ว่านหัวน่วม
เป็นว่านที่แพร่หลายและนิยมปลูกกันมากเหมือนกัน แม้จะหาง่ายหน่อย แต่อานุภาพของว่านนี้ก็มีพอตัวทีเดียว ว่านนี้มีเป็น ๒ พันธุ์ ตามเนื้อในหัวของว่าน คือ
(1) ชนิดมีเนื้อในหัวเป็นสีขาว กับ
(2) มีเนื้อในหัวเป็นสีแดง
แต่ทั้ง ๒ ชนิดมีคุณประโยชน์เหมือนกัน
ชนิดที่ 1 Gynura integrifolia (Cagnep)
วงศ์ดาวเรือง (Compositae)
ลักษณะ
ใบคล้ายใบผักกาด ใบมีสีเขียวกว่าใบไม้ทั้งปวง จักเว้าเข้าไปกลางใบ บางทีเว้าเข้าไปมาก บางใบก็น้อยไม่แน่นอน ขนาดของใบมีเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แล้วแต่ความเจริญของลำต้นเป็นเกณฑ์ ขอบใบเป็นสีม่วงอ่อน ๆ หัวกลม ๆ ยาวๆ มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งหัวโตขึ้น ดอกมีสีเหลืองเล็ก ๆ คล้ายดอกดาวเรือง เป็นก้านชูขึ้นมาจากหัวสูงเด่นขึ้นมา คล้ายว่านมหากาฬ ลักษณะพิเศษเมื่อขุดเอาหัวว่านนี้ขึ้นมาจากดิน ทิ้งไว้ ๕-๖ วัน หัวว่านจะนิ่มคล้ายกับจะฝ่อ
ประโยชน์
เป็นว่านอยู่ยงคงกระพันชาตรี คือถ้ามีหัวว่านติดตัวไปด้วย สามารถคุ้มครองกันขวากหนามเขี้ยว เขา นอ งา และกระบอง ยิ่งกินหัวว่านนี้เข้าไปโดยเศกด้วย “นโมพุทธายะ” เสีย ๓ ครั้งก่อนกินด้วยแล้ว จะสามารถต่อสู้กับอริศัตรูจำนวนมากคนได้ โดยมิต้องเสียเลือดเลยแม้แต่สักน้อยนิดเดียว (ว่านนี้กล่าวกันว่า ถูกตีจนหัวน่วมแล้ว ยังไม่แตกสักแผลเลย) ที่นครสวรรค์เรียกว่า ว่านแจง
การปลูก
เป็นว่านปลูกง่าย แพร่พันธุ์ง่าย จึงหาไม่สู้ยาก ระวังแต่เรื่องน้ำอย่ารดให้โชกเท่านั้น
ชนิดที่ 2 Gynura procumbens (merrill)
วงศ์ดาวเรือง (Compositae)
ลักษณะ
คล้ายกับชนิดที่ ๑ ทุกอย่าง เว้นแต่เนื้อในหัวไม่ใช่สีขาว เป็นสีแดงเรื่อ ๆ
ประโยชน์
ใช้เศกด้วย “นะโมพุทธายะ” ๓ หรือ ๗ ครั้งก่อนที่จะกินหัวว่านนี้ เมื่อกินเข้าไป
แล้วจะรู้สึกซ่าไปทั่วทุกขุมขน คงกระพันชาตรียิ่งนัก
การปลูก
เป็นว่านปลูกง่าย ขยายพันธุ์ได้ง่ายมาก ใช้ดินปนทรายหรือดินร่วน ๆ ปลูกก็ขึ้นงอกงามดี ระวังในเรื่องน้ำอย่าให้โชกต้นเท่านั้น
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com