สารบัญ: คลิ๊กเลือกอ่าน
เคล็ดลับการกู้เก็บว่าน
การกู้เก็บมาใช้ทางจิตศาสตร์
อาทิเช่น การเก็บมาทำมวลสารสร้างพระ เครื่องราง ของมงคล หากต้องการเก็บกู้ว่านเพื่อใช้ในทางจิตศาสตร์ดังกล่าว โดยส่วนมากเราจะเข้าใจผิดและเข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาก เพราะส่วนใหญ่เข้าใจว่าควรจะเก็บคัดเอาเฉพาะหัว แท้จริงแล้วจะต้องเอาทั้ง ๕ คือ ต้น หัว ดอก ราก(ตุ้มน้ำเลี้ยง) และใบ คือ เอาทุกส่วน สรรพคุณจึงจะได้ครบ เว้นแต่ตำราบังคับเป็นอย่างอื่น เช่น ให้ใช้แต่หัว หรือให้ใช้แต่ดอก เป็นต้น ในการกู้เก็บเพื่อใช้ในทางจิตศาสตร์นี้ ยังแยกออกเป็น

ว่านวัตถุเป็น
“ว่านวัตถุเป็น” คือส่วนต่างๆของว่านที่ยังสดอยู่ แล้วทำการกู้เก็บทั้งๆที่ยังสดอยู่ ว่านวัตถุเป็น จะมีพลังชีวิต (พลังชี่) อยู่ ดังนั้นว่านวัตถุเป็นเหล่านี้จึงใช้ในทางสรรพคุณที่มีการระบุไว้ของว่านแต่ละตัว สิ่งเหล่านี้ได้แก่ ใบสด ดอกสด ตุ้มน้ำเลี้ยง หัวสด(ซึ่งเป็นหัวที่เกิดขึ้นในปีนี้ ไม่ใช่หัวของปีก่อนที่กำลังจะโรยราและฝ่อเน่าตาย หรือเพื่อจะเป็นอาหารหรือความชื้นของหัวใหม่)
ว่านวัตถุตาย
“ว่านวัตถุตาย” หรือ “ซากว่าน” ได้แก่ใบที่แห้งแล้วของว่าน หรือหัวที่ฝ่อแล้ว ซึ่งเป็นหัวจากปีที่แล้วที่ได้ส่งอาหารและความชื้นให้แขนงต้นใหม่จนหมดสารอาหารแล้ว หัวนี้จะฝ่อและปลูกไม่ขึ้น ผู้ปลูกต้องคอยสังเกตและแยกแยะให้ได้ มวลสารจากซากว่านนี้พลังชีวิตจะอ่อนหรือหมดไป แต่ยังคงสรรพคุณบางประการเอาไว้ โดยเฉพาะเหมาะกับการทำเป็นมวลสารในการสร้างของที่เนื่องด้วยการสิงสถิต เช่น การสร้างกุมารทอง เป็นต้น
หลายท่านไม่ทราบจุดนี้จึงทิ้งไป (เสียของ และใช้ของได้ไม่ถูกหลักครับ) หรือบางท่านเอาซากว่านนี้ไปผสมกับว่านที่เป็นวัตถุเป็น ก็จะทำให้พลังงานของว่านพร่องไปไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ ซึ่งการซื้อหาผงว่าน ๑๐๘ ตามร้านว่านต่างๆที่ขายผงว่าน ๑๐๘ นั้น ร้านว่านจำนวนหนึ่งก็มักเอาว่านที่ขายไม่ออก หรือแห้งเหี่ยวไป หรืออาจจะไม่ได้คัดซากว่านออกมาบดเป็นมวลสารรวม ทำให้พลังงานของผงว่านนั้นอ่อนลงมาก การหาผงว่านรวมจากร้านค้าจึงต้องพิถีพิถันในเรื่องนี้ด้วย ทางที่ดีควรซื้อหัวว่านสดมาทำมวลสารเองจะดีกว่า
ว่านบางอย่างก็เน้นเก็บเอาดอกหรือใบไม่ใช่หัว

