ตำราว่านในยุคที่สาม : ยุคปัจจุบัน

ตำราว่านในยุคที่สาม : ยุคปัจจุบัน

มาแล้วครับแฟนคอว่านทุกท่าน ฉบับนี้เราวกกลับมาต่อกันให้เสร็จ ในเรื่องของตำราว่านกันนะครับ โดยฉบับนี้ผมจะกล่าวถึงตำราว่านในยุคที่สามหรือยุคปัจจุบันกัน

ตำราว่านยุคนี้เป็นยุคที่หลังจากวงการว่านเริ่มซบเซาลงแล้วหลังจากเกิดกระแสตื่นว่านอย่างสูงสุดในประวัติศาสตร์ ในยุคนี้เองเราจึงไม่ค่อยจะพบเห็นตำราว่านออกมาเท่าไรเมื่อเทียบกับยุคที่สอง เนื่องจากได้นอกกระแสความสนใจของผู้คนไปแล้วนั่นเอง โดยนับระยะเวลาตั้งแต่ราวๆปี พ.ศ. ๒๕๒๗ จนถึงปัจจุบัน

ตำราในยุคนี้จำนวนมากเป็นการอ้างอิงตำราเดิมเรียกว่าเอาเก่ามาเล่าใหม่นั่นเอง ตำราจำนวนไม่น้อยมักอ้างอิงสำนวนตำราของ อ.เชษฐา พยากรณ์ ซึ่งเป็นนักเขียนที่ออกหนังสือเกี่ยวกับว่านหลายเล่ม และแพร่หลายมากที่สุด

จนปัจจุบันทางว่านของ อ.เชษฐา นับเป็นทางว่านที่แพร่หลายและเป็นที่มีอิทธิพลต่อวงการว่านของประเทศไทยอย่างมาก  อย่างทางอีสาน คนขายว่านส่วนมากก็ยึดถือตำราของ อ.เชษฐา(๑) ทางเหนือแถบ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ก็เช่นกัน จนบางครั้ง ว่านโบราณเฉพาะถิ่นที่เคยเล่นหากันในท้องถิ่น คนเล่นว่านในแถบนั้นกลับไม่มั่นใจในว่านของตนเองด้วยซ้ำ(๒) ….

แต่ก่อนที่ผู้เขียนจะนำเสนอตำราว่านในยุคปัจจุบันเล่มที่น่าสนใจต่างๆนั้น ต้องขอบอกกับผู้อ่านนะครับว่า ผมเองไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนหนังสือหรือสำนักพิมพ์ใดๆที่กล่าวถึง ผมเพียงแต่ยกและวิเคราะห์นำเสนอตำราต่างๆด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นเพียงการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เล่มใดเขียนดีอย่างไร มีจุดเด่นที่น่าสนใจอย่างไรก็เขียนตามที่ผู้เขียนคิดเห็น ไม่ได้มีเจตนาเชียร์หรือ ดิสเครดิตแต่อย่างใดครับ

สำหรับตำราว่านในยุคปัจจุบันที่น่าสนใจเรียงตามลำดับปีที่พิมพ์ครั้งแรก ได้แก่

คู่มือบอนสี ว่าน โกสน
คู่มือบอนสี ว่าน โกสน

“คู่มือบอนสี ว่าน โกสน” โดย มานพ ลิ้มจรูญ และคณะ(ซ้าย) ไม่ทราบปีที่พิมพ์  และ “บอนสี ว่าน โกสน ไม้มงคลไทย” โดย พิษณุ ฉายเหมือนวงศ์ พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๒(ขวา) หนังสือสองเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเหมือนกันแต่ต่างกันที่สำนักพิมพ์และปีที่พิมพ์ เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นมาในช่วงยุคกระแสการเล่นว่านเฟื่องฟูช่วงปลายๆแล้ว เหล่าพ่อค้าและนักเลงต้นไม้เริ่มชักจะเบื่อเรื่องว่านแล้วจึงจับไม้ตระกูลสวยงาม คือไม้จำพวกบอนสี และโกสน ที่เป็นไม้กลายพันธ์ได้ง่ายเมื่อมีการผสมด้วยเกสร เข้ามาสนองกระแสความนิยม มองดูแล้วคลายๆกับยุคเมื่อจตุคามฟีเวอร์เริ่มหมดกระแสลงแล้ว ก็มีกลุ่มพ่อค้าพาณิชย์พยายามดันกระแสพระพิฆเนศให้ฟีเวอร์เข้ามาแทนที่ แต่จนแล้วจนรอดก็ดันไม่ขึ้นเท่าไร แบบเดียวกันเป๊ะเลยครับ….

