ว่านช้อยนางรำ หรือว่านมีดยับ (พายับ)
ว่านนี้ไม่ใช่พืชลงหัวเหมือนอย่างว่านทั้งหลาย ตั้งแต่สมัยโบราณมา เรียกว่าเป็นว่านกายสิทธิ์หรือนางกวักอย่างหนึ่ง เพราะใบย่อยหรือหูใบ ๒ หูที่โคนใบย่อยนั้น กระดุกกระดิกได้ด้วย มีความรู้สึก เมื่อได้ยินเสียงตบมือเป็นจังหวะขึ้นครั้งใด
ชื่อวิทยาศาตร์
dasmodium gyrans (Dc)
ชื่อวงศ์
วงศ์ถั่ว (Leguminosae)
ชื่อที่อื่น
นางรำ, ช้อยนางรำ (ไทย) แผวแดง (อรัญประเทศ)ว่านมีดยับ (พายับ) ว่านกายสิทธ์หรือนางกวัก ( โบราณ)
ลักษณะ
เป็นไม้ต้นขนาดเล็กจำพวกต้นหญ้า ลำต้นโตไม่เกินนิ้วก้อน ต้นสูงไม่เกิน ๑ เมตร ผิวของลำต้นเป็นสีเทา มีใบสีเขียวเป็นรูปไข่ ริมใบเรียบ สุดปลายใบมน ใบยาวประมาณ ๗ ซม. กว้าง ๓ ซม. ก้านยาว ๒.๕ ซม. แต่จากใบใหญ่ลงมาตามก้านใบราว ๑ ซม. ยาว ๒ ซม. มีรูปร่างเหมือนใบใหญ่ทุกอย่าง เรียกว่าหูใบ ตรงกลางของใบเหล่านี้มีเป็นนวลสีขาว มีดอกเล็ก ๆ คล้ายดอกถั่งแปป แต่เล็กกว่ามาก ดอกมีสีม่วงปนขาว คล้ายดอกผักตบ มีฝักแบน ๆ กว้าง ๓ ซม. ยาว ๒.๕ ซม. ในฝักมีเมล็ดตั้งแต่ ๒ ถึง ๖ เมล็ด ๆ สีดำคล้ายเมล็ดถั่วดำ ขนาดโตราวก้านไม้ขีดไฟ ไม้นี้สืบพันธุ์ด้วยเมล็ด
เมื่อนำเอาต้นไม้นี้ปลูกไว้ในกระถาง แล้วเอาไปใส่ตู้กระจกไว้มิให้มีลมพัดมาถูกได้ คนดูพากันตบมือให้จังหวะ ใบอ่อนที่เป็นหู ๒ ใบข้างล่างใบใหญ่นั้น จะกระดุกกระดิก ไหวตัวได้ตามจังหวะที่มือเราตบ เหมือนมีประสาทความรู้สึก เป็นสิ่งแปลกประหลาดพอใช้
ประโยชน์
ว่านนี้ถ้าปลูกไว้ในบ้านใด เป็นเมตตามหานิยม โดยจะกวักเอาเงินทองให้เข้ามาสู่บ้านเรือนนั้น ๆ สมดังความปรารถนาของเจ้าของบ้านอยู่เสมอ
เป็นยาสำหรับฆ่าปรอทให้ตาย เป็นกายสิทธิ์อีกด้วย โดยให้เอาทั้งต้น, ราก และใบของว่านนี้มาโขลกให้ละเอียด แล้วเอากวนกับปรอทให้น้ำหนักเท่า ๆ กัน จะทำให้ปรอทเข็งตายได้
สรรพคุณทางยา
เป็นยารสเย็น แก้ฝีภายในและฝีในท้องต่างๆ
การปลูก
ใช้ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งย่อยจากต้นใหญ่ เมื่อรากงอกแล้วจึงแยกออกปลูกในที่ดินร่วนหรือปนทรายหรือจะปลูกลงในกระถางก็ได้ เป็นไม้สำหรับปลูกไว้ดูเล่น ๆ และค่อนข้างหายากสักหน่อย หรือจะใช้เมล็ดเพาะก็ได้
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com