ว่านพังพอน (ยะลา)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tacca chantrieri (Andre)
ชื่อวงศ์
วงศ์ว่านพังพอน (Taecaceae)
ลักษณะ
ใบเป็นรูปหอกรี ๆ ปลายเสี้ยมแหลม ก้นใบมน ๆ หรือป้านจดก้านใบไม่เท่ากัน ยาวราว ๑๕–๒๐ นิ้ว กว้าง ๔-๖ นิ้ว ก้านใบยาว ๘–๑๒ นิ้ว ขึ้นเป็นกอเง่าอวบ ช่อดอกสั้นกว่าใบมีเพียงราว ๆ ๒๐ ดอก ดอกสีม่วงดำ ใหญ่ราว ๑.๕ นิ้ว ก้านดอก ๖ เหลี่ยม ในระหว่างดอกมีหนวดยาว ๆ สีม่วงดำมากเส้น กลีบรองช่อดอกมี ๔ กลีบ สองกลีบนอกสีม่วงดำรูปไข่รีปลายเสี้ยมแหลมยาวราว ๕ นิ้ว กว้าง ๑.๕ นิ้ว สองกลีบในสีเช่นเดียวกัน รูปหน้าจั่วเบี้ยว ๆ ก้นเว้าลึก ยาวราว ๔ นิ้ว กว้างราว ๓ นิ้ว
ประโยชน์
เง่าเข้ายาทรางเด็ก แก้ไข้ แก้ลิ้นคอเปื่อย แก้ไอ แก้ปวด เข้ายาเจริญอาหาร และรักษาธาตุพิการ เป็นยาสำหรับสัตว์ พวกม้าและช้างกิน ทำให้อ้วน และป้องกันโรคของสัตว์ต่างๆได้
ชื่อที่เรียกกัน
ดีงูหว้า (พายับ)
การปลูก
ใช้เง่าปลูก โดยเอาดินร่วน ๆ กลบพอมิด แล้วรดน้ำพอชื้น ไม่ต้องกดดินให้แน่นในตอนแรก ๆ เมื่อรดน้ำหลาย ๆ วันต่อมา ดินที่กลบจะค่อย ๆ แน่นลงไปเอง จึงเอาดินมาเติมอีกนิดหน่อย
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com