หนังสือสองเล่มนี้มีเรื่องราวของบอนสี และโกสน ที่จัดไว้เป็นชุดเรียกว่า “ตับ” ตรงนี้นี่เองที่เป็นจุดสังเกตว่าวัฒนธรรมการเล่นว่านของไทยโดยเฉพาะในยุคหลังก็มีการจัดว่านเป็นตับเป็นชุดเช่นเดียวกัน เช่น อย่างว่านเสน่ห์จันทร์ ก็มีเสน่ห์จันทร์ขาว เสน่ห์จันทร์เขียว เสน่ห์จันทร์แดง เสน่ห์จันทร์ดำ เสน่ห์จันทร์โกเมน ฯลฯ อย่างว่านกระจายก็จัดเป็นตับชุด อาทิ กระจายเงิน กระจายทอง กระจายนาค อย่างนี้เป็นต้น

ซึ่งนี่เป็นข้อสังเกตของวัฒนธรรมการจัดชุดว่าน การตั้งชื่อว่านเป็นตับ ที่เด่นชัดอย่างมากในการเล่นว่านยุคหลัง และเรื่องนี้เองเป็นความรู้ที่สำคัญในการแยกแยะว่านแท้ กับว่านตั้งเองได้เป็นอย่างดีครับ

คู่มือเซียนว่าน
คู่มือเซียนว่าน

“คู่มือเซียนว่าน” โดย บุญค้ำ ไชยพรหมวงศา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๓๗ หนังสือเล่มนี้โดยทั่วๆไปอาจดูไม่หวือหวา แต่ก็มีจุดเด่นที่เป็นหนังสือที่ระบุตัวว่านด้วยชื่อวิทยาศาสตร์ คำบรรยายเป็นคำบรรยายร่วมสมัย ระหว่างคำบรรยายแบบดั้งเดิมด้วยตำราเก่า กับคำบรรยายด้วยวิธีการบรรยายในเชิงพฤกษศาสตร์  พร้อมทั้งมีรูประกอบเป็นรูปวาดขาว-ดำ ในส่วนหน้าแรกๆ มีการปูพื้นฐานความรู้ในการจำแนกลักษณะของว่านด้วยหลักพฤกษศาสตร์ ตำราเล่มนี้สามารถใช้เป็นคู่มือในการเล่นว่านได้ดีเล่มหนึ่งครับ

ว่าน ยาเสน่ห์มหามงคล
ว่าน ยาเสน่ห์มหามงคล

“ว่าน ยาเสน่ห์มหามงคล” เล่ม ๑-๒ โดย ธวัชชัย อินธุใส และรัชนัย อินธุใส พิมพ์ พ.ศ.๒๕๔๔/ ว่าน ยาเสน่ห์มหามงคล เล่ม ๓ โดย อุดมการ อินธุใส และ รัชนัย อินธุใส พิมพ์ พ.ศ.๒๕๔๗

ตำราชุดนี้เขียนมาด้วยกันทั้งสามเล่มห่างกัน ๓ ปี จึงเขียนครบ หนังสือชุดนี้มีจุดเด่นที่ ผู้เขียนได้เรียบเรียงจากหนังสือตำราว่านหลากหลายเล่มมาก พร้อมทั้งระบุบรรณานุกรมไว้อย่างชัดเจน ขนาดที่ว่า คำพูดตรงนี้ คาถาบทนี้มีที่มาจากหนังสือเล่มใดบ้าง บ่งบอกถึงความเอาใจใส่ในรายละเอียด และความอุตสาหะของผู้เขียนเป็นอย่างมาก จึงเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่แนะนำครับ แต่น่าเสียดายเห็นว่าบางเล่มหมดตลาดแล้ว และยังไม่มีโครงการที่จะพิมพ์ซ้ำ

หนังสือชุดนี้มีรูปภาพว่านเป็นรูปสีแต่รูปไม่ชัดเจนเท่าไร ถ่ายราบละเอียดได้ไม่ชัดนัก ส่วนใหญ่จะถ่ายให้เห็นส่วนของต้นและใบว่าน ซึ่งอาจทำให้นักเล่นว่านหน้าใหม่งงๆเอาได้เพราะเห็นต้นว่านดูคล้ายๆกันไปหมด แต่ผมเองก็เข้าใจคงด้วยเพราะข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุนการพิมพ์ภาพสีที่สูงนั่นเอง(ต้นทุนสูง การขายก็ต้องแพง อย่างนี้คงขายออกยากใช่ไหมครับ)

