ว่านพระยาดาบหัก
ว่านชื่อนี้ในปัจจุบันนี้มีเป็น ๒ ชนิด
(1)
ลักษณะ
ใบคล้ายมีดดาบ มีสีเหมือนใบโศกอ่อนก้านเล็ก กลางใบมักหักห้อย ต้องเอาไม้คอยค้ำเอาไว้ หัวเหมือนหัวหอมใหญ่ มีรสเผ็ดขม
ประโยชน์
ใช้เอารากแก้วหรือหัวมาเศกด้วยคาถา “นะโมพุทธายะ” กับ “อิติปิโสภควาจนจบภควาติ” แล้วเอารากหรือหัวว่านนี้อมไปด้วย มีคุณในทางคงกระพันชาตรี ตีถูกฟันถูกแต่ไม่เข้า
อีกตำราหนึ่งว่า เอารากแก้วมาเศกด้วยคาถาว่า “อัตถิ อัตเถนะ สะราสะเรนะ มังสังพุทธะ ธัมมะ สังฆะ นะภาเว” เศกให้ได้ ๗ จบแล้วจึงเอารากแก้วว่านนี้ฝนทาตัวเวลาไปต่อสู้ศัตรู ถูกตีถูกฟันมิเข้าเลย
(2) อีกชนิดหนึ่ง
ลักษณะ
ต้นคล้ายต้นขมิ้น แต่ใบเล็กกว่าไม่มีก้านใบ หัวแยกออกเป็นแง่ง ๆ คล้ายว่านหนังแห้ง หัวแก่มีขนาดเล็กว่านิ้วก้อย และสั้นคล้ายกับว่านเพ็ชรน้อย เนื้อในหัวมีสีเหลืองอ่อน มีรสขื่นซ่าลิ้น
ประโยชน์
ใช้แก้พิษสัตว์กัดต่อยดีนัก และคงกระพันชาตรี แม้ฟันด้วยดาบจนกระทั่งดาบหักก็ยังไม่เป็นอะไรถูกก็ไม่เข้าหาบาดแผลมิได้
การปลูก
ทั้ง ๒ ชนิด ใช้ดินเผาไฟแล้วทุบให้แหลกละเอียด เอาตากน้ำค้างทิ้งไว้หนึ่งคืน แล้วจึงเอามาเป็นดินปลูก โดยทำการกลบหัวว่านจนกระทั่งมิดหรือจะเหลือหัวว่านมองเห็นปริ่มดินอยู่ก็ได้ ไม่ต้องกดดินให้แน่น น้ำเศกด้วย “นะโมพุทธายะ” ๓ จบ แล้วจึงเอาไปรดพอเปียกทั่วเท่านั้น อย่าให้โชกนัก
บทคัดลอกจาก “ตำราคุณลักษณะว่านและวิธีปลูกว่าน” โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
เผยแพร่โดย ทีมงาน www.farmssb.com