่านบางต้นที่เปรียบได้กับหินควอชใส คือสามารถรับและตอบสนองพลังงานต่างๆไว้ได้หลากหลาย ว่านที่มีคุณลักษณะแบบนี้เท่าที่เคยเห็นมาก็เช่น นางคุ้ม มเหศวร ต้นเดิม

เราจึงมีการสร้างพลังงานที่เราต้องการให้แก่ต้นว่าน ที่เราเรียกว่าการเสกต้นว่าน เสกต้นว่านนะครับ ไม่ใช่เสกน้ำรดต้นว่าน ตามคติของผม แยกกันทำ การเสกต้นว่านอันนี้จะเข้าข่ายปฏิบัติการทางจิตอย่างหนึ่ง คือเราต้องปรุงจิตให้ได้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ เช่น เสกว่านเมตตา ก็ต้องปรุงจิตให้เป็นเมตตา เสกว่านคุ้มครองก็ต้องปรุงจิตให้เป็นคุ้มครอง เสกว่านคงกระพันก็ต้องปรุงจิตให้เป็นคงกระพัน ส่วนจะมีวิธีปรุงอย่างไรก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน ให้แนวทางไว้ว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนึกภาพให้ชัดเจนนึกถึงทุเรียนก็ต้องได้กลิ่นทุเรียน นึกให้สำเร็จก็สำเร็จ ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน

หัดใหม่หนีไม่พ้นคาถา ก็เลือกคาถาที่เรามั่นใจไว้ แบบละ 1 คาถาพอ ไม่ต้องเยอะ คือคาถาเมตตาฉันจะใช้บทนี้ ก็ต้องใช้บทนี้ให้ปักใจมั่นลงไป คุ้มครองบทนี้ โชคลาภบทนี้ ได้แล้วท่องให้ขึ้นใจพร้อมปรุงจิตไปพร้อมด้วย ทำบ่อยๆจิตจะจำได้ พอท่องคาถานี้จิตจะกลับเข้าสู่สภาวะเมตตาหรือคุ้มครองได้ทันที สำหรับท่านที่ฝึกจิตมาดีแล้ว ทุกอย่าง ใช้คาถาตัวเดียว เรียกว่าคาถาประจำตัว คือจะเสกให้เป็นอะไรก็คาถาตัวนี้ตัวเดียว เช่น พุทโธ เมตตาก็พุทโธ แคล้วคลาดก็พุทโธ คงกระพันก็พุทโธ ใช้พุทโธเป็นกุญแจเปิดเข้าไปสู่พลังงานของจิตได้ ก็แล้วแต่ตั้งใจจะให้เป็นอะไร ดังเราเคยอ่านในหนังสือว่า คาถานี้เป็นคาถาประจำตัวของหลวงพ่อองค์นั้นๆ มันก็เป็นของท่านนะ ไม่ใช่ของเรา จะเป็นของเราได้เราต้องนำมาท่องบ่นตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน จนแม้กระทั้งในฝัน ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วหละก็ใช้ได้

แต่การเสกว่านที่ผมใช้จะมีชุดคาถาปิดหัวปิดท้ายด้วย ดังนี้ 

นะมะพะทะ มะพะทะนะ พะทะนะมะ ทะนะมะพะ นะโมพุทธายะ  (ตามด้วนคาถาแยกหรือคาถาประจำตัวปรุงจิตให้ได้จะกี่จบก็ได้จนพอใจ) นะโมพุทธายะ  นะมะพะทะ มะพะทะนะ พะทะนะมะ ทะนะมะพะ ปรุงจิตให้ได้แล้วเป่าที่ต้นว่าน เสร็จ 1 ต้น

ก็จะมีคำถามอีกว่า จะเสกทีละต้นมันเสียเวลา ยืนเสกที่หัวแปลงเสกทีเดียวทั้งแปลงได้มั๊ย ก็ลองนึกดูว่า เวลาประชุมคนเป็นร้อย ไอ้คนที่ยืนข้างหน้าออกมาพูดอะไรบางทีเราก็ไม่ได้ฟังหรอก แต่ถ้าเขาเข้ามาคุยกะเราโดยตรง ตัวต่อตัว เราจะไม่ฟังก็ไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้นครับ

