ว่านรางจืดแท้ มีกี่สายพันธุ์ สรรพคุณยาและประโยชน์

ว่านรางจืด

ฉบับที่แล้วนั้นผมได้กล่าวถึงว่านที่ใช้ในทางยาคือ “ว่านมหากาฬ” และ “ว่านหัวน่วม” ไปแล้ว ฉบับนี้เลยขอติดลมบนสักหน่อยกล่าวถึงว่านที่ใช้ในทางรักษาโรค ที่ผมเองแนะนำให้มีปลูกติดบ้านไว้ ด้วยเพราะเป็นที่ประจักษ์แก่ตนเองและครอบครัวตลอดจนกระทั้งสัตว์เลี้ยงมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในการช่วยถอนพิษของเบื่อเมาและสิ่งปนเปื้อนยาฆ่าแมลง นั่นคือว่านที่เรียกว่า “ว่านรางจืด” ครับ

จางจืด หรือ รางจืด ที่กล่าวใน “ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์
จางจืด หรือ รางจืด ที่กล่าวใน “ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์

ว่านรางจืดในตำราโบราณ

ว่านรางจืด หรือ “ว่านจางจืด” นี้ ตามตำราว่านเก่ามี ๒ ต้นหลักๆด้วยกัน คือชนิดต้นแบบขมิ้น กับชนิดต้นไม้เถา-เครือ โดยต้นแบบขมิ้นมีกล่าวในตำราของ

  1. “ตำหรับ กระบิลว่าน” โดย หลวงประพัฒสรรพากร หน้า ๓๐
  2. “ตำราดูว่านและพระเครื่องพระบรมธาตุ” โดย ชัยมงคล อุดมทรัพย์ หน้า ๙ เรียกรางจืด และหน้า ๓๐(ซ้ำ) เรียกจางจืด
  3. “ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์ หน้า ๙๐-๙๑
  4. “ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” โดย อุตะมะ สิริจิตโต หน้า ๙๔-๙๕
  5. “ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์” โดย อาจารย์ชั้น หาวิธี หน้า ๔๐
  6. “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ หน้า ๑๒๘
  7. “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น หน้า ๓๗ เรียก ว่านนางจืด

ตามตำราดังกล่าวข้างต้นกล่าวโดยรวมคือ ว่านจางจืด  หรือ ว่านรางจืดต้น นั้น

รางจืดต้น Curcuma sp. เนื้อในหัวสีขาวนวล ต้นเดิมรสชาติต้องจืดสนิท ทานง่าย
รางจืดต้น Curcuma sp. เนื้อในหัวสีขาวนวล ต้นเดิมรสชาติต้องจืดสนิท ทานง่าย

ลักษณะ  หัวและต้นคล้ายขมิ้น  เนื้อในหัวมีสีนวล ต้นและใบเขียว  เมื่อต้นแก่ออกดอกแล้ว  ต้นจะโทรมไปคราวหนึ่ง  พอถึงฤดูฝนต้นก็จะงอกงามขึ้นมาใหม่อีกจากหัวที่อยู่ใต้ดิน

ประโยชน์  มีกลิ่นและรสหอมเย็น  มีคุณในทางแก้ยาเบื่อเมา และแก้ลมเพลมเพพัด แก้พวกถูกพรายอากาศทุกชนิด  โดยใช้หัวฝนกับน้ำหรือเหล้า ทั้งทาทั้งกิน

การปลูก  ใช้ดินร่วน ๆ หรือดินร่วนปนทรายบ้างเป็นดินปลูก  โดยเอาหัวปลูก  เมื่อเอาดินกลบหัวพอท่วมหัว เหลือหัวโผล่รำไรอยู่แล้วจึงเอาน้ำรดพอดินเปียกทั่วใช้ได้

ว่านนี้ต้นเดิมนั้นลักษณะรสจืดทานง่าย ปัจจุบันหาได้ยากที่พบโดยทั่วไปในปัจจุบันรสจะเผ็ดเล็กน้อยทานมากอาจรู้สึกคันคอบ้าง ว่านกลุ่มนี้ห้ามผสมกับว่านตัวอื่นๆในการทำวัตถุมงคลหรือเครื่องยา ยกเว้นวัตถุมงคลหรือเครื่องยาตระกูลเดียวกันคือพวกแก้-พวกถอน เพราะจะทำให้สรรพคุณของว่านตัวอื่นๆจางจืดไปเสียสิ้น หรือไม่สามารถประจุอิทธิคุณได้

