ว่านเพชรกลับนเรศวร, ว่านนเรศวร
ลักษณะ
ว่านนเรศวร ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia cf. petiolata Sirirugsa เป็นว่านที่อยู่ในสกุลกระชาย คือดอกออกที่ปลายยอด ดอกมีสีขาว กลีบปากดอกมีแต้มสีแดงเรื่อ รากมีลักษณะย้อนกลับ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เพชรกลับนเรศวร”
ว่านนี้มี ๒ ต้นคือ ต้นเขียวและต้นดำ ซึ่งนิยมเล่นหาต้นดำมากกว่า เชื่อว่ามีฤทธิ์แรงกว่า(บางที่ปฏิเสธต้นเขียวด้วยซ้ำ) ว่านนี้เป็นว่านที่หายากต้นหนึ่ง ว่านนเรศวรนี้ภายนอกคล้ายกลุ่มกระชายเลื้อยป่า แยกออกจากกันยากต้องพิจารณาหลายส่วน ทำให้มีคนที่หาของป่าแล้วดูไม่ขาดเอากระชายเลื้อยป่ามาขายเป็นเพชรกลับนเรศวรกันมาก ต้องพึงระวังไว้ครับ
![ว่านเพชรกลับนเรศวร](https://farmssb.com/wp-content/uploads/2013/08/เพชรกลับนเรศวร-800x362.jpg)
สรรพคุณ
เป็นว่านที่โดดเด่นทางด้านคงกระพัน ที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เชื่อกันว่า เป็นว่านที่สมเด็จพระนเรศวรใช้เคี่ยวน้ำมันชุบหอก-ดาบ เวลาออกศึก ตลอดจนกระทั่งใช้อาบแช่ว่านและใช้กินเพื่อคงกระพัน จึงตั้งชื่อว่า “ว่านนเรศวร” (บางข้อมูลกล่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเสวยว่านนี้เกินขนาด จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระองค์สวรรคต เนื่องจากพระวรกายไม่แข็งแรงจากพิษของว่านที่เกินขนาด)1
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าช่วยคุ้มภัยทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณไสยหรือภูติผีปีศาจ2
![รูปว่านนเรศวร](https://farmssb.com/wp-content/uploads/2013/08/เพชรกลับนเรศวร-อ.ณรงค์ศักดิ์-475x400.jpg)
การปลูก
ว่านนี้ชอบร่มรำไร ชอบชื้นแต่ไม่แฉะ ลงหัวในฤดูแล้ว ช่วงลงหัวให้งดน้ำ และคอยให้น้ำทุก 7-10 วันเพื่อไม่ให้หัวแห้งจนเกินไป เสกน้ำรดด้วย “นะโมพุทธายะ” เป็นประจำ
อ้างอิง
- https://farmssb.com/5-phet-klab/. ๕ เพชรกลับ: ว่านที่เรียกว่า เพชรกลับทั้ง ๕ ต้น.
- ว่านสมุนไพรไม้มงคล. โดยณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม. บ้านและสวน, 2551.