ว่านนิลพัตร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Byophyllum pinnatum ( Kurz )
ชื่อวงศ์
วงศ์ (Crassulaceae)
ลักษณะ
เป็นไม้เล็ก ๆ ใบหนาพวกฆ้องสามย่าน จักรนารายน์หรือใบหูเสือ ใบกลมหนาและแข็งโตประมาณ ๕-๖ ซม. ตามริมใบเป็นจักรอบ ๆ ใบ ลำต้นอวบแข็งสีแดง ตามขอบใบโดยรอบสีแดงเข้ม ออกดอกชูก้านขึ้น สูงเช่นดอกมหากาฬ หรือจักรนารายณ์ มีลูกกลมและยาวสีแดง เรื่อๆ คล้ายลูกหิงหาย ภายในพองโตมีลมอยู่ในลูก ใบแก่ที่ล่วงหล่นลงแล้ว ถ้าคว่ำอยู่ก็จะเหี่ยวแห้งไป ถ้าหงายอยู่ก็จะงอกรากและแตกลำต้นได้ใหม่อีก ตามสวนยาจีนมีปลูกไว้ทุกแห่ง หัวกลมเมื่อฝานออกถูกแดดจะมีพรายปรอท
ประโยชน์
แพทย์ตามชนบทใช้ใบว่านนี้ตำโขลกให้ละเอียดจะมีเมือกเหมือนกัน ใช้ปิดพอกฝี แก้ปวดแก้อักเสบฟกบวม เป็นยาถอนพิษได้ดีมาก น้ำคั้นจากใบสดผสมกับการบูรทาถูนวด แก้เคล็ด แก้ขัดแพลง แก้กล้ามเนื้ออักเสบ คนจีนนิยมใช้มากกว่าคนไทย
ถ้าจะต้องการให้เป็นคงกระพันชาตรี ให้เอาหัวว่านมากิน โดยก่อนกินเศกด้วย “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” เสีย ๓ หรือ ๗ ครั้ง ก่อนจึงกินหัวว่าน หรือเอาทาตัว เนื้อหนังจะชาไปทั้งตัว เป็นมหามึนซึม ฟันแทงทุบตีสักเท่าใดก็มิเจ็บ ทั้งมีกำลังมาก ถ้าฝนทามือแล้วใช้มือไปชกถูกใครเข้า ผู้นั้นจะเจ็บปวด ยกมือยกเท้ามิขึ้น ถ้าทาแข้งไก่ชน อีกฝ่ายจะแพ้ไปเองเลย แม้ไปในที่ใด ๆ ถึงผู้คนอีกฝ่ายจะมากกว่ามาก ก็จะทำร้ายเราหาได้ไม่ ว่านนี้สามารถป้องกันสาตราวุธมีคมทั้งปวง ถ้าฝนทาตัวสามารถนอนบนไฟก็ได้ ไม่เจ็บร้อนปวดแสบปวดร้อนเลย ยิ่งกินหัวว่านนี้เข้าไปด้วย สามารถแบกหามชักรากไม้ได้ตลอดไป โดยไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อนึกจะทำการใด ๆ เป็นผลสำเร็จดีสิ้นทุกอย่าง
ชื่อที่เรียกกัน
ว่านนิลพัตร, นิลพัต, นิลาปัต, ฆ้องสามย่านตัวผู้, เพลาะแพละ, ว่านไฟ, คว่ำตายหงายเป็น จีนเรียกคามักเช้าหรือโลตี้แช
การปลูก
ใช้ดินเผาไฟแล้วทุบให้ละเอียด เอาใบหงายไว้บนดิน กลบตอนโคน ใบไม่ให้เคลื่อนที่เมื่อถูกลมพัด รดน้ำพอชุ่ม ไม่กี่วันก็จะงอกรากแตกต้นขึ้นใหม่เอง
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com