ว่านรางจืดที่เป็นเถา

ส่วนว่านรางจืดอีกตัวนั้นเป็นกลุ่มไม้พวกเถาเครือ ตามตำราว่านเก่ากล่าวไว้หลายเล่มเช่นกัน ได้แก่

  • “ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์ หน้า ๙๐-๙๑
  • “ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” โดย อุตะมะ สิริจิตโต หน้า ๙๕
  • “ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์” โดย อาจารย์ชั้น หาวิธี หน้า ๔๐-๔๑ เรียก ว่านรางจืด (เถา)
  • “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ หน้า ๑๒๙ และหน้า ๑๖๑-๑๖๒ เรียก ว่านเถารางจืด (ซ้ำ หรืออาจจะเป็นคนละต้น)

ตามตำราดังกล่าวข้างต้นกล่าวโดยรวมคือ

ลักษณะ  เป็นเถาไม้เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น  ใบสีเขียว  แก่รูปร่างคล้ายใบสะค้าน หรือใบคล้ายใบมะลิ  เถาคล้ายเถาย่านาง  เมื่อขึ้นตามต้นไม้ต้นใด  ผลของต้นไม้นั้น ๆ พลอยจืดชืดไปด้วย ดอกมีีม่วง มีตาสีเหลือง  กลางกลีบมนออกเป็นช่อดกสวยงามดี  เป็นทั้งไม้ดอกและไม้ร่ม  พบตามภาคกลางและภาคเหนือ

ประโยชน์ทางยา  แพทย์ตำบลว่า  รสเย็นถอนพิษยาเบื่อเมา  แพทย์ตามชนบทใช้ปรุงเป็นยาเขียวถอนพิษไข้และพิษทั้งปวง  รากและเถากินเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำแก้พิษร้อนทั้งปวง

การปลูก  ขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง  พองอกรากดีแล้วจึงแยกปลูกในที่ดินร่วน ๆ ต่อไป  หรือจะใช้เมล็ดปลูกก็ได้

ประโยชน์ทางยา  รสเย็น รู้ถอนพิษและถอนยาเบื่อเมาต่าง ๆ ในการแก้พิษเบื่อเมาทุกอย่างนั้น  ใช้หัวของไม้นี้ซึ่งมีอยู่ใต้ดิน ตรงโคนต้นเอาไปผสมกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามสมควรก็จะทำให้สิ่งที่ผสมด้วยนั้นมีรสจืดชืด  ไร้คุณค่าไปหมด เช่น ผสมกับเกลือทำให้เกลือจืด  ผสมน้ำตาลน้ำตาลจืด  ผสมเหล้าทำให้เหล้าจืดกินแล้วไม่เมา  ผสมน้ำส้มทำให้น้ำส้มจืด ถึงเอาไปผสมกับของอย่างอื่นก็จะทำให้ของนั้นพลอยมีรสจืดตามไม้นี้ไปด้วยเช่นเดียวกัน

สรรพคุณของไม้นี้  แก้ยาเบื่อยาสั่ง  ยาพิษ ถอนยาได้ทุกชนิด  โดยเอาหัวมาฝนผสมกับน้ำซาวข้าวกินเพียง ๕ นาทีเท่านั้น ก็จะหายจากพิษต่าง ๆ เช่น ไข้ผิดสำแดง หรือจะกินเพื่อถอนพิษไข้  ใช้หัวฝนกับน้ำซาวข้าวกิน  สำหรับแก้พิษสัตว์กัดต่อย  เช่น แก้พิษงู หมาบ้ากัด แมลงป่องตะขาบ ปลาดุกยักษ์  ปลากระเบนแทง  หรือพวกฝีหัวดาว  หัวเดือน  ปรวด  ตะมอย  ฝี ๑๐๘ อย่าง

ให้เอาแต่เพียงใบสัก ๓ ใบมาโขลกให้ละเอียด  ใช้น้ำสุกหรือน้ำซาวข้าวเป็นกระสายพอข้น ๆ  เอาพอกที่ตรงบาดแผลหรือฝีต่าง ๆ นั้นจะทำให้หายปวด และแก้พิษได้ในทันที

