ว่านขอทอง, ว่านขอคำน้อย หรือว่านแก้
เป็นว่านที่ทรงสรรพคุณวิเศษกว่าบรรดาว่านแก้ทั้งปวง มีอิทธิฤทธิ์ในทางแก้พิษเบื่อเมา ไม่ว่าจะเกิดจากเห็ด, หอย หรือพันธุ์ไม้ว่านยาอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น หรือจะเป็นพิษจากสัตว์น้ำ สัตว์บกไม่เลือกว่าชนิดใด ถ้ามีอาการทำให้อาเจียนหรือท้องร่วง ทำให้ตาแข็งพูดไม่ได้ความ มีอาการคลื่นเหียนเวียนมึนหัว อันเป็นการแสดงว่าถูกพิษร้ายของพืชหรือสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งมา ว่านนี้ย่อมสามารถแก้ไขจนหายหรือปลอดภัยได้ทั้งสิ้น
ลักษณะ
ต้นเหมือนขมิ้น แต่หัวเล็ก ๆ เป็นขอสอดเกี่ยวพันธ์กันเป็นข้อ ๆ คล้ายกับว่าหนุมานยกทัพ ต้นและใบมีสีเขียว เนื้อในหัวมีสีเหลือง
ประโยชน์
เป็นว่านแก้พิษเบื่อเมาจากพืชจากสัตว์ และจากอาหาร แก้ลมเพลมพัดและลมปราบ ใช้หัวว่านนี้ฝนแล้วทาตัวจนมีอาการขนลุก และหนาวสั่นสะท้าน บางทีทำให้เกิดมีอาการอาเจียนเป็นลมเหล่า ๆ ออกมาทันที ซึ่งเป็นอาการแก้ไขจากโรคที่เป็นนั่นเอง ถ้ายิ่งให้กินหัวว่านนี้ด้วยแล้ว จะทำให้อาการโรคที่เป็นนั้นหายเร็วขึ้น ยังใช้แก้บรรดาสรรพวิทยาคุณต่าง ๆ โดยเอาหัวว่านนี้ฝนทาตัวหรือกิน หรือฝนกับน้ำแล้วใช้แป้งผสมพอกก็ได้ คนไข้หากถูกน้ำมันพรายถ้าได้กำหัวว่านนี้ไว้ในมือจะชักดิ้นทันที พวกชาวป่าหรือชาวชนบท เขาใช้ขวานหัวว่านนี้เป็นชิ้นบาง ๆ เล็ก ๆ ใส่ลงในอาหารหรือของที่จะกิน เพื่อสำรวจว่ามียาเบื่อเมาเจือปนอยู่ด้วยเสียแล้ว
ถ้าเอาหัวว่านฝนใส่น้ำหรือใส่ต้มแกง แล้วให้คนถูกเสน่ห์ยาแฝดที่มีอาการง่วงซึมเซาหรือมีอาการตาปรือกิน จะทำให้ผู้นั้นนอนหลับไปในเวลากินว่านนี้เข้าไปมินาน เมื่อตื่นจากนอนหลับแล้ว ก็จะรู้สึกตนหายจากอาการที่ถูกเสน่ห์นั้นกลับเป็นคนปกติดี ๆ เพราะการรักษาของว่านนี้
ว่านนี้เป็นของหาได้ยาก มีอยู่ทางฟากแม่น้ำโขงในหมู่พวกข่าระแต ข่าขัด และทางไทรโยคจังหวัดกาญจนบุรี ในหมู่พวกกระเหรี่ยงและละว้า ใครหาเอาว่านนี้มาปลูกเลี้ยงไว้ได้เหมือนได้ลาภอันประเสริฐ เพราะสรรพคุณของว่านนี้มีมากนั่นเอง
การปลูก
ใช้ดินปนทรายผสมด้วยกระเบื้องเผาไฟทุบให้แหลกละเอียด เมื่อเอาหัวว่านลงฝังในดินนี้แล้ว ให้เหลือหัวว่านโผล่สักเล็กน้อย อย่ากดดินให้แน่น น้ำที่จะรดเศกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” ๓ ครั้งก่อนจึงรด และรดแต่พอเปียกทั่วเท่านั้นอย่าให้แฉะ
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com