ว่านพระนารายณ์
ว่านนี้เป็นว่านคู่กับว่านพระมเหศวร เหมือนอย่างว่านพระอาทิตย์คู่กับว่านพระจันทร์ ถ้าได้ปลูกเอาไว้คู่กันแล้วท่านว่าประเสริฐนัก จะทำการอย่างใดมักได้สมดังมโนรสปรารถนาทุกประการทีเดียว
ลักษณะ
หัวว่านคล้ายกับหัวหอม แต่เนื้อในมีสีขาว ก้านกับใบเขียวครีบแดง ลำต้นขึ้นตรงขึ้นไป และมักจะออกดอกในราวเพ็ญเดือน ๑๐ หรือเดือน ๑๑ เป็นอย่างช้า ดอกสีแดงสด ดังดอกหงอนไก่ มีกลิ่นหอมน้อย ๆ พอชื่นใจ
ประโยชน์
คล้ายว่านพระมเหศวร เพราะเป็นว่านชั้นเดียวกัน เมื่อเวลาจะขุดเอาว่านนี้มาต้องนุ่งเหลือง ถือศีล ๕ ศีล ๘ และบูชาเทพารักษ์ด้วยเครื่องกระยาบวช และเอาเพรชนิลจินดาเรียงรายให้รอบโคนต้นว่านนี้ แล้วเศกด้วยคาถา “กุมะนะจันทระ โคระตะธาตุ รุคะกะ กะตะตัสสะพะวะ ไกยะ ประสิทธิเม” เสร็จแล้วจึงขุดเอาหัวว่านมาตากแดดให้แห้ง จงบูชาทุกวันจนถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ จึงเอาหัวว่านมาแกะเป็นรูปพระนารายณ์ ๔ กร มือขวาบนถือดอกบัว มือขวาล่างถือสังข์ มือซ้ายบนถือจักร มือซ้ายล่างถือตรี แล้วเศกด้วยมนต์นี้ให้ได้ ๑๐๐๐ คาบ คือ “โอม นะรายยะ เทวสังสิฤทธิ์ เตชะ ชัยยังกะโร โหติ ริทิริ ริทินะ ตะราจะ มหามันตะ ละมุวาส วาอิเม” พอเศกเสร็จเอารูปที่แกะใส่ตลับทองใส่ผ้าโพกหัวไปแห่งใดด้วย เทพยดาย่อมรักษา เป็นเสน่ห์ต่อเทวดาและมนุษย์ ศัตรูทำร้ายมิได้เลย และเป็น ณ จังงัง ไม่มีศัตรูทำร้ายอย่างใดได้ด้วย
อีกตำราหนึ่งให้เอาหัวว่านมาแกะเป็นองค์พระ แล้วลงด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” กำกับด้วยการเศกพระเจ้าห้าพระองค์ คือ “นโมพุทธายะ” นั่นเองอีก ๑๐๘ ครั้ง แล้วเอาตากไว้กลางแจ้ง บูชาทุกวัน ๆ เวลาจะไปไหนเอาติดตัวไปด้วย จะทำให้ผู้พบเห็นหรือผู้ที่ติดต่อกับเราเกิดเมตตารักใคร่ หาคนคิดร้ายต่อเรามิได้ ทั้งนี้ด้วยเทวดามีรักษาตัวเราอยู่ตลอดเวลา
การปลูก
ต้องระมัดระวังในเรื่องสิ่งปฏิกูลสกปรกโสมมต่าง ๆ อย่าให้กรายว่านนี้เป็นอันขาด เพราะว่านชั้นดีโดยมากมักมีเทวดารักษา เวลารดน้ำเศกด้วย “นะโมพุทธายะ” รวม ๓ ครั้ง ทุกคราว หรือจะใช้ “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” เศกก็ได้เหมือนกัน
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com