อย่างว่านกลุ่มดอกทอง ก็เน้นเก็บเอาดอกด้วยเชื่อว่า ช่วงว่านออกดอก ฤทธิ์ว่านในเชิงเสน่ห์จะสูงที่สุดและเมื่อกลิ่นดอกกระจายออกไปจะเป็นอันตรายแก่คนในบ้าน ทำให้คนที่ได้กลิ่นว่านลุ่มหลงในกามราคะถึงขนาดผิดลูกผิดเมียกันได้ ท่านจึงให้รีบเด็ดมาทำประโยชน์เสีย ความจริงว่านนี้ในหัวจะมีฤทธิ์แรงกว่า แต่ถ้าใช้หัวเลย ว่านดอกทองซึ่งหัวจะมีขนาดเล็ก จะเสียของไม่คุ้มค่าท่านเลยประหยัดหัวว่านโดยการใช้ดอกเอา
เรื่องของว่านกลุ่มดอกทองนี้ปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์ให้การยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะฤทธิ์จากสารสกัดจากหัวว่านที่มีฤทธิ์ในการทำให้ผ่อนคลาย ให้ความรู้สึกสดชื่น และนอนหลับสบาย สารสกัดเมื่อผสมลงในน้ำหอม ทำให้ผู้ได้กลิ่นรู้สึกมีความสุข เรื่องนี้นี่เองที่โบราณท่านใช้ในทางเสน่ห์เมตตามหานิยม
การตัดตุ้มล้ำเลี้ยงของว่าน

เราจะเห็นได้ว่าว่านหลายชนิด โดยเฉพาะกลุ่มขมิ้นและกระเจียว จะมีตุ้มน้ำเลี้ยง สำหรับเก็บสารอาหารและความชื้น ซึ่งในตุ้มน้ำเลี้ยงนี่เอง ว่านจะใช้เป็นแหล่งสารอาหารและความชื้นเพื่อให้อยู่รอดตลอดฤดูแล้ง ในสภาพดินอันร้อนแล้ง เมื่อทำการกู้เก็บว่านจากดิน ว่านบางอย่างให้ทำการตัดตุ้มน้ำเลี้ยงเสีย โดยสังเกตจากสายของตุ้มน้ำเลี้ยงหากมีสายยาวและเล็ก สายท่อน้ำเลี้ยงจะค่อยๆเหี่ยวและไม่สามารถส่งผ่านความชื้นและอาหารได้ ทิ้งไว้ก็ไม่มีประโยชน์อาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อราด้วยซ้ำไป ให้เก็บไปทำยาหรือมวลสารจะดีกว่า