ไม้นี้เป็นของหายาก (เข้าใจว่าเมื่อก่อนคงปิดบังกันมาก : อรรถวัติ กบิลว่าน)  เมื่อพบเห็นแล้วให้นำมาปลูกไว้ในบ้านเรือน  ท่านตีค่าไว้ถึง ๕,๐๐๐ ตำลึงทองทีเดียว

การปลูก  ใช้ปลูกด้วยหัว  หรือจะใช้ทาบกิ่ง  พอมีรากงอกก็แยกปลูกใหม่ก็ได้  หรือจะรอให้ดอกร่วงมีเมล็ดนำเอามาเพาะก็ได้เหมือนกัน

ว่านรางจืดมีกี่สายพันธุ์

จากการสอบทานข้อมูล ปัจจุบันพบว่าว่านในกลุ่มนี้มีหลายต้นด้วยกัน ได้แก่

Thunbergia laurifolia L. คือ ว่านรางจืดเถา (ดอกม่วงตัวมาตรฐาน)
Thunbergia laurifolia L. คือ ว่านรางจืดเถา (ดอกม่วงตัวมาตรฐาน)

๑. Thunbergia laurifolia L.

Thunbergia laurifolia L. คือ ว่านรางจืดเถา ที่มีการใช้ในทางยามากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งต้นนี้มีความหลากหลายทางพันธุกกรรมอยู่ด้วยกัน(variation)ประมาณ ๓ ต้น แยกตามสีของดอก คือ ๑. ดอกสีม่วง ซึ่งพบมากที่สุด ๒. ดอกสีฟ้า พบได้น้อย ๓. ดอกสีขาว พบได้น้อย

ข้อมูลจากงาน​เสวนา “รางจืดมากกว่าสมุนไพรล้างพิษ” ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล

จัดร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้ข้อมูลประสบการณ์การใช้งานไว้อย่างน่าสนใจ คือ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวว่า

หมอ​ยา​พื้นบ้าน ส่วน​ใหญ่​ใช้​ใน​การ​แก้​พิษ ทั้ง​พิษ​จาก​ยาสั่ง พิษ​จาก​พืช จาก​สัตว์ โดย​ใช้ได้​ทั้ง​ราก เถา ​และ​ใบราง​จืด​ยัง​เป็น​หมอ​ผิวหนัง​ ช่วย​ลด​การอักเสบ

คน​สมัย​ก่อน​เมื่อ​เจาะ​หู​เพื่อ​ใส่​ต่าง​หู​แล้ว​ จะ​นำ​ก้าน​ราง​จืด​มาส​อด​ใส่​รู​ที่​เจาะ​ทำให้​แผล​หาย​เร็ว หาก​เกิด​ผื่น​แพ้​ที่​ผิวหนัง สามารถ​ใช้​ราง​จืด​นำ​มา​กิน ต้ม​อาบ​หรือ​ต้ม​เอา​น้ำ​ทา ราง​จืด​ยัง​ช่วย​สมาน​แผล​ด้วย​การ​คั้น​น้ำ​จาก​ใบ​มา​ทา และ​วิธี​นี้​แก้​เริม​งูสวัด​ได้​ด้วย