ลำดับขั้นตอนการปลูกว่าน  

เมื่อเราเตรียมดิน เตรียมน้ำ เตรียมสถานที่เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงการเอาว่านลงกระถาง บางท่านก็จะดูฤกษ์ปลูกว่าน ซึ่งหาอ่านได้ตามตำราทั่วไป เมื่อได้วันแล้ว สิ่งที่เราต้องเตรียมคือ 

1.กระถางปลูกว่าน (เสกด้วยมนต์ป้องกันวิทยาธร หรือผมใช้บทนารายณ์คุมพล (อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธนาเมอิ อิเมนาพุทธตังโสอิ อิโสตังพุทธปิติอิ) กำหนดป้องกันลงไปที่กระถาง จนพอใจ

2.ธูปและกำยาน ใช้จุดเพื่อใหว้ครูว่านบอกกล่าวและจุดกำยานชำระสถานที่ปลูกว่าน ผมจะทำกำยานใช้เองเพราะได้คุณสมบัติที่ต้องการ มีส่วนผสมของกฤษณา ไม้จันทน์ ผงอัญมณีและยางไม้กำยาน ผสมจันทน์เหนียวปั้นเป็นแท่ง

3.แผ่นทองเปลวแท้ ใช้ปิดหัวว่าน บางคณะอาจมีลงคาถาด้วย

4.ยันต์จตุโร จะสร้างจากดิน หรือลงบนแผ่นทองแดงก็ได้ (ไม่มีก็ข้ามไป)

5.แป้งเจิม

6.ผงมงคล ประกอบด้วยผงว่าน 108 และผงต่างๆเหมือนที่ใช้ทำพระ เช่นอิทธเจ ปฐมัง มหาราช หรือเท่าที่หาได้ ผงจันทน์เทศ ผสมรวมกันไว้

7.เกล็ดอัญมณีสีต่างๆ

8.น้ำมนต์ ผมใส่ขวดเสปรย์ฟรอกซี่ไว้ ผมว่ามันสะดวกดี ถ้าสมัยก่อนมีฟรอกซี่ผมก็ว่าท่านคงใช้เหมือนกัน หรือจะใส่ขันแล้วมีหญ้าคาใบมะยมไว้ซัดก็แล้วแต่ชอบ (ถ้ามีกิ่งว่านธรณีสารให้ใช้ตัวนี้: อรรถ)

อุปกรณ์เตรียมปลูก
อุปกรณ์เตรียมปลูก

ขั้นตอนการปลูก

จุดธูป 3 ดอกบอกกล่าวการปลูกว่านครั้งนี้แก่บรรดาครูว่านทั้งหลายก่อน จุดกำยาน กำหนดใช้ควันกำยานชะล้าง คุมครองป้องกัน ในบริเวณที่เราจะปลูกว่าน

1.เอาถ่านใส่รองก้นกระถาง ถ่านหุงข้าวนี่แหละ ทุบพอเป็นก้อนเล็กๆ ผมว่ามันดีกว่าอย่างอื่นตรงที่ผมจะไม่เจอเชื้อราใต้กระถางมากเหมือนรองด้วนอย่างอื่นและซับน้ำความชื้นได้ดี บางคณะอาจมีใบไม้มงคลต่างๆรองกระถางด้วย

2.ใส่ดิน ดินกำแรกที่จะใส่กระถาง ให้กลั้นใจหยิบและหายใจออกตอนโปรยดินลงไปแล้วที่เหลือก็ตามสะบาย ใส่ดินให้พอเหมาะต้องกะให้พอดีกะหัวว่านที่จะปลูกปริมาณความสูงของดินขั้นนี้ก็เอาหัวว่านลงไปวางแล้วหัวความสูงของหัวต้องต่ำกว่าขอบกระถางประมาณ 1 นิ้วฟุตเกลี่ยให้เรียบ

3.ใช้นิ้วกลางกับนิ้วหัวแม่มือหยิบผงมงคล 1 หยิบมือ วางลงตรงกลางกระถาง หยิบเกล็ดอัญมณีวางใส่พอประมาณ

