ว่านกำบังหรือว่านกั้นบัง
ว่านกำบังหรือว่านกั้นบัง…มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia sp. และจัดอยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae)
ลักษณะของว่านกำบังหรือว่านกั้นบัง
ต้นคล้ายกระชาย มีหัวเล็ก ๆ ติดกันเป็นแผงเหมือนกล้วยไข่ ต้นและใบเขียว เนื้อในหัวมีสีขาว ใบแหลมกว่าใบกระชาย
ประโยชน์ของว่านกำบังหรือว่านกั้นบัง
เป็นว่านสำหรับใช้ป้องกันภัยจากผู้ปองร้ายด้วยวิทยาคุณต่าง ๆ ทั้งป้องกันพิษหรือโทษจากบรรดาว่านร้ายทั้งปวง กันกระทำยำยีด้วยคุณไสยทุกอย่างได้อย่างวิเศษ แม้มีว่านนี้ติดตัวอยู่แล้ว จะทำให้คลาดแคล้วจากบรรดาสรรพภัยต่าง ๆ ได้ วิธีเพิ่มคุณฤทธิ์ให้แก่ว่านคือเศกด้วย “นะโมพุทธายะ” เรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะหมุนได้เองดังลูกข่าง แล้วจึงนำติดตัวไปไหน ๆ ด้วย หรือจะใช้กินหรือทาตัวก็ได้ ตามตำรากล่าวไว้ว่า มีสรรพคุณวิเศษสามารถกำบังตน ล่องหนหายตัวได้อีกด้วย
การปลูกว่านกำบังหรือว่านกั้นบัง
มีพิธีการปลูกมากหน่อย คือต้องทำความสะอาดร่างกายผู้ปลูกให้ปราศจากมลทินโทษ โดยกระเจิมกระแจะจันทร์ทั้งตัวผู้ปลูกและภาชนะที่จะปลูก จึงนำหัวว่านมาปลูกใช้ดินร่วน ๆ ที่คัดเอามลทินโทษออกหมด ใส่กลบหัวว่านอย่าให้แน่นนัก เศกด้วย อิติปิโสภควาจนถึงภควาติ ๓ จบ แล้วจึงใช้น้ำรดพอดินชุ่มเท่านั้น วันหลังน้ำที่จะรดเศกด้วย นะโมพุทธายะ ๓ จบ แล้วใช้รดได้
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com