อันแก้วหน้าม้านั้น ถ้าจะเล่นต้นชั้นท็อป ให้เลือกชนิดตัวเมียครับ ต้นเล็ก หูแดะ หน้าพราย ใต้ใบแดง…. ถ้าหาไม่ได้ให้ใช้ตัวอื่นแทนเรียกว่า “ต้นตัวผู้” ทั้งหมด คือนอกลักษณะนี้ เช่น ต้นใหญ่กว่า ใต้ใบเขียว หรือใต้ใบม่วง (แต่ไม่หน้าพราย หูไม่แดะ ต้นใหญ่) ซึ่งตัวผู้นี้ ผู้เลี้ยงต้องเสกยัดวิชาเองจนเกิดญาณว่าน จนปรอทอยู่ตัว ก็ใช้การได้ครับ …แต่นานหน่อย … ประมาณว่าพลอยน้ำงาม (แก้วหน้าม้าตัวเมีย) ย่อมมีคุณค่าเจียระไนก็สวย แต่พลอยน้ำไม่งามก็ต้องไปเผา ไปหุงจึงจะสวย ซึ่งโดยรวมคุณค่าราคาก็สู้พลอยน้ำงามโดยไม่หุงไม่ได้

ความเชื่อ :
เป็นพรรณไม้ที่สมัยก่อนจะพบใกล้ๆลำธารในป่าดิบภาคใต้ของไทย ยาวเลยไปถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย สมัยก่อนมีการนำเข้ามาขายบ้าง นักวิชาการเกษตรบางคนไม่รู้ เลยเหมาว่าว่านชนิดนี้เป็นไม้นอก (รู้ไม่จริง) แต่แท้จริงแล้วเป็นไม้พื้นเมืองทางภาคใต้ครับ
คนในพื้นที่เชื่อกันว่า ว่านแก้วหน้าม้ามีอิทธิฤทธิ์ช่วยป้องกันภูตผีปีศาจ สิ่งอัปมงคลและอันตรายทั้งปวงได้ กล่าวกันว่าว่านแก้วหน้าม้านั้นมีอิทธิฤทธิ์เทียบเท่ากับ “ว่านมเหศวร” ซึ่งเป็นบอนในกลุ่มเดียวกันแต่ใบมีลักษณะหยักเว้าเข้าไป และว่านนี้ยังช่วยให้ผู้ครอบครองเกิดเมตตามหานิยมค้าขายดีได้อีกด้วย ยิ่งถ้าปฏิบัติได้อย่างถูกวิธีแล้วนับว่าเป็นว่านที่มีค่า สวย สง่าแบบขลังๆน่าปลูกเลี้ยงมากครับ
เทคนิคคือ เสกน้ำรดด้วย นะโมพุทธายะ เป็นประจำ อันเป็นเรื่องพื้นฐานแต่ทำจริงๆยาก …. แล้วหมั่นคุยด้วยบ่อยๆ จะบอกจะบนอะไรก็บอก และมักบนด้วยผ้าแพรพันกระถาง ปัจจุบันนับว่าหายากมากๆ เพราะมีผู้ไม่หวังดีนำต้นไม้สายพันธ์ต่างชาติมาสวมรอยทั้งอย่างตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจครับ หรือมีไม้ป่าไทยแท้มาแต่มันไม่เข้าลักษณะครับ ก็ยังใช้ไม่ได้เท่าไร…
แล้วบางทีก็ตั้งชื่อต่างๆกันไปเช่น แก้วสารพัดนึก (ไม้ใหม่ เป็นไม้นอก) นอกจากนี้ยังดูยากแยกยาก เอาเป็นว่าจุดตายอยู่ที่ “ต้นเล็ก หูแดะดั่งหูม้า หน้าพราย ใต้ใบแดง และหน้าใบดั่งหน้าม้า”
ที่มาของความศักดิ์สิทธิ์
จากนิทานพื้นบ้านเรื่องแก้วหน้าม้าครับ “นางแก้วหน้าม้า” นอกจากเก่งด้วยตัวเองแล้ว ยังมีมีดโต้ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก ในสายวิชาไสยศาสตร์บางสายก็มีมนต์หรือวิชาเกี่ยวกับแก้วหน้าม้าด้วย…
ลักษณะ :
จุดตายของว่านแก้วหน้าม้าให้ดูที่ “ต้นเล็ก หูแดะดั่งหูม้า หน้าพราย ใต้ใบแดง และหน้าดั่งหน้าม้า” ท้องใบของว่านแก้วหน้าม้าต้องมีสีม่วงเข้มทั่วทั้งท้องใบ (โดยเฉพาะช่วงใบอ่อน) ถ้าเป็นด่างๆลายๆ ม่วงบ้างเขียวบ้างไม่เต็มใบ นั่นไม่ใช่ จัดเป็นตัวผู้ หรือถ้าใต้ใบเขียวใบลายๆจะจัดเป็น “ว่านจงอาง” ครับ กระดูกใบเป็นสีขาวเงิน(หน้านวล)

