ว่านเสน่ห์จันทน์มหาโพธิ์
Homalomena sp. วงศ์บอน (Araceae)
ว่านนี้นิยมเล่นกันเป็นคราว ๆ ในประวัติศาสตร์สมัยพระนครศรีอยุธยา ยังเป็นราชธานีก็นิยมเล่นมากในสมัยขุนวรวงษาธิราชหนหนึ่ง ต่อมาในสมัยพระนารายณ์มหาราชอีกครั้งหนึ่ง ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้นิยมเสาะหาว่านนี้กันอยู่เสมอ เว้นแต่หายากสักหน่อย และราคาก็ออกจะแพง
ลักษณะ
ต้นคล้ายอุตพิต ก้านใบก็เหมือนอุตพิต ส่วนใบนั้นเหมือนใบโพธิ์ หรือคล้ายใบหน้าวัว เว้นแต่มีใบใหญ่กว่ามาก ยิ่งเป็นต้นที่เจริญงอกงามดี ใบจะยิ่งใหญ่กว่าหลายเท่า ท้องใบนวลขาว หน้าใบมีสีเขียวอ่อน กระดูกใบเป็นสีขาว ยอดเหมือนพลับพลึง ว่านนี้มีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นจันทน์ และหอมหมดทุกส่วนไม่ว่าที่ใบ ที่ก้าน ที่หัวหรือที่ราก ทั้งมีกลิ่นหอมแรงกว่าพวกว่านเสน่ห์จันทน์ทั้งปวงหมด หัวมีครีบ และถ้าหมั่นสังเกตอยู่เสมอ จะแลเห็นว่าว่านนี้จะแตกเป็นปลีเป็นแท่งยาวออกมา ก่อนที่จะแตกเป็นใบจากตามก้านใบที่หลุดไป เกิดเป็นหน่ออ่อนขึ้นตามข้างหัว ดอกมีลักษณะคล้ายดอกจำปีตูม
ประโยชน์
เมื่อเวลาจะขุดเอาว่านนี้มาให้เศกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” เสีย ๓ จบหรือ ๘ จบแล้วรดน้ำที่เศกรอบต้น และประพรมน้ำที่เศกนี้ให้ทั่วหมด แล้วเย็บกระทง ๓ มุมใส่หมาก ๓ คำ เบี้ย ๓ เบี้ย กุ้งพล่าปลายำปัดพลีแล้วจึงขุดเอาหัวว่านมา แกะหัวว่านเป็นรูปเบี้ย ๕ ถึง ๘ เบี้ย ใส่ในขันเอาน้ำมันจันทน์ใส่ให้ท่วม แล้วเศกด้วยคาถา “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” ให้ได้ ๑๐๐๐ คาบ โดยทำบายศรีซ้ายขวาและเศกในโบสถ์ถือความสัตย์และต้องจำศีล ๕ ศีล ๘ เศกน้ำชำระตัว ๓ วัน ให้หมดมลทินโทษทั้งปวง แล้วจึงเอาข้าวใส่มือเศกเบี้ยนั้นทักษิณาวัตรรอบปากขัน เสร็จแล้วจึงเอาเบี้ยนั้นไปเล่นการพนันด้วย ท่านว่าการพนันที่เล่นนั้นไม่มีเสีย มีแต่ได้เสมอ เพราะอานุภาพของว่านที่เป็นเสน่ห์มหานิยม
ถ้าจะให้เป็นเสน่ห์หรือเป็นที่รักของชายหญิง ให้เอาหัวว่านมาแกะเป็นรูปพระใส่ลงในขันสำริด เอาน้ำมันจันทน์ใส่ลงเศกด้วย “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” จนครบ ๑๐๐๐ คาบ แล้วเศกซ้ำด้วย “นะโมพุทธายะ” อีก ๑๐๐๐ คาบ จนกระทั่งน้ำนั้นเดือดขึ้นมา ให้เอารูปพระประทักษิณให้รอบปากขัน แล้วจึงเอาน้ำนั้นทาหน้าผาก จะไปสารทิศใดท้าวพระยาอำมาตย์ลูกหลวงทั้งปวงตลอดจนหญิงชายสมณะพราหมณ์ชีทุกผู้จะรักใคร่เราเสมอเหมือนเป็นบุตรโดยแท้ จะปรารถนาสิ่งใด ๆ ก็จะได้สมดับปรารถนาไว้ทุกประการหมด กลิ่นน้ำมันหอมไปถึงไหนเขาก็จะเมตตาเอ็นดูรักใคร่เราถึงนั่นทุกแห่ง ถ้าเอาน้ำมันทาตัวให้ทั่วจะเป็น ณ จังงังและคงกระพันชาตรี ฟันแทงมิถูกเลย และจะจับตัวก็มิอยู่ ลื่นรอดไปหมด
ถ้าเอาน้ำมันใส่หัวและมือแล้วไปกระทำกิจการใด ก็จะสำเร็จ ยิ่งเชิญรูปพระเข้าห่อผ้าโพกหัว เอาน้ำมันทากระหม่อม ทาหน้าผาก บริกรรมด้วยคาถา “นะโมพุททธายะ” จะเป็น ณ จังงังและหายตัวไปไม่มีใครเข้าจับเราได้เลย
การปลูก
ใช้เอาอิฐเข้าเผาไฟ แล้วทุบให้แหลกละเอียดแล้วเอาทิ้งตากน้ำค้างไว้คืนหนึ่ง แล้วเอามาเป็นดินปลูก เมื่อล้างกระถางที่จะปลูกสะอาดดีแล้วจึงเอาดินใส่ลงไปครึ่งกระถาง เอาหัวว่านวางต่อมา แล้วเอาดินที่เตรียมนี้กลบหัวว่านพอมิดหัว หรือมีหัวพอโผล่พ้นดินขึ้นมานิดหน่อย แล้วจึงเศกน้ำด้วย “นะโมพุทธายะ” ๓ จบ เอามารดพอให้ดินเปียกชุ่มทั่วกัน ไม่ต้องกดที่ปลูกให้แน่น เมื่อว่านขึ้นงอกงามดีแล้ว จึงนำกระถางไปตั้งที่เย็น ๆ ใต้ร่มไม้ พอให้มีแสงแดดส่องถึงถูกบ้างเพียงรำไร ว่านนี้ไม่มีการโทรมเหมือนว่านอื่น ๆ ทรงตัวอยู่ได้ตลอดปี
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com