ไพล

ไพล คืออะไร

หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินสมุนไพรชื่อ “ไพล” หรือเคยได้เห็นจากขวดยาหม่องไพล วันนี้เราเลยอยากจะมาแบ่งปันเกล็ดความรู้เล็กๆน้อยเกี่ยวกับไพลให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ

  • ชื่อเครื่องยา : ไพล หรือ ไพลเหลือง หรือ ว่านไฟ
  • ชื่อทางภาคเหนือ : ปูเลย
  • ชื่อทางภาคอีสาน : ว่านปอบ
ไพล
ไพล

สรรพคุณ (เหง้า) ที่โดดเด่น :

  1. ขับโลหิตร้ายทั้งหลายให้ตกเสีย ขับระดูสตรี
  2. แก้ฟกช้ำ เคล็ดบวม
  3. ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด
  4. บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ลดอาการอักเสบ
  5. บำรุงผิวพรรณ

การศึกษาทางเภสัชวิทยา :

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

  • สารสำคัญในไพล (สารฟีนิลบิวตานอยด์) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบเป็น 2 เท่าของยา diclofenac (ยาแผนปัจจุบันที่ใช้บรรเทาอาการอักเสบ) โดยกลไกการออกฤทธิ์ของสารดังกล่าวคือการยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase และ lipooxygenase [อ้างอิงที่ 1]
  • สาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene หรือ DMPBD ซึ่งเป็นหนึ่งในสารสำคัญที่พบในไพล สามารถออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายา oxyphenbutazone, phenidone, และ diclofenac หลายเท่า [อ้างอิงที่ 2]
  • สารสกัดจากไพลสามารถลดการสร้างพรอสตาแกลนดิน (PGE2) ที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดการแสดงออกของเอนไซม์ COX-2 และลดการสร้าง PGE2 ที่บริเวณเนื้อเยื่อของฟันได้ [อ้างอิงที่ 3]
  • สารสกัดจากไพลสามารถลดไนตริกออกไซน์ (NO) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ โดยไพลมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 69, 83 และ 47 µM ตามลำดับ [อ้างอิงที่ 3]

การศึกษาทางเภสัชวิทยา :

ฤทธิ์คลายตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และกล้ามเนื้อเรียบอื่นๆ

  • สารสกัดไพลสามารถทำให้มดลูกคลายตัว โดยกลไกการออกฤทธิ์คือการลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ [อ้างอิง 4]

การศึกษาทางพิษวิทยา :

การศึกษาพิษเฉียบพลัน

  • ไม่พบความเป็นพิษในหนูเมื่อให้สารสกัดไพลในปริมาณ 250 เท่า (เปรียบเทียบกับขนาดยาที่ใช้รักษาคน) โดยวิธีการกินและฉีดใต้ผิวหนัง [อ้างอิง 5]
  • หนูถีบจักรไม่แสดงอาการพิษเฉียบพลันใด ๆ เมื่อป้อนผงไพลขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังมากกว่า 20 กรัม/กิโลกรัม แต่เมื่อฉีดเข้าช่องท้องเท่ากับ 14.8 กรัม/กิโลกรัม [อ้างอิง 6]

การศึกษาพิษเรื้องรัง

  • หนูขาวที่ได้รับไพลติดต่อกัน 1 ปี มีตับผิดปกติ เช่น ตับแข็ง เนื้อตับเป็นปุ่มปม บางตัวมีเนื้องอกที่ตับ ตับและม้ามของหนูกลุ่มป้อนยาไพลมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามขนาดของไพลที่ได้รับ [อ้างอิง 6]
  • ลิงกลุ่มได้รับยาไพล 0.02 ก./กก./วัน เจริญเติบโตเร็ว และมีค่าเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hct) สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ กลุ่มลิงที่ได้รับยาไพล 1.0 ก./กก./วัน หลังจากลิงกลุ่มนี้ได้รับยาไพล 3 เดือน มีการเจริญเติบโตช้าลง สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ในเดือนที่ 5 และเดือนที่ 9 พบว่าตับเสื่อมสมรรถภาพในการสร้างโปรตีน สรุปได้ว่าไพลเป็นพิษต่อตับ และยังไม่มีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้เป็นยารับประทานติตต่อกันเป็นระยะเวลานาน [อ้างอิง 6]

อ้างอิง

  1. ชลิต พงศ์ศุภสมิทธิ์, เบญจวรรณ สมบูรณ์, สุภักตร์ ปัญญา, นงลักษ์ ชูพันธ์. ผลผลิตระหว่างหัวพันธ์ที่แตกต่างกันของไพล. รายงานผลการวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้, 2554
  2. Jeenaponga R, Yoovathaworn K,Sriwatanakul KM, Pongprayoon U,Sriwatanakul K. Anti-inflammatory activity of (E)-1-(3, 4-dimethoxyphenyl) butadiene from Zingiber cassumunarRoxb. J Ethnopharmacology. 2003;87: 143-148.
  3. Tangyuenyongwatana P, Gritsanapan W. Prasaplai: An essential Thai traditional formulation for primary dysmenorrhea treatment. TANG. 2014;4(2):10-1.
  4. พูลทรัพย์ โสภารัตน์. การคลายตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และกล้ามเนื้อเรียบอื่นๆ จากสาร D ซึ่งสกัดได้จากไพล [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. เชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่;2527.
  5. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1. โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  6. นาถฤดี สิทธิสมวงศ์, วิเชียร ลีลาสง่าลักษณ์, เจษฎา เพ็งชะตา, ทรงพล ชีวะพัฒน์, เอมมนัส หวังหมัด, พัชรินทร์ รักษามั่น และคณะ. การศึกษาพิษของไพล. รายงานการวิจัยในโครงการพัฒนายาไพลเพื่อใช้รักษาโรคหืด, 2533.

เครดิต โดย http://www.thaicrudedrug.com

ผู้เขียน ธาร์มันษ์ ตลับเพชร์สกุล

๑๕ มิ.ย. ๖๔

ถ้าหากท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรต่างๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามมาได้ที่

  • Instagram : phromthawihan_herb
  • เบอร์โทร : 082-189-3639
  • Line : @phromthawihanherb