คัมภีร์ไสยศาสตร์ ฉบับสมบูรณ์
คัมภีร์ไสยศาสตร์ ฉบับสมบูรณ์

“คัมภีร์ไสยศาสตร์ ฉบับสมบูรณ์” โดย อาจารย์ โหรญาณโชติ(ชัยมงคล อุดมทรัพย์) พิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ตำราเล่มนี้เขียนโดยนักเขียนซึ่งเป็นศิษย์สายหลวงปู่เส็ง วัดประจันตคาม ได้รวมรวมเรียบเรียงตำราว่านและระบุรายการว่าน ไว้มากกว่าที่เคยเขียนในหนังสือ ตำราดูว่านและพระเครื่องพระบรมธาตุ  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น ๒๖๐รายการ และต้นยาพฤกษาศาสตร์วิเศษอีก ๔๖ ชนิด

ด้วยการบรรยายคุณลักษณะและฝอยเป็นสำนวนแบบโบราณจึงนับเป็นอรรถรสที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง และสามารถใช้เป็นคู่มือสำคัญสำหรับการเล่นว่านโบราณได้เป็นอย่างดี หากมิสามารถหาตำราว่านยุคแรกทั้ง ๑๒ เล่มมาเป็นตำราคู่ใจได้ เนื่องเพราะหนังสือเล่มนี้ยังมีขายอยู่ในปัจจุบันครับ สำหรับราคาหน้าปกตกที่ ๗๐๐ บาทครับผม

ว่าน สมุนไพร ไม้มงคล
ว่าน สมุนไพร ไม้มงคล

“ว่าน สมุนไพร ไม้มงคล” โดย ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม เป็นที่น่าสนใจมากเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ สำนักพิมพ์บ้านและสวนได้ออกหนังสือว่านชื่อ ว่าน สมุนไพร ไม้มงคล โดย ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม นับว่าเป็นการรวบรวมรายการว่าน ตลอดจนสรุปองค์ความรู้เรื่องว่าน ออกมาได้ชัดเจนแตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆในยุคปัจจุบัน

ด้วยเพราะเป็นหนังสือที่ผู้เขียนร่วมกันกับสำนักพิมพ์จัดทำขึ้นเพื่อทูนเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(ในชุดแรก) จึงมีความกังวลในด้านความถูกต้องและความเป็นสากลทางด้านพฤกษศาสตร์ จึงได้เชิญ ดร.ทยา เจนจิติกุล แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ชุมพล คุณวาสี แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยตรวจสอบและเป็นที่ปรึกษา

นับเป็นมิติใหม่ของหนังสือว่านที่ไม่ได้เขียนคนเดียว แต่ยังมี คณะ committee ที่ร่วมกันตรวจสอบ  นี่ยังไม่รวม กองบรรณาธิการทั้งกอง ที่มีคนมีชื่อเสียงเป็นประธานอีกคือ รศ.ดร. จิระยุพิน จันทร์ประสงค์

หนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจไม่แพ้ “ตำราคุณลักษณะว่าน และวิธีปลูกว่าน”  โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ ตำราในยุคแรกที่นักเลงว่านรุ่นเก่าให้ความเชื่อถือมากที่สุดเล่มหนึ่งทีเดียว ราคาก็สมน้ำสมเนื้อกับคุณภาพ ๖๑๕ บาทครับ

หนังสือเล่มนี้ทำให้การเล่นหาว่านในปัจจุบันมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นมาก หลังจากที่ซบเซามานาน จนแทบจะหาคอว่านที่คุยกันถูกคอไม่ค่อยจะได้ แม้การปลุกกระแสจะไม่ฟู่ฟ่ามากนักเหมือนเช่นในอดีตก็ตาม แต่ก็ทำให้พบปรากฏการแปลกๆคือ กลุ่มคนที่สนใจนั้นมีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่เป็นกลุ่มเยาวชนครับ

ตำราเล่มนี้โดดแด่นที่รูปภาพและรายการว่านที่อัดแน่นเต็มเปี่ยมกว่า ๒๕๐ รายการ ด้วยการนำเสนอแบบแบ่งกลุ่มว่านออกเป็นวงศ์ทางพฤกษศาสตร์ ทำให้ง่ายต่อการแยกแยะจดจำและสังเกตจุดเด่นของว่านแต่ละตัว พร้อมทั้งยังมีความโดดเด่นที่บทคาถาและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วยว่านที่เต็มรูปแบบอีกด้วย

ตระกูลว่านไทย เล่ม ๑-๒
ตระกูลว่านไทย เล่ม ๑-๒

“ตระกูลว่านไทย เล่ม ๑-๒” โดย โชติอนันต์ และคณะ พิมพ์ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ และ เล่ม ๒ พิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๓

