ว่านกบ
ว่านนี้นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราชเพราะสมัยนั้นมีท่านผู้ทรงคุณวิทยา ตั้งสำนักเป็นอาจารย์ในทางคงกระพันชาตรีมาก และว่านนี้เป็นว่านที่มีคุณในทางนั้น จึงเป็นสิ่งที่ท่านคณาจารย์เหล่านั้นจะต้องเสาะหามาเลี้ยงไว้ จนถึงแพร่หลายมาถึงขณะนี้
ลักษณะของว่านกบ
หัวคล้ายตัวกบในท่าหมอบ มีตีน ๔ ตีนเหมือนกบ เปลือกหัวก็มีลักษณะคล้ายหนังกบ มียอดออกทางปากคล้ายหนวดปลาดุก ใบเหมือนหมากผู้หมากเมีย หัวเป็นรูปปลาปักเป้าสีเขียวติดกันเป็นพืดไป มียางเหนียว ถ้าถึงฤดูฝนจะร้องเรียกหากันได้ พบมีผู้ปลูกไว้ใช้ในทางคงกระพันชาตรีโดยมาก
ประโยชน์ของว่านกบ
ถ้าต้องการจะเอาว่านนี้มาใช้ให้เขียนยันต์ตัวเลขใส่ฝ่ามือสำหรับจับว่านดังรูปด้านล่างนี้

บางท่านว่าเมื่อขุดเอามาแล้วให้เอาลวดตะกั่วร้อยปากมาแล้วเอามากวนกับปรอท ทำให้ปรอทตาย เป็นกายสิทธิ์ คือเอาหัวว่านมาตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำไปผสมกวนกับปรอท ทำให้ปรอทแข็งตัว แล้วเอาห่อผ้าย้อมมะเกลือไว้ เอาตะกั่วหรือดีบุกใส่เข้าตั้งไฟหลอมให้ละลาย แล้วเอากากหัวว่านที่เหลือใส่ในเบ้าหลอมต่อไปจนเป็นเถ้าไปหมด จึงเอาปรอทที่ห่อผ้าดำนั้นใส่ลงไปในเบ้าหลอมต่อไปจนไม่มีเถ้าเหลือในเบ้าจึงยกขึ้นมาเท จะปรากฏว่าตะกั่วหรือดีบุกนั้นกลายเป็นเงินบริสุทธิ์ จะไปไหน ๆ เอาหัวว่านนี้ติดตัวไปด้วย สามารถป้องกันตัวได้ดี ภัยต่าง ๆ ไม่มาแผ้วพาลเลย
การปลูกว่านกบ
ใช้ความระมัดระวังมากในการรดน้ำอย่าให้แฉะ รากจะเน่า การกลบดินไม่ต้องกดให้ดินแน่น พอหัวว่านโผล่พ้นดินนิดหน่อย น้ำที่รดควรเศกด้วย “นะโมพุทธายะ” ๓ จบเสียก่อนจึงรด และควรรดวันเว้นวัน ระวังในเรื่องแดด อย่าให้ถูกเต็มที่นักโดยเฉพาะเวลาแดดร้อนจัดควรหาอะไรบังไว้บ้าง
ชื่อที่เรียกกันว่าว่านกบ, ว่านท้าวอังกุลี, ว่านพระยาอังกุลี ว่านนี้เชื่อกันว่ามีเทวดารักษา ฉะนั้นจึงระวังในเรื่องความสกปรก สิ่งไม่เป็นมงคล จงอย่านำเข้าไปใกล้บริเวณที่ปลูกว่านเป็นอันขาด
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com