ว่านมหากวัก
ลักษณะ
ใบและสีของใบเหมือนใบขมิ้น แต่เล็กกว่าใบขมิ้น หัวแยกออกด้วยการแทงหน่อขึ้นที่กาบของต้น เมื่อหน่อยาวพ้นกาบแล้วจะกลับงอคดลงดินไปอีก แล้วจึงจะงอขึ้นพ้นดินใหม่อีกหนหนึ่ง แตกต้นใบแยกออกจากต้นเดิม เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป
ประโยชน์
ปลูกไว้กับบ้านเป็นศิริมงคล ส่งเสริมกิจการงานภายในบ้านให้เจริญก้าวหน้า
ยิ่ง ๆ ขึ้น เป็นเสน่ห์มหานิยม ถ้าปลูกไว้ที่ร้านค้า ทำให้ค้าขายเจริญคล่องดี ยิ่งเอาน้ำใส่ขันตั้งไว้
เอาเงินและทองรูปพรรณแช่ลงไว้ในน้ำ จุดธูปเทียนประกอบด้วยดอกไม้ ๗ สี บูชาพร้อมกับเศกน้ำ ด้วย “นะโมพุทธายะ” ๗ อึดใจ แล้วนำน้ำในขันนี้มาประพรมให้ทั่วรอบ ๆ บริเวณต้นว่าน แล้วจึงขุดเอาหัวว่านที่แก่เต็มที่ แล้วมาแกะเป็นรูปเทพอับศรในลักษณะนางกวักเสร็จ แล้วนำรูปที่แกะใส่พาน เอาน้ำมันจันทน์ ใส่ให้ท่วมเพียงครึ่งตัว แล้วนำเข้าสู่ที่สงัดบริกรรม ปลุกเศกด้วย “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” จนปรากฎว่านางฟ้าว่านที่แกะนั้นลอยขึ้นพ้นหรือบนน้ำมัน แล้วเคลื่อนตัวหมุนไปรอบ ๆ พานได้เอง เพราะอภินิหารของว่านทำให้เป็นไป นับว่าประสิทธิผลและ (โดยมากมักเศกคาถาอยู่ถึง ๑๐๘ คาบจึงจะได้ผล) ไปในที่ใด ๆ นำนางเทพอับศรติดตัวไปด้วย หรือเพียงแต่เอาน้ำมันจันทน์นั้นทาที่หน้าผาก ใคร ๆ ได้พบเห็นเราย่อมมีจิตเมตตารักใคร่สงสารตัวเราโดยมาก และว่านนี้ยังมีอานุภาพเป็นคงกระพันชาตรี และ ณ จังงังล่องหนหายตัวได้อีกด้วย ตามแต่จะนึกปรารถนาเอาเถิด
การปลูก
ต้องระมัดระวังในเรื่องความสกปรกและโสมมลามกต่าง ๆ ให้มาก เพราะว่านนี้ท่านเชื่อกันว่ามีเทวดารักษา ดินที่ใช้ปลูกควรเป็นดินเผาไฟแล้วทุบแหลกละเอียด เอากลบหัวว่านเป็นดินปลูก น้ำที่รดต้องเศกด้วย “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” เสียก่อนจึงนำมารด
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com