ว่านโบตั๋น หรือว่านปู่ย่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Epiphyllum oxypetalum (Haw)
ชื่อวงศ์
วงศ์ตระบองเพชร์ (Cactaceae)
ลักษณะ
ใบเหมือนใบพายแต่ใบยาว ข้างริมใบเป็นจักมน ๆ ก้านตรงโคนต้นกลม ถึงคราวจะแตกดอกออกหน่อก็ออกทางใบ ปลูกด้วยใบก็เป็น แพร่พันธุ์ง่าย ดอกมีสีขาว กลีบดอกมีสีม่วง
ว่านนี้มี ๒ พันธุ์ คือ ชนิดต้นและใบแดงชนิดหนึ่ง กับชนิดต้นและใบเขียวอีกอย่างหนึ่ง
ประโยชน์
มีคุณในการบอกชะตาว่าเจ้าของว่านนี้จะมีโชคลาภดีหรือไม่ จากการออกดอกของว่านนี้ ถ้ามีดอกก็จะบังเกิดลาภผลแก่เจ้าของว่าน โดยมากเจ้าของว่านมักทำการบูชารับขวัญการออกดอกของว่านนี้ตามควรแก่อัตภาพ ปรกติดอกมักจะบานในเวลาเช้ามืดหรือใกล้สว่าง พอบานเต็มที่แล้วก็โรยในเวลานั้นเอง แต่ไม่ใช่โรยแบบร่วงหลุดไป ทั้งดอกเป็นการหุบกลีบดอก ต่ออรุณรุ่งของวันใหม่จึงจะบานใหม่อีก เป็นอยู่อย่างนี้จนกว่าจะครบกำหนดเวลาบานแล้วจึงจะร่วงหล่นไปจริง ๆ เคยมีการนับวันที่ดอกบานแล้วหุบอย่างนี้ในระดับ ๗ วันบ้างก็มี ถึง ๑๐ วันก็มี เอาสถิติแน่นอนไม่ได้
การรับขวัญนั้น เท่าที่เคยเห็นทำกันมาเห็นเขาใช้ผ้าแพรแดงหรือมีค่ามาก ๆ ไปผูกประดับไว้ที่โคนต้นว่านหรือที่กระถางปลูก ดูดังกับเป็นการประกวดความมั่งคั่งของเจ้าของว่านไปด้วยในตัว
การปลูก
เนื่องจากว่านนี้อาจแยกหน่อออกจากใบก็ได้ ฉะนั้นจึงใช้ใบปลูกก็ได้ หรือจะใช้หน่อต้นปลูกก็ได้ ใช้ดินร่วน ๆ ผสมกระเบื้องเผาไฟทุบแหลกดีแล้วมาเป็นดินปลูก ใช้ดินคลุมใบตอนโคน เพื่อกันการปลิวของใบ แล้วใช้น้ำรดพอชุ่มทั่ว
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com