สำหรับ​คน​ที่​กลัว​ผม​หงอก ราง​จืด​นั้น​มี​การ​ใช้​เป็น​ยา​อาบ​แก้​โรคผิวหนัง​ทั้งปวง​ทำให้​แก่​ช้า ใช้​สระ​ช​โลม​ผม​ทำให้​ผม​หงอก​ช้า ถ้า​จะลด​ความ​ดัน​โลหิต​สูง ให้​ใช้​เถา ใบ ต้ม​หรือ​ชง​กิน ตาม​ที่​เห็น​กัน​อยู่​ว่า​มี​คน​นำ​ไป​ทำ​ผลิตภัณฑ์​ชา​สมุนไพร​ราง​จืด ​ใน​ระยะ​หลังดอก​กับ​ยอด​ราง​จืด ชาว​บ้าน​นำ​มา​ต้ม​จิ้ม​น้ำพริก แล้ว​คน​สมัย​นี้​จะ​ทราบ​กัน​หรือ​ไม่​ว่า​ดอก​ราง​จืด​นั้น​ให้​น้ำ​หวาน แต่​มิ​ใช่​หวาน​กัน​ทุก​วัน​ทุก​เดือน จะ​หวาน​เฉพาะ​ช่วง​เดือน ๑๒ อันเป็น​ช่วง​ที่​ดอก​นำ​แน (ภาษา​อีสาน) หรือ​ดอก​ราง​จืด​บาน อย่าง​ที่​คน​โบราณ​จะ​พูด​ว่า “น้ำ​แน​น้ำ​นอง เดือน​สิบ​สอง​ขอ​น้ำ​กิน​แน” น้ำ​ของ​ดอก​ราง​จืด​เมื่อ​เด็ด​ออก​มา​ดูด​กิน​น้ำ​หวาน​จะ​หวาน​ปาน​น้ำผึ้ง​เดือน​ห้า–เขา​ว่า​อย่าง​นั้น

สรุป​ว่า​ประโยชน์​ของ​ราง​จืด​นั้น​ใช้ได้​ทุก​ส่วน​ของ​ต้น ราก เถา ใบ ใช้​ใน​การ​แก้​พิษ ส่วน ​ดอกและ​ยอด แม้​มิได้​ใช้​แก้​พิษ แต่​ ชาว​บ้าน​ใช้​ใน​การ​กิน​เป็น​อาหาร ยัง​พบ​ด้วย​ว่า สาร​โ​พลี​ฟี​นอ​ล​ใน​ราง​จืด​นั้น​เป็น​สาร​ต้าน​อนุ​มูล​อิสระ​อย่าง​สูง​มาก​อีก​ด้วย หาก​ได้​กิน​ราง​จืด​บ่อย ๆ ก็​จะ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ร่างกายอย่างมาก

รางจืดดอกแดง Thunbergia coccinea Wall.
รางจืดดอกแดง Thunbergia coccinea Wall.

๒. Thunbergia laurifolia Wall.

Thunbergia laurifolia Wall. คือว่าน “รางจืดดอกแดง” ซึ่งต้นนี้หาคนรู้จักจริงๆน้อยมาก ส่วนมากตีความว่าเป็น Thunbergia laurifolia L. ชนิดที่มีดอกสีแดง ทำให้ไม่สามารถหาต้นจริงกันได้ และอีกประการหนึ่งเพราะด้วยภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ หรืออิสาน เรียกว่านนี้ว่า “หนามแน่แดง” ครับ ต้นนี้ดอกมีสีแดงออกส้ม ซึ่งการใช้ประโยชน์คือ

ดอก นำไปประกอบอาหาร เช่น แกง(ลั้วะ)

ใบและเครือ นำไปต้มหรือไม่ต้มก็ได้เอาน้ำที่อยู่ภายในลำต้นมาล้างตา แก้อาการเคืองตา ตาแดง เจ็บตา ดอกและผล นำมาตำพอกแผลที่โดนงูกัด ช่วยดูดพิษ(กะเหรี่ยงเชียงใหม่)

เครือ ต้มน้ำกินเวลาที่โดนพิษจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง แมงมุมพิษ

ชาวเขาเผ่าปะหล่อง ไทยใหญ่ และพม่าใช้เถาอ่อนและใบต้มน้ำอาบเป็นยาแก้ไข้ เย้าใช้เถาต้มน้ำให้เด็กอาบแก้อาการเด็กนอนไม่หลับ

ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้รากผสมสมุนไพรอื่น เช่นรากพญาดง Persicaria chinensis ต้มน้ำดื่มแก้อาการปวดท้องน้อยของผู้ป่วยกามโรค ยาพื้นบ้านใช้เถา รากและใบเป็นยาแก้พิษยาเบื่อ พิษยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าหญ้า เชื่อว่ามีฤทธิ์แรงกว่ารางจืด Thunbergia laurifolia

“หนามแน่ขาว” Thunbergia fragrans Roxb
“หนามแน่ขาว” Thunbergia fragrans Roxb

 