แต่ในขณะที่ว่านที่มีท่อน้ำเลี้ยงของตุ้มน้ำเลี้ยงขนาดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องตัดตุ้มน้ำเลี้ยงออก อย่างเช่นพวกกระชายทั้งหลาย ให้คงไว้อย่างนั้น
ความจริงแล้วหลายคนจะไม่ทราบว่าตุ้มน้ำเลี้ยงนี้มีประโยชน์ไม่แพ้หัวว่าน ซึ่งในทางการแพทย์แผนจีนมักใช้ในส่วนของตุ้มน้ำเลี้ยงนี้ทางยามากกว่าเสียด้วยซ้ำ อย่างเช่น ว่านมหาเมฆ เป็นต้นซึ่งก็แล้วแต่ละตำราไป ให้เลือกใช้ตามแต่ละสูตรตำรับที่ได้ระบุเอาไว้ เพราะเรื่องของจำนวนและปริมาณของโอสถสารนั้นที่หัวจะมีมากกว่าตุ้มน้ำเลี้ยงอยู่แล้ว ตุ้มน้ำเลี้ยงจะใช้ในบางตำราหรือบางโรคเท่านั้น
มีดสำหรับกู้ว่าน
ถ้าจะทำแบบให้ครบสูตรแล้ว มีดหรือเสียมสำหรับขุดกู้ว่านควรจะแยกต่างหากจาก มีดหรือเสียมที่ใช้ปกติ หรือแม้แต่ของมีคมใดๆก็ตามที่ใช้ตัดว่านควรแยกต่างหาก โดยเฉพาะว่านที่ใช้ในทางคงกระพันชาตรี ก็ด้วยคติที่ว่าหากแม้แต่ว่านเองยังถูกตัดขาดด้วยมีดทุกอย่าง ก็คงจะหวังอะไรไม่ได้ที่จะช่วยให้เจ้าของอยู่ยงคงกระพัน จึงจำต้องแยกมีดเฉพาะที่ว่านจะแพ้ทางได้เพียงหนึ่งเดียว ได้แก่มีดหมอที่ขุดว่าน
อีกประการ การแบ่งหัวว่านสำหรับปลูกให้ใช้การหักเอา จะไม่ใช้มีดตัดแบ่งเพราะจะทำให้หัวว่านเน่าได้ง่ายกว่า (ถ้าใช้มีดตัดแบ่งต้องทาปูนแดงที่รอยตัดเพื่อกันเชื้อราและฆ่าเชื้อโรค ก็พอแก้ได้) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรอยมีด การตัดผ่าจะตัดผ่านเซลล์โดยตรงทำให้เชื้อโรคเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อได้ง่าย แต่การหักนั้นหัวจะหักตรงรอยผนัง หรือเซลล์ที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้ว ทำให้การหักหัวว่านเชื้อโรคจะเข้าไปได้ยากกว่า
อีกประการคงเพราะสารบางอย่างตรงผิวโลหะอาจมีผลต่อการรักษาสภาพหัวของว่านทำให้หัวว่านอ่อนแอลงก็ได้ นี่คิดเป็นวิทยาศาสตร์นะ ถ้าคิดเชิงไสยศาสตร์ก็ว่า “มันแพ้ทางกัน” ครับ
แยกว่านตระกูลแก้และจืดไว้ต่างหาก
ว่านใดก็ตามที่มีสรรพคุณแก้ หรือทำให้ฤทธิ์ว่านจืดจาง ห้ามทำการผสมว่านเหล่านั้นลงในมวลสารที่เตรียม เนื่องจากจะทำให้ว่านเหล่านั้นสิ้นฤทธิ์ทั้งทางยาและทางความเชื่อ หรือแม้แต่จะปลุกเสกอิทธิคุณเช่นไรก็ไม่สามารถปลุกขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นจริงๆครับ จึงเป็นคติหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยแม้แต่ใบแห้งของว่านที่ใช้ในทางแก้และจืด ยังเอามาโรยให้เป็นปุ๋ยแก่ว่านชนิดอื่นไม่ได้เลยครับ ว่านที่ต้องระวังได้แก่ ว่านรางจืด ว่านขอทอง(แก้) เรื่องนี้เป็นข้อห้ามที่ห้ามกันมาก ในบางครั้งหากฤทธิ์ยาไม่เป็นไปดังหวัง หรือวัตถุมงคลที่มีมวลสารเป็นว่านไม่สามารถปลุกของขึ้นได้ ให้สืบสาวราวเรื่องให้ดี มักจะพบว่าเกิดจากการเผลอใส่ว่านพวกจืดและพวกแก้เข้าไป
และว่านหนึ่งที่คล้ายว่านขอทอง(แก้) มากคือหนุมานยกทัพ บางครั้งเราต้องการใส่หนุมานยกทัพ แต่ดันหยิบขอทอง(แก้)ไปใส่ แบบนี้ก็จบเรื่องกัน ต้องทำมวลสารกันใหม่ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังคือ ว่านในท้องตลาด เราต้องแยกให้ออกระหว่างว่าน ๒ รายการนี้เพราะถ้าพลาดแล้วเรื่องยาวครับ

ข้อคิดในแง่ความศักดิ์สิทธิ์ระหว่างว่านป่า (หรือว่านที่ปลูกแบบธรรมดา) กับว่านที่เลี้ยงดูแบบว่านจริงๆ
ข้อมูลจากตำราว่านเก่าๆ หลายๆเล่มมักมีคติตรงกันกล่าวคือเชื่อว่า
“…อิทธิฤทธิ์ของว่านนั้นจะมีคงที่ตลอดไปได้มักเป็นว่านที่ได้ปลูกติดต่อเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนมาแล้วโดยมาก เพราะผู้ปลูกเหล่านั้นทราบเคล็ดลับของการทำให้ว่านคงทรงอิทธิฤทธิ์อยู่โดยมิเสื่อมคลาย ส่วนว่านที่ขึ้นเองตามป่าเขาโดยธรรมชาตินั้นมักไม่ใคร่มีอิทธิฤทธิ์ ทั้ง ๆ เป็นว่านชนิดเดียวกันอย่างเดียวกัน ในการนี้ถึงแม้จะได้นำเอาว่านมาปลูก ถ้ามิได้ระมัดระวัง โดยปล่อยให้ว่านขึ้นและโรยราไปเองตามธรรมชาติหรือปล่อยให้ว่านคงอยู่ในดินตลอดระยะเวลาจนกว่าจะถึงฤดูฝนมาใหม่ ว่านก็จะผลิแตกต้นอีก แต่อิทธิฤทธิ์ของว่านนั้นจะจืดจางเสื่อมลงไปทุกที นาน ๆ หลายฝนเข้าก็หมดฤทธิ์ไปเอง
ทั้งนี้เป็นเพราะธาตุสาร(ปรอท) ในตัวว่านลืมต้น คือหนีออกไปจากต้นในขณะเมื่อว่านโทรมในฤดูแล้ง ถ้าหากได้กู้ว่านขึ้นจากดินภายในเดือน ๑๒ วันอังคารหรือภายในเดือนอ้ายไม่เกินข้างขึ้นอ่อน ๆ วันพุธเสียก่อนแล้ว คืออย่าให้ว่านคงอยู่ในดินเลยพ้นถึงฤดูนกกาเหว่าหรือนกยูงร้องหาคู่จึงจะไม่เสีย ถ้าปล่อยให้หัวว่านคงอยู่เลยฤดูนี้ไป ว่านนั้น ๆ ก็จะเสื่อมอานุภาพลงไปเรื่อย ๆ…”

