ว่านหนุมาน
ว่านนี้เป็นว่านมีอิทธิฤทธิ์และอานุภาพมากอีกว่านหนึ่ง ทั้งหายากอีกด้วย ท่านตีค่าไว้ถึงแสนตำลึงทอง
ลักษณะ
ต้นเหมือนหมากผู้ หรือว่านมหาประสาร ก้านเขียว ใบแดง ครีบใบแดง ท้องใบเป็นขน หลังใบเขียวนวลมีพรายปรอท เวลาถูกแสงแดดเป็นเงาเหลื่อมดังทองนพคุณ ปลายยอดแดงเหมือนผลตำลึงสุก หัวมีลักษณะดังหัวลิง ดอกออกมาเป็นสีแดงเป็นพวง ตัวใบคล้ายใบตำลึงแต่ใหญ่กว่า
ประโยชน์
เมื่อพบว่านนี้แล้ว เมื่อจะขุดเอาหัวว่านมาให้เศกด้วยคาถา “สัพพาสี” จนจบ “ราณามเห” ให้ได้ ๓ หรือ ๗ คาบ แล้วรดน้ำให้รอบบริเวณต้น แล้วจึงขุดเอามา ในขณะขุดให้ว่าคาถานี้ไปด้วย “หะนุมานะ โสธาระ” อันเป็นคาถาสำหรับผูกเอาไว้อีก ๓ คาบ หรือ ๗ คาบจึงจะเก็บเอาหัวว่านไว้ได้ เวลาจะเอาหัวออกใช้ไม่ว่าจะกินก็ตาม หรือฝนทาตัวก็ตาท ต้องเศกด้วย “นะโมพุทธายะ” เสียอีก ๓ จบก่อน จึงกินหรือฝนทาทุกคราวไป ย่อมทรงอานุภาพฟันแทงไม่เข้า แม้จะเอาพะเนินเหล็กมาตีหรือเอาใส่หลุมสุมไฟก็มิได้เป็นอันตรายแต่อย่างใดเลย
ถ้าเอาหัวว่านมาแกะเป็นรูปวานรแผลงฤทธิ์ แล้วเศกด้วย “อิติปิโสภควาจนถึงภควาติ” ให้ได้ ๓ ถึง ๗ คาบแล้วเอาอมไว้หรือจะเก็บไว้ในตัว ถึงแม้ศัตรูจะมีมากมายสักเท่าใดล้อมเราอยู่ถึง ๗ ชั้น เราจะกระโดดขึ้นหลังม้าว่าคาถา “ศัตรูปลายันติ” เข้าเท่านั้นศัตรูที่ล้อมอยู่ก็จะพลันแตกพ่ายไปเองเพราะอำนาจว่านทำให้เป็นไปเช่นนั้น
ถ้าเอามาแกะเป็นรูปพญานาคราช แล้วเศกด้วย “เมตตา” ๓ ถึง ๗ คาบ จะเจรจาด้วยผู้ใด ก็จะรักเราดังเป็นบุตรของท่านเอง ถ้าเราปรารถนาสิ่งใดก็จะสำเร็จได้ดังประสงค์ทุกประการ
ถ้าเอาหัวว่านมาแกะเป็นรูปพระภควัมบดีปิดหูปิดตา คือปิดทวารทั้ง ๙ เศกด้วย “อิติปิโสภควาจนถึงภควาติ” ให้ได้ ๗ ครั้ง แล้วเอาอมไว้ในปาก คนทั้งปวงจะแลไม่เห็นตัว ทำร้ายเรามิได้ จะต้องการอะไรก็ย่อมได้สมดังใจปรารถนา
หากเอามาแกะเป็นรูปพระมหาพรหมแผลงศร แล้วเศกด้วย “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” ให้ได้ ๓ หรือ ๗ คาบ ใครจะทำร้ายทิ่มแทงเราก็จะต้องล้มทับตัวเอง อาวุธก็ให้มีอันพลัดจากมือ สุดท้ายต้องหลบหนีเราไปเอง รอหน้าเราอยู่ไม่ติด
ถ้าเอามาแกะเป็นรูปพระแล้วลงด้วยคาถาว่า “อะ, อิ, อุ, ธะ และเศกด้วยตัวคาถานี้อีก ๗ คาบ ป้องกันภัยอันตรายทั้งปวงได้
การปลูก
ใช้หัวปลูกโดยใช้ดินปนทรายใส่ในกระถาง เอาหัวว่านวางกลบเอาดินกลบพอมิดหัว เอาน้ำเศกด้วย “นะโมพุทธายะ” ๓ จบ รดน้ำพอชุ่ม
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com