ว่านแสงทอง
ว่านนี้เป็นว่านหายาก นิยมเล่นกันมานานหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่สมัยพระนครศรีอยุธยายังเป็นราชธานีอยู่ด้วยซ้ำ แต่ไม่อาจกำหนดแน่นอนว่า ในสมัยรัชกาลพระราชาพระองค์ใดเท่านั้น ในปัจจุบันพบมีมากทางอำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์
ลักษณะ
ใบคล้ายใบน้ำเต้า มีสีเขียว แต่ก้านแดง ดังสีปากนกแขกเต้า ลำต้นแตกออกเป็นกอ ๆ มีหัวคล้ายหัวหอมขนาดใหญ่ ผ่าหัวออกเนื้อในเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ไม่สู้มียาง
ประโยชน์
ให้เอาหัวมาแกะเป็นรูปพระพุทธรูป แล้วเศกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ นะเมตตา โมกรุณา พุทธะปราณี ธายินดี ยะเอนดู ผู้ใดเห็นหน้ากู นะเมตตา สีติพระสีวาจา มหาเถโร ลาภะลาภัง เวทนานัง นะเมตตา โอมสวาหะ ประสิทธิเม” ให้ครบ ๑๐๘ คาบ แล้วจึงเอาองค์พระติดตัวไปไหน ๆ ด้วย ใครเห็นนิยมยินดียิ่งนัก เป็นเมตตามหานิยมยิ่งนัก
ให้เอาหัวว่านมาแกะเป็นรูปพระพิมายกอดท้อง แล้วลงอักขระ “นะ” ไว้ที่สูง “กะ” ไว้ที่หน้าผาก “ผะ” ไว้ที่จมูก “มะ” ไว้ที่ปาก “ภะ” ไว้ที่คอ “ละ” ไว้ที่ท้อง ลงเลข ๖ ไว้ข้างบน และลงเลข ๗ ตัวรายไว้ให้รอบตัวพระพิมายนั้น แล้วใช้คาถาต่อไปนี้เศกให้ครบ ๑๐๐๐ คาบคือ “อมมหากะถายะ นะอะสะอะ คะภะวะตะ เวตะกุสสะ มหาเตชา มะหายะโส นะภาโว สะหะวาหะ” แล้วจึงเอารูปพระพิมายนี้ไปด้วย ใครเห็นใครรักใคร่เมตตา เป็นทั้งมหาเสน่ห์และมหานิยมดีแท้
อีกตำราหนึ่งกล่าวว่า เอาหัวว่านนี้ติดตัวไปไหน ๆ ด้วยเป็นเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี เวลาจะใช้ให้คงทนต้องเศกด้วยคาถาว่า “มะอะอุ นะโมพุทธายะ พุทธะสังมิ นะชาลีติ อิสะวาสุ” ว่าให้ได้ ๗ คาบ แล้วตั้งความปรารถนาว่าจะใช้ในทางใด ก็จะได้สมความปรารถนาทุกอย่าง
การปลูก
ใช้ดินร่วน ๆ ปลูก หรือจะมีทรายปนบ้างก็ได้ อย่ากดดินให้แน่นหัว เวลาจะรดน้ำต้องเศกน้ำด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” ๓ จบก่อนเสมอ
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com