ว่านน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acorus calamus ( Linn )
ชื่อวงศ์
วงศ์บอน ( Araceae )
ชื่อที่เรียกกัน
ว่านน้ำ, ว่านน้ำจืด, ฮางคาวน้ำ, หัวงอ, หัวชะงอ, ว่านน้ำขาว
ลักษณะ
เป็นไม้น้ำชนิดหนึ่งชอบขึ้นตามที่ชื้นแฉะมีน้ำขังหรือน้ำขึ้นลงถึง ลำต้นแข็งเป็นข้อ ๆ สีแดงเรื่อ ๆ ชอนยาวไปตามดินเลน ราก เล็กเป็นฝอย ใบเล็กและยาวแบนคล้ายใบว่านหางช้าง แต่เล็กกว่ามาก เป็นแผงเหมือนแบบว่านหางช้างเหมือนกัน มีกลิ่นหอมแรง โดยมากมีผู้ปลูกไว้ทำยา
ประโยชน์ทางยา
รากว่านน้ำกินมากทำให้อาเจียน แต่มีกลิ่นหอม กินแต่น้อย เป็นยาแก้ปวดท้อง ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดและแก้ธาตุเสีย ชาวอินเดียใช้ปรุงเป็นยาระบายและคุมธาตุ ไปด้วยในตัว ทั้งเป็นยาเบื่อแมลงต่าง ๆ เช่น แมลงวันเป็นต้น
แพทย์โบราณชาวตะวันออกนิยมใช้ว่านน้ำเป็นยาทั่วไปทุกประเทศตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มา จนบัดนี้ แม้ชาวตะวันตก เช่น Hippoeratas ของกรีกก็เคยใช้ในครั้งกระโน้น ถึงปัจจุบันแพทย์ชาวยุโรปที่อยู่ในอินเดีย และชาวอินเดียเองก็นิยมใช้ว่านน้ำทำเป็นยาแก้ไข้มาเลเรียคู่กันไปกับซิงโคนาโดยใช้รากว่านน้ำ นอกจากนี้ยังเอาไปผสมรวมกับยาขมต่าง ๆ หรือยาแก้ปวดท้อง ทำให้ระงับอาการปวดท้องได้ทันที ชาวอินเดียใช้ฉีกรากออกเป็นชิ้นเล็กๆ เคี้ยว ๒-๓ นาทีแก้หวัดและคอเจ็บ
ในว่านนี้มี glucoside ชื่อ Acorine มีรสขม และมี Alkoloid Colamine ซึ่งใช้เป็นยาแก้บิดของเด็กคือ มูกเลือด และแก้หวัดลงคอ Bronchitis ได้อย่างดี นายแพทย์ Russell ตั้งตำหรับดังนี้รากว่านน้ำโขลกให้แหลก หนัก ๖๐ กรัม ต้มในน้ำเดือด ๕๐๐ ซีซี กินมื้อละ ๒ ช้อนโต๊ะ วันละ ๓ ครั้ง แก้ปวดท้องและจุกแน่น
ใช้ราฝนกับเหล้าเจือน้ำเล็กน้อย ทาหน้าอกเด็กเป็นยาดูดพิษ แก้ความอักเสบของหลอดลมและปอด
เอารากว่านน้ำตากแห้งแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ อมเป็นยาแก้ไอ ดีกว่ายาพวกเม็ดแก้ไออื่น ๆ มาก ทั้งมีกลิ่นหอมเวลาหายใจด้วย รากว่านน้ำนี้ทำให้คลื่นเหียรยิ่งกว่าอีปีแคดของฝรั่ง เป็นยาแก้เส้นกระตุก แก้ปวดท้อง แก้ลม บำรุงหัวใจและเบื่อแมลงวัน ถ้าต้องการทำให้อาเจียรกินเพียง ๒ กรัมก็พอ ไม่ควรให้เกินกว่านั้น
ใช้เป็นยาแก้หืด กินเพียง ๑-๑.๕ กรัม ต่อไปก็ให้ลดลงเหลือ ๐.๕ กรัม ทุก ๒ หรือ ๓ ชั่วโมง จนอาการหืดหอบทุเลา เป็นยาขับเสมหะในโรคหืดอย่างดีมาก รากว่านน้ำเผาไฟจนเป็นถ่าน ทำผง กินมื้อละ ๐.๕–๑.๕ กรัม เป็นยาถอนพิษของสลอด แก้โรคลงท้อง ปวดท้องของเด็ก ทางมหาสารคามใช้ใบของว่านน้ำสดตำละเอียด ผสมน้ำสุมหัวเด็ก แก้ปวดหัวได้ บางตำหรับว่าถ้าพอกแก้ปวดกล้ามและข้อโดยตำรวมกับชุมเห็ดเทศ แก้โรคผิวหนัง ทำเป็นยาชง Infusum ขนาด ๑ ใน ๑๐ กินได้ ๑๕-๓๐ ซีซี ทำเป็นทิงเจอร์ ขนาด ๑ใน ๕ กินได้ ๒-๔ ซีซี ผงขนาดใช้ ๑-๔ กรัม
การปลูก
ใช้รากหรือหัวปลูกริมน้ำ
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com