4.ใช้ยันต์จตุโรวางทับให้ตัวเลข 492 เรียงอยู่ในแนวเหนือใต้ กำหนดฝากยันนี้ไว้กับแม่ธรณี(ในกรณีที่เป็นยันต์ดิน เมื่อดินสลายตัวอานุภาพของยันต์จะยังคงอยู่)

5.หัวว่านที่จะปลูกเรียกนามด้วยคาถาเรียกนาม ดังนี้ (ว่าคาถาในใจเอาลิ้นดันเพดานบริเวณรอยต่อเพดานแข็งกับเพดานอ่อน กลืนน้ำลาย 1 ครั้งตอนถึงชื่อว่าน) นามะนังสะมาโสยุตโถยุตถะแห่งนามะทั้งหลาย พระอาริยเจ้าพึงหมายให้บังเกิดเป็น ว่าน….ชื่อว่าน…… อะนุปะฏิตถานังวุตตะโยคะโต อุทาหรอันใดเป็นไปบ่มิได้สำเร็จ พระอริยะเจ้าพึงหมายให้สำเร็จแล้วด้วยสูตรนี้ เสร็จแล้วปิดทอง 1 แผ่น เจิมด้วยแป้งเจิม

6.นำหัวว่านลงวางบนยันจตุโร กะให้ตรงกลางยันต์ เอาแค่รู้สึกว่ากลาง ตอนลงว่านกลบดินภาวนา บทชยันโต เพื่อปัดฤกษ์ (ใช้บทบทกำหนดฤกษ์ดีนำด้วย ซึ่งคนเรียนมาอย่างถูกต้องครูจะบอก ถ้าไม่บอกควรถามครูนะ: อรรถ)

7.เอาดินกลบให้ดินอยู่ต่ำกว่าขอบกระถางลงมาประมาณ 1 นิ้วปกติจะไม่กลบดินจนมิดหัวว่าน

8.เอานิ้วโป้งสองนิ้วของเราชนกัน ดันไปที่หัวว่านเบาๆ ท่องสูตรเรียกนามอีกรอบ

9.เจิมใบว่านด้วยแป้งเจิม

10.พรมน้ำมนต์  เสกต้นว่านครั้งแรก

เป็นอันเสร็จ

กำยานทำเอาเอง
กำยานทำเอาเอง

ปกิณกะ1

การปลูกว่านอาจใช้ความรู้อื่นๆเข้ามาผสมผสานร่วมเข้าไปด้วย เช่น การใช้ควอช ในการช่วยส่งและรับพลังงานกระแสปราณจากผู้ปลูกและต้นว่าน โดยถือแท่งควอชใสไว้ในมือ ตอนเสกต้นว่าน และใส่ควอชใสไว้ในกระถางว่านเพื่อช่วยรวมกระแสแล้วส่งลงดินอีกที

ยังสามารถใช้เพนดูลั่มได้ด้วย โดยใช้เพนดูลั่ม แกว่งด้านบนกำหนดส่งพลังหมุนขวา ส่งกระแสแบบที่ต้องการได้เลยตอนเสกต้นว่าน และยังใช้เพนดุลั่มกำหนดวัดพลังงานของต้นว่านก็ยังได้

การใช้เพนดูลัมจะใช้เวลานานกว่าจะเสกต้นว่านเสร็จแต่ละต้นแต่ชัวร์ เพราะกว่ามันจะหมุนแต่ละทีจิตต้องได้ระดับ แต่ถ้าชำนาญก็จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ จริงๆเพนดูลั่มเป็นพื้นฐานของการปลุกเสกที่เป็นรูปธรรมเลยก็ว่าได้เลย

ปกิณกะ2 

ด้วยสาเหตุที่เราใช้น้ำและดินที่เป็นมงคล ต้นว่านได้เสพสิ่งที่เป็นมงคล ประหนึ่งว่าต้นว่านเป็นเตาปฏิกรณ์ ใช้พลังงานทั้งหมดหลอมรวมกันแล้วส่งออกมาสู่ภายนอก ดูง่ายๆคือการคายน้ำ ละอองหรือไอน้ำที่เป็นมงคลจึงฟุ้งกระจายไปในบรรยากาศโดยผ่านกระบวนการเสริมจากต้นว่านนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ การปลูกว่านจึงเป็นการเสริมสร้างมงคลให้แก่สถานที่นั้นๆได้อย่างต่่อเนื่อง

