สารบัญ: คลิ๊กเลือกอ่าน
ว่านพะตบะ ทั้ง ๔ ชนิด และว่านพระกราบ
เป็นเกล็ดข้อมูลเพื่ิอคนรุ่นหลังจาก จากการ เรียน กับ อ.ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม เกรงข้อมูลจะสูญหายจึงบันทึกไว้ครับ
ว่านพะตบะ ต้นแท้ที่พบการเล่นหาในปัจจุบัน
๑. ตัวแท้โบราณ “ตะเกียงยาวก้าวก่าย”
ตามตำราโบราณ ฟอร์มหัวฉีกลงล่าง (ฟอร์มหัวคล้ายปลาใหญ่ แต่ปลาไหลใหญ่ปลายหัวจะกระดกขึ้น) กลิ่นฉุนชัดเจน รสเผ็ดฉุน เส้นใบไม่แดงแม้จะผ่านกี่ฤดู ดังนักบวชที่ท่านบรรลุแล้วย่อมไม่ถอยตกต่ำ ลักษณะใบเขียวล้วนใต้ใบคาย

๒. ตัวที่แพร่หลายทั่วไป (ต้นแขนงอ้วน)
ลักษณะใบเขียว ใบอ้วนกว่าตัวแรก ใต้ใบคาย หัวแขนงอ้วน กลิ่นฉุนชัดเจน…สายพันธ์นี้เหมือนคนที่ฝึกฝนตนย่อมมีดี-มีไม่ดีปะกัน เลี้ยงไม่ดี ลักษณะไม่ดี แววไม่ดี ก็กลายเป็นโพลงซะงั้นได้ แถมถ้าเป็นโพลงแล้วแรง-อันตรายเสียด้วย…
ต้นนี้มีคนได้ไปแล้วมีคนโทรมาปรึกษาอาจารย์ว่าทำไมต้นนี้แทนที่จะไล่ผีดันเป็นผีซะเอง…สรุปคือ เขาเลี้ยงแบบทิ้งๆขว้างๆ ไม่ได้เศกน้ำมนต์รด (ได้ยินอย่างนี้อย่าเที่ยวไปหามาทำโพลงเองนะมันมีเทคนิคการคัดเฉพาะหรือการเลี้ยงเฉพาะครับ ไม่ใช่เป็นทุกต้น)

ต้นนี้บางปีมีเส้นใบแดง (เกิดลักษณะนี้หลังน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ คาดว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ) คนไม่รู้เลยเรียกว่า พะตบะตัวผู้บ้าง แท้จริงแล้วตัวผู้คือต้นที่เส้นใบแดงชัดเจนตลอดต่างหาก(หัวเหมือนกัน) ต้นนี้ยังกลายเป็นลักษณะเฉพาะที่นิ่งบางอย่างคือ จะมีแผงแขนงหัวแบบพญานาค เรียกว่า กลาย หรือ “กายสิทธิ์” มีฤทธิ์โดดเด่นสูงขึ้น เชื่อว่า ปรอทในต้ นเยอะ หรือรับพิษนาคไว้เยอะ มีพิศนุยาสูงนั่นเอง เป็นการกลายแบบถาวรคือกลายทุกปีนะครับ

๓. พะตบะ สาย อ.หล่อ ขันธ์แก้ว
คือ มหากำลังแวริเอชั่นหนึ่งหัวเหมือนมหากำลังคือหัวยาวๆแบบมหากำลัง กลิ่นเนื้อในหัวฉุนคล้ายพะตบะแต่อ่อนกว่า ขนหลังใบนุ่ม


๔. พะตบะตัวผู้
ลักษณะหัว ใบ กลิ่น เหมือนต้นที่ ๒ แต่เส้นใบแดงชัดเจนและแดงทุกปี บางสำนัก (ที่เชื่อถือได้) เล่นต้นนี้เป็นพระกราบอีกต้นหนึ่ง

*หมายเหตุ สองอย่างแรก หลังใบสาก โบราณว่าสากเหมือนลิ้นเสือ อันนี้ไม่เคยมีเสือมาเลีย (ฮ่า) น่าจะสากๆแบบแมวเลียนะ คือสากแบบกระดาษทราย เรื่องกลิ่น ทุกต้นกลิ่นระดับเดียวกัน แต่ พะตบะ สาย อ.หล่อ กลิ่นจะอ่อนกว่าและขนหลังใบนุ่ม
ว่าด้วย “ว่านพระกราบ”
นอกจากนี้ยังมี “ว่านพระกราบ” ที่มีลักษณะคือ หัวเหมือนพระตะบะชนิดแขนงอ้วน กลิ่นเป็นแบบเดียวกับพะตบะ ใบดูหนา โดยใบเรียบกว่าพะตบะ(เส้นใบไม่นูนเท่าพะตบะ) หลังใบสาก ร่องใบออกแดงเรื่อๆไม่มาก ในขณะที่ พระตะบะ ใบเขียว ออกป้อมกว่าพระกราบ หลังใบสากเช่นกัน ดังรูป

