ว่านเพ็ชรหึง
ว่านชื่อนี้ในปัจจุบันนี้ มีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกันคือ
(1) Grammatophyllum speciosum (Blume)
วงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae)
ลักษณะ
เป็นกล้วยไม้คล้ายต้นอ้อย ขึ้นอยู่ตามต้นตาลหรือต้นไม้สูง ๆ ในป่า ลำต้นโตสีเหลือง มีปล้องคาดเป็นเส้นดำ ๆ คล้ายเส้นเชือก คาดที่ท้องของลำต้นเป็นปล้องถี่ ๆ มองดูคล้ายท้องงูเห่าหืองูจงอาง ต้นงาม ๆ ยาวประมาณ ๒ ฟุต ไม่มีกิ่งก้านสาขา แต่ขึ้นเป็นกอ คล้ายพวกหวายตะมอย กอหนึ่ง ๆ มีตั้งหลายต้น มีใบเล็ก ๆ ยาว ๆ ปลายใบมนขึ้นแซมตามยอดบ้าง ต้นละเล็กน้อยไม่กี่ใบ มีดอกออกมาเป็นช่องามดีมาก ออกดอกทางปลายยอด ถ้าจะแตกกิ่งใหม่ มันจะแตกตามตาที่โคนต้นเสมอ ตามตำรารุ่นเก่า ๆ ว่า เมื่อมีดอก และดอกแก่เข้าก้านดอกจะส่ายไปมาได้คล้ายงูโยกหัว ต่อเมื่อมีลมพายุใหญ่พัดมา จะมีเสียงดังคล้ายจุดประทัด แล้วดอกจะหลุดหายไปพร้อมกับพายุ ซึ่งลมชนิดนี้มีชื่อเรียกว่าลมเพ็ชรหึง
ประโยชน์ทางยา
แพทย์ตามชนบทว่าเคยใช้ลำต้นฝนกับสุราเอาน้ำกิน เอากากพอกปากแผลถอนพิษงูกัดดีนัก และยังใช้ถอนพิษตะขาบ แมลงป่องกัดต่อยได้อีกด้วย ถ้าฝนกับน้ำซาวข้าวทาบริเวณฝี ดับพิษฝีทั้งปวงได้อีกด้วย โดยเป็นยาเย็นดับพิษร้อนของฝีนั่นเอง เอาลำต้นกับก้านหั่นบาง ๆ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วใส่โหลดองกับสุราไว้กินเป็นยาขับลมในลำไส้ได้ดีนัก ทั้งบำรุงกำลังอีกด้วย หากสามารถกินเป็นประจำทุก ๆ วันแล้วจะทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่อาจเข้ามาเยี่ยมกรายได้เลย เป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย
การปลูก
ใช้ลำต้นที่มีรากปลูกเหมือนการปลูกกล้วยไม้ จะปลูกในกระเช้าก็ใช้ได้
(2) ชื่อที่เรียกกัน เพ็ชรหึง, ว่านเพ็ชรหึง, กะตะพะขะนาย, ว่านงูเหลือม
เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ ใบสีเขียวแก่ ยาวโตคล้ายใบชุมมะเลียง ตามใบมีจุดสีเหลืองแก่ เถาเหนียวมีจุดแดงเรียงรายไปตามเถาเหมือนลายตุ๊กแก เถาอ่อนนิ่มเหมือนตัวงู ชอบต่ายเกาะอยู่บนต้นไม้ในป่าสูง ๆ มีมากบนเขาสระบาป ด้านทางบ้านอ่างจันทบุรี เมื่อมีดอกแล้วมีอานุภาพมาก ดอกมีลักษณะคล้ายหัวงู มีการไหวตัวและส่ายไปมาได้ เมื่อดอกแก่จัดจวนหลุดออกจากต้นจะเกิดเป็นพายุใหญ่พัดมาอย่างแรง เรียกว่าลมเพ็ชรหึง ว่านนี้ขณะแก่ลัดจวนดอกหลุดออกจากต้นนั้น มีพิษร้ายมากถึงกับฉกถูกคนทำให้ถึงตายได้
ประโยชน์
มีคุณใช้เป็นยาฆ่าปรอทให้ตายเป็นกายสิทธิ์ เมื่อจะทำให้เอาปรอทใส่ปลายรอก ให้ดอกว่านฉกและแทงลงไปถูกปรอท ทำอย่างนี้หลาย ๆ ครั้งจนกระทั่งปรอทเกิดแข็งขึ้นเพราะฤทธิ์ว่านไปทำให้เป็นไป ประโยชน์ทางยา ถ้าเอาหัวว่านนี้มากินจะมีกำลังมาก นัยว่ามีเท่ากับกำลัง ๗ ช้างสารทีเดียว
ตามสรรพคุณโบราณว่า เถาเพ็ชรหึงมีรสร้อน ขื่นเล็กน้อย แก้ท้องอืด ท้องขึ้นเฟ้อ แก้แน่น กับผายลม แก้ไข้สั่นเรื้อรังจนตับโตม้ามย้อย ทำให้เป็นไส้พองท้องใหญ่
การปลูก
ใช้ดินร่วน ๆ จะปนทรายบ้างเล็กน้อยเป็นดินปลูกก็ได้ โดยอย่ากลบหัวว่านให้มิด และกดดินข้าง ๆ หัวอย่าให้แน่นมาก เพื่อจะได้แทงรากและหน่อใหม่สะดวก รดน้ำพอชุ่มเท่านั้น
(3) ต้นและใบคล้ายขมิ้นอ้อย ต้นเขียว ใบก็เขียว หลังใบเป็นขนคาย เนื้อในหัวมีสีขาว มีรสฉุนร้อน
ประโยชน์
กินแก้ลมอันบังเกิดให้จุกเสียดแน่น ทำให้หายได้เพราะไปทำหน้าที่ขับผายลมออกมา
การปลูก
ใช้ดินร่วน ๆ เป็นดินปลูก โดยเอากลบหัวว่านพอมิด แล้วใช้น้ำรดพอดินเปียกชื้นเท่านั้นเป็นใช้ได้
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com