ปกิณกะ3

เวลารดน้ำเราต้องปรุงจิตตั้งแต่หยิบกระบวยแล้วว่าเราจะตักน้ำไปรดว่านชื่ออะไร มีคุณอย่างไร ภาวนา นะโมพุทธายะ(หรือบทภาวนาอื่น) ไปเรื่อยๆ จนรดน้ำเสร็จคือเทน้ำหมดกระบวยสุดท้ายแล้ว เราก็มาเสกต้นว่าน ด้วยคาถาเสกต้นว่านตามที่เคยบอกไว้ให้แล้ว ที่ขึ้นว่า นะมะพะทะ…………….

ปกิณกะ4

การสร้างเขตมลฑลคาเขียว

ก่อนถัก จุดธูป 7 ดอกน้ำ 1 แก้ว ระลึกถึงสัตตนาคราช กำหนดใช้ใบหญ้าคาสดเลือกกลุ่มที่ใบตั้งสูงใช้ 7 ใบถักภาวนาคาถา “สะธะวิปีปะสะอุ สัตตะนาเค

เมื่อจะต่อใบใช้คาถาสนธิ”  สนธิ ยันตัง สันตัง วิกรึงคะเร”

ทำแหวนไว้ใส่เข้ามลฑลด้วนวิธีเดียวกัน จนได้ความยาวตามต้องการ เสร็จแล้วขมวด เก็บเสกต่อไปด้วยสัตตนาเค มุงกุฎพุทธเจ้า หัวใจไก่เถื่อน จนหญ้าแห้ง

เสากำหนดให้ใช้ไม้ไผ่ เมื่อจะปักเสา

ใช้มือวาดวงกลมตรงที่จะปัก”อิมังปะตะพิยังอะทิถามิ ทุติยัมปิอิมังปะตะพิยังอะทิถามิ ตะติยัมปิ อิยังปะตะพิยังอะทิถามิ”

เมื่อปักกลั้นใจปักและกลบภาวนา “อิติ ปาระมิตตา ติงสา อิติ สัพพัญญูมาคะตา อิติ โพธิมนุปปัตโต อิติปิโส จะเตนะโม”

เมื่อขมวดหัวเสากลั้นใจใช้ “พินธุกัปปังสันตังวิกรึงคะเร”

กำหนดให้มีพลังพอตึงมือ เมื่อปลายมาจรดกันใช้ “สนธิ ยันตัง สันตัง วิกรึงคะเร”

ให้ใช้ฤกษ์ที่ดี ห้ามยกของข้าม ห้ามเดินข้าม เสกใหม่ทุก 7 วัน พื้นห้ามเป็นปูน เป็นทรายได้ ห้ามใส่รองเท้า ห้ามใส่หมวก จัดน้ำมนต์ชำระพลังแฝงไว้ราดเท้าตอนออก ห้ามวางแนวขวางทิศ วางล้อมต้นไม้ใหญ่ได้

ปกิณกะ5

แหวนตอนใส่ ถอด เสกมงกุฏพุทธเจ้ากลั้นใจใส่เข้าออกหมุนซ้ายขวา

ว่านที่ใช้คุมทิศ นางคุ้ม(ทิศว่านค้มครองป้องกัน) ไพลปลุกเสก (ทิศไพลทั้งหลาย) พญาว่าน (วางสิงหโมราในหมู่ทิศพญาว่านทั้งหลาย) พะตะบะ(ทิศว่านหลาบปรอททั้งหลาย) ตรงกลางใช้พญาว่านเป็นประธานอีกต้นนึง

เขียนโดย ปัญญาวัฒน์ อุบลรัตน์

๒๕ ธ.ค. ๖๒ รีรัน ๑๐ มิ.ย.๖๔

อ้างอิง

https://www.facebook.com/notes/ว่าน-สมุนไพร-ไม้มงคลไทย-โดย-ณรงค์ศักดิ์-ค้านอธรรม/วิธีการปลูกว่าน/696292070435034/