ว่านจ่าว่าน หรือว่านพระยาว่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Curcuma sp.
ชื่อวงศ์
วงศ์ขิง (Zingiberaceae)
ลักษณะ
ต้น, หัวและใบคล้ายขมิ้น ริมใบเขียว เนื้อในหัวเหลืองอ่อน ต้นสีแดง กระดูกใบ[ก้านใบ]แดง
ประโยชน์
เป็นว่านกันและแก้ว่านต่าง ๆ สำหรับใช้แก้เมื่อกินหรือถูกว่านร้าย หรือต้นไม้มีพิษต่าง ๆ ใช้ฝนหัวว่านนี้กินหรือทาจะหายได้ทันที ว่านนี้ถ้าเอาปลูกรวมไว้กับว่านอื่น ๆ ที่ปลูกอยู่ร่วมด้วยนั้นจะกลายเป็นพระยาว่านไปด้วยหมด
การปลูก
ใช้ดินร่วน ๆ ทั้งหมด หรือจะปนกับทรายบ้างก็ได้ เป็นดินปลูก ให้หัวว่านโผล่พ้นดินบ้างเล็กน้อยรดน้ำพอเปียกดินเท่านั้น น้ำที่จะรดควรเศกด้วย “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” จบหนึ่งเสมอ
อนึ่ง ถ้าปลูกว่านนี้ในบริเวณกระถางหนึ่งต่างหากแล้วคงตั้งรวมไว้ในหมู่ว่านคนละชนิดและพวกในบริเวณเดียวกัน ว่านนี้จะมีฤทธิ์ช่วยคุ้มครองบรรดาว่านต่าง ๆ เหล่านั้นให้ทรงสรรพคุณและอิทธิฤทธิ์ให้คงคุณค่าตามสภาพ ธรรมชาติของว่านนั้น ๆ ให้คงที่อยู่เสมอ ไม่เสื่อมถอยอีกด้วย
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com
ว่านกลุ่มจ่าว่าน, พญาว่าน, หรือพระยาว่าน ในปัจจุบัน
ว่านกลุ่มนี้มีอยู่หลายต้นด้วยกัน ด้วยเพราะ
- ตำราแต่ก่อนกล่าวไว้คลุมเครือ ทำให้เกิดอิสระในการแสวงหาต้นที่พอเข้าตำรามาใช้ ประกอบกับว่านนี้เป็นที่หวงแหนมาก ยิ่งหวงแหนก็ยิ่งกลายเป็นมีหลายต้น ต่างคนต่างใช้… แต่ต้นเก่ายุคก่อนผู้เขียนพบว่าล้วนใช้ได้ทั้งสิ้น เพราะคนที่คัดมาใช้ล้วนรู้วิธีคัดว่าน รู้วิธีปรุงว่าน รู้วิธีสืบญาณว่าน ต่างจากยุคปัจจุบันที่ชอบยัดกรุต้นไม้โดยไม่มีชั้นเชิง เช่นเอาไม้นอกบ้าง เอาไม้ป่าไม่เข้าลักษณะจุดตัดสำคัญบ้าง…มายัดกรุ วงการว่านปัจจุบัน (๒๕๖๓ เป็นต้นมา) เลยผิดเพี้ยนดังที่เห็นกัน..
- หนังสือก้อมต่างคนต่างมี ต่างสำนักจะมีว่านท้องถิ่นที่ใช้กัน โดยมีหลักการของแต่ละสำนักที่มีเหตุผล และมีการใช้ได้ผลเป็นเครื่องพิสูจน์ (อันนี้พวกชอบยัดว่านชอบเอาเหตุผลนี้มาอ้างเวลายัดว่านใหม่เข้าไป ซึ่งมันมีวิธีเช็คครับ เช่น ดูสถานที่ ดูสายวิชา ดูประวัติหรืออายุว่าน ดูความนิ่งทางพันธุกรรมของว่าน ตลอดจนเช็คพลังของว่านนั้นซึ่งใช้พื้นฐานจากรรมฐานบ้าง ใช้คาถาบ้าง..เป็นต้น)
จุดตายหลักของว่านกลุ่มพระยาว่าน
จุดสังเกตุจุดหนึ่งของว่านกลุ่มพญาว่านคือ หัวใหญ่ ต้นใหญ่ ตุ้มน้ำเลี้ยงใหญ่ ประมาณว่าหากปลูกรวมไว้กับว่านใดเมื่อนานไป ว่านนั้นจะกลายเป็นพระยาว่านทั้งสิ้น (เหตุคือต้นว่านอื่นโดนพระยาว่านเปียดจนตายเกลี้ยง นี่คำครูสอน … มีกล่าวในตำราสั้นๆ แต่ไม่ได้บอกเหตุผล คนรุ่นหลังไม่รู้เลยนึกว่ามันกลายได้..จริงๆมันตายครับ ในวิชาว่าน หรือวิชาโบราณหลายๆอย่างผมถึงเรียนอย่างถูกต้อง ยกครูเรียน ไม่เรียนฉาบฉวยไม่ยึดติดแต่ตำราโดยไม่มีครูแนะนำ เพราะทริค เคล็ดลับ เหตุผล ต้องต่อจากปากครู…)
ว่านกลุ่มพระยาว่าน ๙ ชนิด
ปัจจุบันเท่าที่ทำข้อมูล และตามพระยาว่านแต่ละสายที่มีสาระจริงๆมา นั้นพบว่ามีว่านกลุ่มนี้ถึง ๙ ชนิดด้วยกัน ได้แก่
๑. จ่าว่าน (พระชนะมาร)
๒. จ่าพระยาว่าน
๓. พระยาว่าน (มหาปราบ ต้นพระยาว่าน)
๔. พระยาว่าน (ขมิ้นทอง)
๕. พระยาว่าน ต้นเขียว
๖. พระยาว่าน เนื้อเขียว (มรกต)
๗. พระยาว่าน เนื้อขาว (นางคำขาว)
๘. พระยาว่าน เนื้อม่วง (คันธมาลาม่วง)
๙. พระยาว่าน ใบเหลือง (พระยาปลาไหลเหลือง)
รายละเอียดจะได้ทยอยๆเขียนข้อมูลลงในเว็บนี้นะครับ…