ต้นนี้มีเล่นกันสองสาย อีกต้นหนึ่งก็คือ “พะตบะตัวผู้” ที่หัวแขนงอ้วน เส้นใบแดงชัดเจนทุกปี นั่นเอง…
ข้อมูลพะตบะจากตำราเก่า
พระตะบะ Curcuma sp.
ลักษณะ
ต้นและใบคล้ายขมิ้นอ้อยแต่ใหญ่กว่า ต้นและใบสีเขียว หลังใบมีคราบคล้ายกับใบลิ้นเสือ หัวเหมือนกับหัวขมิ้นอ้อย เนื้อในสีขาวรสฉุนจัด มีธาตุปรอท มีกิ่งหน่อแตกยาวเกี่ยวกันอยู่
สรรพคุณ
ทางคุ้มครอง มีอานุภาพมหัศจรรย์วิเศษสุด ภูติผีปีศาจที่ร้ายกาจทุกชนิดเกรงกลัวยิ่งนัก ปลูกไว้ในบ้าน คุณไสยเสนียดจัญไร พรายน้ำพรายอากาศไม่กล้าเข้ามาใกล้ได้ หลีกหนีสิ้น ใช้หัวทิ่มแทงคนผีเข้าเจ้าสิง หนีออกจากร่างคนทันที
ทางสมุนไพร เอาหัวว่านแช่น้ำมนต์พ่นแก้คุณไสยทุกชนิด และให้คนท้องกินคลอดบุตรง่าย เอาหัวว่านผูกติดกับเปล เด็กนอนไม่สะดุ้ง ว่านนี้ไม่เป็นอันตรายแก่พระภูมิเจ้าที่ เอาเข้าพิธีสวดพานยักษ์ ว่านนี้จะมีความศักดิ์สิทธิ์มีฤทธานุภาพมากยิ่งขึ้นวิเศษนัก
หมายเหตุ
ว่านชนิดนี้เรียกหลายชื่อ คือ ว่านพะตะบะ ว่านพระยาตะบะ ว่านพระตบะ
พบในตำราของ
ประพัฒนสรรพกร, หลวง. ตำหรับกระบิลว่าน. 2475, หน้า 38-40
ชัยมงคล อุดมทรัพย์. ตำราดูว่าน และพระเครื่อง-พระบรมธาตุ. 2503, หน้า 22
พยอม วิไลรัตน์. ตำรากบิลว่านและต้นไม้วิเศษนานาชนิด. 2504, หน้า 72-73
อุตะมะ สิริจิตโต. ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน. 2505, หน้า 104-105
ชั้น หาวิธี. ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์. 2506, หน้า 36-37 เรียก ว่านพะตะบะ
เลื่อน กัณหะกาญจนะ. ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีดูแลว่าน. 2506, หน้า 232-234
สวิง กวีสุทธิ์, ร.ต. ตำรากบิลว่าน. 2508, หน้า 20-22
สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร. กบิลว่าน 108. 2516, หน้า 61
อาจารย์ญาณโชติ. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์, หน้า 990-991 เรียก ว่านพระยาตะบะ
สรุป
กลุ่มนี้ดูยาก แยกยากมากครับ ดังนั้นทางที่จะไม่มั่วคือใช้ต้นสืบทอดครับ ต้นจะนิ่ง และมีประสบการณ์การใช้จริงๆมาแล้วช้านาน…ไม่ต้องเสียเวลามโนตามตำรา เพราะมโนถูกหรือผิดก็ไม่รู้ (ฮ่า) อารมณ์แบบนางงามจักรวาล ก็มีจมูกปากเหมือนกับคนทั่วไป แต่คนทั่วไปไม่ใช่นางงามจักรวาล (ตำราเขาระบุได้เทียบเคียงเพียงว่าหูตาปากเป็นอย่างไรประมาณนั้น) ว่านก็คล้ายๆอย่างนั้น เพราะ “ว่าน” คือไม้คัดที่ใช้ได้ดีในด้านสมุนไพรหรือทางความเชื่อนั่นเอง …ตรงตัวครับ คัดแปลว่าดีกว่าเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน…ซึ่งมันชัดเจนมากในว่านกลุ่มหัวสะสมอาหาร สะสมโอสถสาร เช่น ขมิ้นขิงไพรครับพวกนี้จำต้องใช้ต้นคัด ต้นสืบทอด ที่มีจุดต่างจุดตายเล็กๆน้อยๆจากต้นทั่วไป….
เก็บตกจากคำครู
อรรถวัติ กบิลว่าน
๒๑ มิ.ย.๖๔
อ้างอิง
https://www.facebook.com/BanVanThai/posts/2031114063575803
https://www.facebook.com/BanVanThai/posts/2982910085062858
https://www.facebook.com/BanVanThai/posts/4134321346588387
http://banvanthai.com/uncategorized/ว่านพระตะบะ/1527/
https://www.facebook.com/BanVanThai/posts/4010862665600923
https://www.facebook.com/groups/191877227543190/permalink/1436949003036000/
https://www.facebook.com/groups/191877227543190/permalink/1112010322196538