ในเวลาใกล้เคียงกันในปี ๒๕๕๑ ก็มีตำราว่านน่าสนใจออกมาอีกเล่มหนึ่ง  ตำราเล่มนี้มีการบรรยายลักษณะว่านด้วยหลักพฤกษศาสตร์ มีการระบุวงศ์ สกุล และชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ค่อนข้างชัดเจน ตบท้ายด้วยรูปภาพว่านเป็นภาพสีมันเงาที่ท้ายเล่ม ในเล่ม ๑ มีการระบุรายการว่านไว้ ๑๐๑ รายการ ส่วนเล่มที่ ๒ ระบุรายการว่าน ๑๒๙ รายการ

ตำรายาและว่านมงคลสำหรับสำนักเขาอ้อ
ตำรายาและว่านมงคลสำหรับสำนักเขาอ้อ

“ตำรายาและว่านมงคลสำหรับสำนักเขาอ้อ” โดย เวทย์ วรวิทย์(ฉลอง เจยาคม) ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๕๑ หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมและเรียบเรียงจากตำราเก่า ตำราโบราณของสำนักเขาอ้อ ตักศิลาไทยโบราณที่เคยเป็นสถานที่เผยแพร่วิทยาการโบราณต่างๆประจำแคว้นลังกาสุกะ หรือเมืองสงขลาในปัจจุบัน (ปัจจุบันเขาอ้อมีฐานะเป็นเพียงวัดแห่งหนึ่งในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง) แต่วิทยาการต่างๆนั้นมิใช่เป็นเพียงตำนาน กลับเป็นวิทยาการที่ยังชัดเจนจับต้องได้มากที่สุดอันดับต้นๆของวงการไสยศาสตร์วิทยา ทั้งในอดีตสำนักแห่งนี้ก็มีชื่อเสียงขับเคี่ยวกันชนิดกินไม่ลงกับศาสตร์วิชาในสายวัดประดู่โรงธรรม จ. พระนครศรีอยุทธยา เรียกว่าแต่โบราณนั้นหากใครจบจากสำนักใดสำนักหนึ่งในสองสำนักนี้ก็มีโอกาสรับราชการเป็นใหญ่เป็นโตได้ในอนาคต

ตำราที่คัดลอกถอดความมานั้นมีหลากหลายชุดด้วยกัน ทั้งในส่วนของตำรายา และตำราว่าด้วยว่าน  ทำให้เราได้

รายชื่อว่านและคำบรรยายกบิลว่านสายใต้ หรือสายเขาอ้อที่แตกต่างจากกบิลว่านสายภาคกลางที่เราเล่นหากันในปัจจุบัน

อาทิเช่น  ว่านรามฤทธิ์, ว่านพระเกตุ, ว่านนางเรียงหมอน, ว่านลิไชยกังเวียน, ว่านกาไว เป็นต้น จึงนับเป็นจุดที่น่าท้าทาย สำหรับนักเลงว่านที่กระหายใคร่รู้ในเรื่องราวของว่านโบราณที่เป็นว่านที่แท้จริง อันมิได้กล่าวเอาไว้ในตำหรับกบิลว่านฉบับภาคกลางที่เคยเล่นหากันมา

ความจริงแล้วตำราว่านในยุคนี้ยังมีอีกหลายเล่มแต่ที่คัดเลือกมานำเสนอนี้เป็นตำราที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจ และยังพอหาซื้อหรือหาอ่านได้ตามสำนักหอสมุดต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านคอว่านทั้งหลายได้บริโภคข้อมูลที่มีความชัดเจนตรงไปตรงมา และได้บริโภคข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุด ตรงความต้องการในแต่ละสไตล์การเล่นว่านของแต่ละท่านครับ

ฉบับหน้าผมจะนำเสนอเรื่องราวที่นักเล่นว่านทั้งหลายสมควรรู้และเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ  “หลักการเล่นว่านให้เป็นว่าน” หลักการเลี้ยงว่านให้บังเกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ดั่งโบราณจารย์ได้ฝอยบรรยายเอาไว้ มิใช่เพียงแค่ปลูกไว้ให้มีคุณค่าเป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น เพื่อเป็นการปูพื้นฐานสำคัญก่อนที่จะลงมือเล่นว่านกันอย่างจริงๆจังๆครับ โปรดติดตามชนิดที่พลาดไม่ได้เชียวนะครับผม

 อรรถวัติ กบิลว่านและคณะ

ผู้เผยแพร่ หมอก็อต คลินิกแพทย์แผนไทย ลำพูน (โฮงยาพรมธวิหารฐ์)

๓ ต.ค. ๒๕๕๓ – ๒๐ ม.ค. ๒๕๕๔
——————————————————-

  1. คำสัมภาษณ์ คุณเอก นาครทรรพ
  2. คำสัมภาษณ์ คุณณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม