ว่านหอยแครง
Tradescantia virginiana (Linn) วงศ์ผักปราบ (Commelinaceae)
ลักษณะ
เป็นไม้เจริญใบ ใบแข็งยาวปลายแหลม คล้ายต้นมานิลา แต่เล็กกว่ามาก หน้าใบมีสีเขียวแก่ หลังใบมีสีม่วงแดงเข้ม ต้นสูงไม่เกินคืบ โดยมากเป็นใบออกมาจากลำต้นในดิน ดอกเป็นกะเปาะเหมือนฝาหอยแครง ๒ ฝา มีสีม่วงแดง เกสรข้างในเป็นสีขาว ยื่นงอกออกมาจากข้างใบ ฝานี้สามารถปิดเปิดได้คล้ายกับพวกไม้ที่จับแมลง มีปลูกกันมากตามสวนยาจีน
ประโยชน์
แพทย์ตาชนบทใช้ใบสด ๆ ๓ ใบเอาไปต้ม น้ำที่ต้มจะเป็นสีแดงคล้ายน้ำด่างทับทิม เอาน้ำตาลกรวดเติมลงไปเล็กน้อยพอหวานปะแล่ม กินเป็นยาแก้ไอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ฟกช้ำภายใน เนื่องจากพลัดตกหกล้ม ถูกของแข็ง หรือตกจากที่สูง ยานี้นิยมใช้ทั้งคนไทยคนจีน
ชื่อที่เรียกกัน
ว่านหอยแครง, กาบหอย, (กรุงเทพฯ) จีนเรียก อั้งเต๊ก อังกฤษเรียก common spider word
การปลูก
ใช้แยกหน่อ หรือลำต้นออกปลูกในดินร่วน ๆ หรือดินปนทราย รดน้ำอย่าให้ชุ่มนัก
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
ว่านหอยแครง….ว่านที่กลายเป็นว่าหาดูได้ยากเสียแล้ว…
ใครมีต้นเก่า อนุรักษ์ไว้นะครับ…ต้นที่เป็นว่านเล่น “ต้นใหญ่” นะครับ มีทั้งใต้ใบม่วงและเขียวที่ปัจจุบันใครไม่รู้ดันไปให้ชื่อว่า “เป๋าตัง” เสียแล้ว…
ไอ้ต้นเล็กใช้ทางยาได้ครับ สรรพคุณพอได้แต่ไม่จัดเป็นว่าน ชื่อเดิมเขาชื่อว่า “กาบหอยแคระ” เป็นไม้ใหม่ขยายพันธ์เร็วมาก….
.
จุดตัดมันอยู่ที่ขนาดต้นและดอกที่เป็นกาบหอยชัดเจนครับ…คือไอ้ต้นเล็กมันมีแต่ใบไม่ค่อยมีดอก อ้อ..อีกอย่างชื่อเก่าจริงๆเขาชื่อ “หอยแครง” นะครับ ไม่ใช่ “กาบหอยแครง”
อั่งเต็ก (ว่านหอยแครงใหญ่) คนจีนนำใบมาต้มน้ำดื่มแก้ร้อนใน ใส่น้ำตาลกรวดนิดหน่อย เวลาต้มต้องหักใบเล็กน้อยให้ยางมันออก แต่เวลาเด็ดใบ/ล้างต้องระวังเพราะบางคนแพ้จะคัดมากๆ