ว่านไฟ
Zingiber cassumunar (Roxb) วงศ์ขิง (Zingiberaceae)
ลักษณะ
ใบเล็กยาวปลายใบแหลมคล้ายใบขิงมาก ลงหัวเป็นแง่งโตติดต่อกันเป็นพืด หักหัวออกเนื้อในเป็นสีเหลืองอมเขียว กลิ่นหอมร้อน ต้นสูงประมาณ ๒ ฟุต เป็นไม้ล้มลุกงอกงามในฤดูฝน แห้งตายในฤดูแล้ง โดยมากมักปลูกไว้ทำยา
ประโยชน์
ใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ตามตำราโบราณว่า ใบแก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เมื่อยขบ
ดอกกระจายเลือดอันเป็นลิ่มเป็นก้อนให้ตก
รากแก้เลือดกำเดาออกทางจมูก แก้อาเจียนเป็นโลหิต หัวหรือแง่ง ขับระดูประจำเดือนของสตรีให้เป็นปกติ
แพทย์ตามชนบท ใช้หัวฝนกับสุราหรือน้ำเปล่า ทาแก้ฟกช้ำบวมขัดเคล็ดยอกแพรงได้ดีมาก
น้ำคั้นจากหัวผสมกับเกลือสตุ ๑ ช้อนโต๊ะ กินเป็นยาถ่ายแก้บิดไม่เป็นอันตรายต่อลำไส้เลย น้ำคั้นจากหัวผสมกับการบูรและน้ำมันเบ็นซิน ใช้ทาแก้โรคเหน็บชาชนิดขาบวมได้ผลดีมาก ใช้หัวโขลกพอกบาดแผลสดเป็นยาสมานบาดแผลและห้ามโลหิตให้หยุดได้ดีมาก เอาหัวว่านนี้หมกไฟแล้วเอามาตำคั้นเอาแต่น้ำกินแก้บิดดีนัก ทางภาคอีสานใช้หัวว่านนี้หั่นเป็นแว่นบาง ๆ ๗ แว่น กินเป็นยาขับผายลมในลำไส้แก้โรคมีแกสในกระเพาะอาหาร ทำให้ทั้งเลอออกมาและผายลมดีมาก
ชื่อตามที่เรียกกัน
ปูเลย (เหนือ) ว่านไฟ (พายัพ) ปูลอย (พายัพ) ไพล (ทั่วไป )
การปลูก
ใช้ดินร่วน ๆ ปลูกหรือจะเอาดินปนทรายปลูกก็ใช้ได้ เอาหัวหรือแง่งมา ใช้ดินกลบพอมิด รดน้ำวันละครั้งเดียวตอนเช้า อย่าให้โชกนัก
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com