๓. Thunbergia fragrans Roxb

Thunbergia fragrans Roxb คือ รางจืดดอกขาวอีกต้นหนึ่ง ซึ่งมีภาษาท้องถิ่นว่า “หนามแน่ขาว” เป็นไม้เลื้อยขนาดเล็ก มักทอดเลื้อยหรือเลื้อยพันต้นไม้ชนิดอื่นในระดับต่ำ กลีบดอกสีขาว มี ๕ กลีบ ฝักผลคล้ายว่านรางจืด (Thunbergia laurifolia)

ประโยชน์ : สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้ ดอกสวยงาม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ทั้งเถา(เป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์)  รสจืด แก้พิษเบื่อเมา แก้ไข้ ร้อนใน เนื่องจากหายากและต้นมีขนาดเล็กจึงพบว่ามีการนำไปทำยาน้อย

น้ำแน่ดง Thunbergia hossei Clarke
น้ำแน่ดง Thunbergia hossei Clarke

๔. Thunbergia hossei Clarke “น้ำแน่ดง”

Thunbergia hossei Clarke “น้ำแน่ดง” คือ ต้นและใบคล้ายว่านรางจืดดอกแดงหรือหนามแน่แดง แตกต่างกันที่ดอกมีสีเหลืองที่กรวยดอก  ต้นนี้ไม่ติดผล(หรือติดยากมาก) ขยายพันธ์ด้วยการชำกิ่ง สรรพคุณทางยาคล้ายรางจืดดอกแดง แต่มีข้อมูลการใช้น้อยกว่าเนื่องจากหายาก

สร้อยอินทนิล Thunbergia grandiflora Roxb
สร้อยอินทนิล Thunbergia grandiflora Roxb

๕. Thunbergia grandiflora สร้อยอินทนิล

เป็นพืชกลุ่มเดียวกันกับรางจืด จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัด  ระหว่างสร้อยอินทนิลและรางจืด คือ ใบของสร้อยอินทนิลเป็นใบเดี่ยวกว้างและมีขนาดใหญ่ ที่ปลายใบหยักเว้าเป็นแฉก ในขณะที่ใบของรางจืดเป็นใบเดี่ยวรูปขอบขนานหรือรูปไข่(ใบแคบกว่า)

ประโยชน์ รากและเถา ใช้พอกแก้ฟกช้ำบวม ตำพอกแผลแก้อักเสบ ใบชงดื่มแก้ปวดท้อง ต้นนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ บางกลุ่มใช้หัวหรือรากถอนพิษเช่นเดียวกับรางจืด

Crotalaria verrucosa L.
Crotalaria verrucosa L.

นอกจากนี้ยังมีต้นที่เรียก “รางจืด” เช่นกันแต่เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก นั่นคือ Crotalaria verrucosa L. รางจืดต้น หิงหายใหญ่ หรือ “รางจืดตัวเมีย” เป็นพืชล้มลุกขึ้นตามที่รกร้าง ส่วนใหญ่ดอกสีเหลือง มีบางชนิดดอกสีม่วง ฝักกลมพอง ถ้าเป็นต้นเล็กหรือหิ่งหายผีนิยมใช้ในทางไสยศาสตร์

ทั้งต้น   รสจืดเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้สูง ขับพิษไข้หัว แก้กระสับกระส่าย  คลั่งเพ้อ ร้อนกลุ้มภายใน

ราก   รสจืดเย็น ดับพิษร้อน พิษไข้สูง แก้พิษยาเบื่อยา ยาสั่ง โดยใช้รากฝนกับน้ำดื่ม

(พืชในกลุ่มหิ่งหายมีสารสำคัญ คือ อัลคาลอยด์ที่มีนิวเคลียสเป็น pyrrolizidine ชื่อว่า monocrotaline เป็น monocrotalic acid ester ของอัลคาลอยด์ retronecine เป็นพิษต่อสัตว์เคี้ยวเอื้อง ถ้ากินมากจะทำลายตับและเสียชีวิต ดังนั้นการนำมาใช้แก้พิษในคน ควรอยู่ในปริมาณที่พอควร เพราะเป็นการใช้พิษแก้พิษควรต้องระมัดระวัง)

 

เรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน

ผู้เผยแพร่ พรหมวิหารคลินิก

๒๗ พ.ย. ๒๕๕๖

———————————————————————