ว่านกวักนางพญาใหญ่
ลักษณะของ ว่านกวักนางพญาใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eucharis grandiflura (Amaryllidaceae) หัวเหมือนหอมหัวใหญ่ ภายในหัวเป็นกลีบเหมือนหัวหอม ก้านใบยาวมาก ลักษณะก้านหวายผ่าเกือบกลม ใบรูปใบพาย ใบมีความกว้างมากทำให้ดูใบป้อม ปลายใบแหลม โคนใบค่อย ๆ มนสอบติดก้านใบ
พื้นใบเรียบสีเขียวเข้มใบเป็นมัน ปลายใบแหลมมีเส้นตามความยาวของใบน้อยไม่มากนัก ก้านดอกยาวเลยต้น ดอกออกเป็นกลุ่มบานไม่พร้อมกัน ลักษณะดอกทรงกลมประกอบด้วยกลีบดอกสีขาว 6 กลีบ เรียบกลีบซ้อนกันเล็กน้อย ปลายกลีบมนแหลม เกสรมีพังผืดเชื่อมเป็นกรวยสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
ต้นอื่นๆที่คล้ายว่านกวักนางพญาใหญ่
ว่านกลุ่มนี้ มีว่านอีก 3 ต้นที่มีลักษณะคล้ายกันมากคือ
- 1. ว่านกวักพุทธเจ้าหลวง ก้านสั้นกว่า ใบแคบดูเรียวยาวกว่า ริมใบบิดมากกว่า พื้นใบย่น ใบเขียวแกมเหลือง
2. ว่านกวักนางพญามหาเศรษฐี ก้านใบสั้นกว่า ใบแคบดูเรียวยาวกว่า ริมใบบิดน้อยเช่นกัน พื้นใบเรียบสีเขียวเข้มเช่นกัน ดอกบานแข็งใหญ่กว่ามหาโชคแต่เล็กกว่ากวักนางพญาใหญ่
3. ว่านมหาโชค ก้านยาวพอกัน ใบแคบดูเรียวยาวกว่าริมใบบิดน้อยเช่นกัน พื้นใบเรียบสีเขียวเหมือนกัน แต่ใบสีเขียวเข้มหนาเป็นมันกว่าต้นอื่น ร่องใบลึก ดอกเล็กงุ้มบานไม่เต็มที่และออกดอกยากกว่าต้นอื่น
ว่าน “กวักนางพญาใหญ่” มีกล่าวในตำราว่านเก่า ได้แก่
- “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น หน้า ๒
- “กบิลว่าน ๑๐๘” โดย สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร หน้า ๑๔
ข้อมูลลักษณะจากตำราเก่า ๒ เล่มข้างต้น
ตามตำราได้บรรยายลักษณะโดยรวมว่า ใบสีเขียวจัด เป็นมันคล้ายใบผักตบชวา แต่มีขนาดใหญ่กว่าใบผักตบชวามาก ช่อก้านเขียวเป็นมัน อาจยาวได้ถึง ๑ เมตร ดอกมีสีขาว หัวคล้ายหัวหอมใหญ่ สรรพคุณ เลี้ยงไว้ทำให้เกิดโชคลาภ เป็นศิริมงคล เมตตามหานิยม ว่านนี้ มีอีกชื่อคือ “กวักนกกระยาง” [ปีกคือใบใหญ่ คอคือก้านใบยาวดั่งนกกระยาง]
ต้นนี้ความจริงเป็นไม้เมืองนอกแต่เข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว การที่ใบมีสีเขียว และเป็นพืชอวบน้ำ เมื่อให้น้ำตลอดจะไม่ลงหัว เมื่อปลูกไว้จะดูสดชื่นมีสง่าราศี ความเชื่อที่บ่มเพาะกันเป็นเวลานาน จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ไม้นอกตัวนี้เลื่อนเข้าสู่ชั้น “ว่าน” โดยปริยาย เพราะความจริง คำว่าว่านที่นำหน้าต้นไม้นั้น เป็นการให้ยศให้ตำแหน่งพืชที่มีความพิเศษโดดเด่นบางประการ บ้างก็ในทางความเชื่อ บ้างก็ในทางยา นี่คือลูกเล่นและความแยบคายของโบราณเขาครับ
ว่านชนิดนี้ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกมี ๖ กลีบลักษณะเด่นชัดที่แยกว่านตัวนี้คือ ต้นจะมีขนาดใหญ่สุดในกลุ่ม โดยการแยกนั้นควรแยกที่การปลูกอย่างน้อยแล้ว ๒ ปีขึ้นไปจึงจะแยกได้ชัดเจน ใบของกวักนางพญาใหญ่จะมีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ ในขณะที่ต้นอื่นๆจะเล็กกว่าฝ่ามือ และใบของกวักนางพญาใหญ่จะมีขนาดใหญ่จนทำให้หูใบชิดกัน และด้วยใบที่ใหญ่นี้เอง จึงมองดูคล้ายกับปีกนกกระยาง จึงได้มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “กวักนกกระยาง” และถึงแม้ตำราจะบอกว่าใบสีเขียวจัดก็ตาม แต่กวักนางพญาใหญ่นี้สีเข้มไม่สู้มหาโชคหรือแม้แต่กวักนางพญาเล็ก สีใบจะดูเขียวด้านๆไม่เขียวและมันเท่าตัวอื่น
สรรพคุณ
เป็นว่านเมตตาตามหานิยมอย่างสูง ปลูกเลี้ยงไว้จะเป็นศิริมงคล กระทำการสิ่งใดย่อมเหนือกว่าผู้อื่น ตลอดจนส่งเสริมด้านการค้าขาย
การปลูก
ปลูกด้วยดินปนทราย รดน้ำพอควรจัดวางกระถางว่านให้ได้รับแสงแดดบ้างเพียงรำไร เสกน้ำรดด้วยคาถา มหาลาโภ โหตุ ภวัน ตุเม 3 จบทุกครั้ง