ว่านเถารางจืด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Thunbergia laurifolia (Lindl)
ชื่อวงศ์
วงศ์เหงือกปลาหมอ (Acanthaceae)
ลักษณะ
เป็นไม้เถาโตขนาดนิ้วมือหรือถ้าเจริญเต็มที่เท่าหัวแม่มือก็มี ตามเถามีข้อและมีปล้องยาว ๆ มีใบแตกขึ้นตามข้อของเถาข้อละ ๒ ใบ เป็นเถายาว เลื้อยพันตามต้นไม้ ผิวของเถาสีเขียว ใบสีเขียวเป็นรูปไข่ ริมใบเรียบ สุดปลายใบแหลม ใบยาว ๕.๕ ซม. ถึง ๑๖ ซม. กว้าง ๓ ซม. ถึง ๗.๕ ซม. ก้านใบยาว ๑.๒ ซม. ถึง ๓ ซม. ใบคล้ายใบมลิเถา คล้ายเถาย่านาง เมื่อขึ้นตามต้นไม้ต้นใด ผลของต้นไม้นั้น ๆ พลอยจืดชืดไปด้วย
ประโยชน์ทางยา
รสเย็นรู้ถอนพิษและถอนยาเบื่อเมาต่าง ๆ ในการแก้พิษเบื่อเมาทุกอย่างนั้น ใช้หัวของไม้นี้ซึ่งมีอยู่ใต้ดิน โคนต้นเอาไปผสมกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามสมควรก็จะทำให้สิ่งที่ผสมด้วยนั้นมีรสจืดชืด ไร้คุณค่าไปหมด เช่นผสมกับเกลือทำให้เกลือจืด ผสมน้ำตาลน้ำตาลจืด ผสมเหล้าทำให้เหล้าจืดกินแล้วไม่เมา ผสมน้ำส้มทำให้น้ำส้มจืด ถึงเอาไปผสมกับของอย่างอื่นก็จะทำให้ของนั้นพลอยมีรสจืดตามไม้นี้ไปด้วยเช่นเดียวกัน
สรรพคุณของไม้นี้ แก้ยาเบื่อยาสั่ง ยาพิษ ถอนยาได้ทุกชนิด โดยเอาหัวมาฝนผสมกับน้ำซาวข้าวกินเพียง ๕ นาทีเท่านั้น ก็จะหายจากพิษต่าง ๆ เช่น ไข้ผิดสำแดง หรือจะกินเพื่อถอนพิษไข้ ใช้หัวฝนกับน้ำซาวข้าวกิน สำหรับแก้พิษสัตว์กัดต่อย เช่น แก้พิษงู, หมาบ้ากัด, แมลงป่องตะขาบ, ปลาดุกยัก ปลากระเบนแทง หรือพวกผีหัวดาว หัวเดือน ปรวด ตะมอย ฝี ๑๐๘ อย่าง ให้เอาแต่เพียงใบสัก ๓ ใบมาโขลกให้ละเอียด ใช้น้ำสุกหรือน้ำซาวข้าวเป็นกระสายพอค่น ๆ เอาพอกที่ตรงบาดแผลหรือฝีต่าง ๆ นั้นจะทำให้หายปวด และแก้พิษได้ในทันที ไม้นี้เป็นของหายาก เมื่อพบเห็นแล้วให้นำมาปลูกไว้ในบ้านเรือน ท่านตีค่าไว้ถึง ๕๐๐๐ ตำลึงทองทีเดียว
การปลูก
ใช้ปลูกด้วยหัว หรือจะใช้ทาบกิ่ง พอมีรากงอกก็แยกปลูกใหม่ก็ได้ หรือจะรอให้ดอกร่วงมีเมล็ดนำเอามาเพาะก็ได้เหมือนกัน
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com