ลักษณะของใบเป็นรูปลูกศรยาวเหมือนหน้าม้ามีทั้งแบบดุๆ เด่นทางป้องกัน ถ้าทางเมตตาหน้าจะนวลขาวสวยและดูหน้าไม่ดุครับ (ต้นนี้จะหายากสุด) ช่อดอกออกที่ซอกใบเป็นช่อเชิงลด มีกาบใบประดับคล้ายกาบรองรับช่อดอกสีเขียวอ่อน ปลีดอกสีเหลืองอ่อน
วิธีปลูก :
ว่านแก้วหน้าม้าเป็นว่านชอบน้ำชอบความชื้น ไม่ชอบแดดจัดร้อนอบอ้าว ถ้าจะให้ดีเป็นมงคลควรปลูกในวันพฤหัสข้างขึ้นแก่ๆจะดี(ต้นหน้าดุ) หรือ ปลูกในวันจันทร์(ต้นหน้ายิ้ม)ก็ได้ แล้วแต่จะหวังผล ก่อนรดน้ำให้เสกน้ำรดด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” เสมอ ว่านนี้จะคุ้นคนให้เสกด้วย “อิติปิโสเรือนเตี้ย” และหมั่นพูดคุยด้วยบ่อยๆ เชื่อกันว่าเมื่อว่านแก่กล้าเต็มที่จะพยักหน้าหรือโบกหน้าได้แม้ไม่มีลม บางคนใช้เสี่ยงทายถามคำถามคาใจ เช่น ใช่ให้พยักหน้า ไม่ใช่ให้ส่ายหน้า..

ว่านแก้วหน้าม้าเป็นว่านชอบน้ำ ชอบความชื้นแต่ไม่แฉะ ดินจึงควรเป็นดินที่มีฮิวมัสมาก ที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ควรใช้กาบมะพร้าวเพราะแม้จะดีในช่วงแรกแต่เมื่อนานเข้ากาบมะพร้าวจะเละ และเป็นแหล่งเชื่อโรคทำให้ว่านตาย
ว่านนี้ไม่ชอบแดดจัด ไม่ชอบร้อนอบอ้าว จึงควรพรางแสงประมาณ 60-70% คือปลูกในร่มรำไร
คาถา อิติปิโสเรือนเตี้ย
“อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ “ฯ
การขยายพันธ์
ขยายพันธ์ด้วยการชำต้นที่ค่อยๆโตสูงขึ้น และขยายพันธ์ด้วยกระสุน คือหน่อปลีที่แตกออกทางด้านข้าง
ราคาขาย
ชุดนี้ผมบอกว่าผมปล่อยให้ถูกมากครับ ต้นสายพันธ์แบบนี้ และต้นนี้ผมเลี้ยงดูมานาน ผ่านน้ำมนต์รดน้ำมาโดยตลอด ขายกองละ ๒๐๐ บาทครับ ซึ่งหนึ่งกองนั้นเพาะได้เต็มกระถางขนาด ๑๒ นิ้วเลยครับ
* ปัจจุบันราคาขายเพิ่มเป็น ๒๕๐ บาท ได้ ๒ ต้น เนื่องจากว่านมีจำนวนน้อยลง และลักษณะข้างต้นถือว่าเป็นว่านคัดสายพันธ์ที่เด่นกว่าไม้ป่า (ดีนอกดีใน) ครั้นจะขายตามราคาตลาดมันไม่สมเกียรต์ครับ คนได้ไปเขาจะไม่ค่อยเห็นคุณค่า… ให้มั่นใจต้นนี้และเขียนป้ายดีๆเลยครับจะได้ไม่ปะปนกับต้นอื่น
เอวังฯ
อ่านบทความอื่นเกี่ยวกับว่าน คลิ๊ก
อรรถวัติ กบิลว่าน
๒๕ ก.พ.๖๔