ว่านตีนตะขาบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nephrolepis acuta (Presl) var furcans (Hort)
ชื่อวงศ์
วงศ์กูดผี (Polypodiaceae)
ชื่อที่เรียกต้น
ต้นตีนตะขาบ, ตะขาบ, พิษตะขาบ, เฟินตีนตะขาบ
ลักษณะ
เป็นไม้เล็ก ๆ ลำต้นเป็นปล้อง ๆ และมีใบออกติดกันเป็นปีกสองข้างจากโคนต้นถึงยอด คล้ายตะขาบจริง ๆ ลำต้นกลมโต ขนาดหางหนูมะพร้าวอ่อน เมื่อต้นสูงขึ้นก็จะกลายเป็นไม้เลื้อยไป ต้นยาวประมาณ ๗ ถึง ๑๐ นิ้ว ต้นและใบสีเขียวเข้ม เป็นต้นไม้ที่มีผู้ปลูกใส่กระถางไว้ดูเล่นสวย ๆ คนจีนนิยมปลูกกันมาก มีตามบ้านและสวนยาจีนทั่ว ๆ ไป ในกรุงเทพ ฯ หาไม่สู้ยากนัก
ประโยชน์ทางยา
แพทย์โบราณของจีนใช้ต้นและใบสด ๆ ผสมกับเหล้าเอาน้ำทา เอากากพอกเป็นยาถอนพิษตะขาบ, แมลงป่อง แก้ฟกบวมยอกเคล็ดได้ดี
แพทย์ตามชนบทนับถืออย่างแน่นอนว่า ใช้ต้นและใบสด ๆ ตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าหยอดหู แก้หูเป็นน้ำหนวก เพียงหยอดสองหรือสามครั้งเท่านั้นจะแห้งหาย ดีกว่ายาชนิดอื่นใดทั้งสิ้น
ข้อที่ควรรู้ คือ ชื่อต้นตีนตะขาบนี้มีต้นไม้หลายชนิดนัก บ้างเป็นใบแบนบางแผ่ บ้างเป็นต้นตั้งตรงก็มี แต่ละชนิดมีลักษณะคล้ายตะขาบทั้งสิ้น ฉะนั้นควรเลือกตามลักษณะข้างต้น
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com