ดังนั้นแล้วครูว่านส่วนมากจึงมักนิยมให้ทำการกู้เก็บว่านทุกๆปีในว่านที่ลงหัว ประการหนึ่งคือเรื่องของปรอทธาตุข้างต้น อีกประการนั้นจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองและบรรดาเซียนว่านทั้งหลาย ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หากปล่อยให้ว่านเติบโตเต็มกระถางหรือแปลงปลูก โดยไม่มีการขุดแบ่งเพื่อแยกขยายหรือใช้งาน ในปีที่ ๓ เป็นต้นไป การเบียดชิดกันของหัวว่าน การหมักหมมของซากว่าน จะทำให้หัวว่านรุ่นต่อๆไปไม่งอก หรือตายจนอาจสูญพันธ์ไปเลยก็มี โดยเฉพาะว่านจำพวกที่หัวชิดๆกันไม่แตกแขนงออกไปไกลต้น อย่างเช่น ว่านขอทอง(แก้) ว่านพุทธกวัก ว่านมหากวัก เป็นต้น
เข้าใจว่าเป็นเพราะก๊าซมีเทนจากการหมักของหัวว่าน หรืออาจเกิดจากเชื้อราที่สะสมจากการหมักหมมของหัวว่าน ดังนั้นว่านประเภทลงหัวโดยเฉพาะกลุ่มขมิ้น ควรกู้เก็บหัวว่านอย่างน้อย ๒ ปีต่อครั้งนะครับ

อนึ่งเรื่องของปรอทนั้นมีข้อมูลที่ทำให้เชื่อถือได้ทั้ง ๒ ประเด็นคือ คำว่าปรอทหมายถึงพลังงานหรือญาณว่าน ตามความหมายเชิงไสยศาสตร์ แต่ความหมายเชิงยาหรือสารเคมีอาจหมายถึงได้ปรอททางเคมี ที่มีสูตรทางเคมีคือ “Hg.” เพราะเมื่อคราวมหาอุทกภัยเมื่อปี ๒๕๕๕ นั้น น้ำได้พัดพาเอาสิ่งสกปรกจากขยะต่างๆรวมทั้งสารเคมีคือปรอทให้มาสะสมในดินมากขึ้น หลังน้ำท่วมจึงพบว่าพืชเจริญงอกงามมากเพราะปุ๋ยที่มากับน้ำ และพบว่าหลังจากปีนั้นพืชกลุ่มขมิ้นที่เข้าเครื่องยาสมุนไพร อย่างเช่น“ยาเม็ดดำบรรเทา ตราพระจันทร์” ต้องถูกเรียกเก็บออกจากตลาด เนื่องจากมีการสุ่มพบสารปรอทเกินปริมาณที่กำหนด ทางบริษัทที่ผลิตเองจึงต้องเลิกผลิตไป น่าเสียดายที่เสียยาดีๆไปอีก ๑ ตัว ทั้งนี้เพราะว่านพวกกลุ่มขมิ้นจะมีความสามารถซับโลหะหนักต่างๆ อย่างเหล็ก หรือปรอทได้ คตินี้จึงอธิบายภูมิปัญญาโบราณเรื่องปรอทได้ว่า อาจหมายถึง Hg. เลยก็ได้
ส่วนในเรื่องของการซับเหล็กของว่าน ก็เป็นอีกคติในการเลี้ยงว่านด้วยเหล็กจนเหล็กเข้าเนื้อว่าน ทำให้หัวว่านมีอำนาจเหล็กคือแม่เหล็กดูดติด ว่านนั้นคือ “ว่านโพลงกินเหล็ก” นั่นเองครับ
พิธี การกู้ หรือเก็บเอาว่านขึ้นเก็บไว้

๑) ให้เลือกเอาวันอังคารวันใดวันหนึ่งในเดือน ๑๒ หรือไม่เกินวันพุธข้างขึ้นอ่อน ๆ ของเดือนอ้าย เป็นวันขุดเอาหัวว่านขึ้น เพราะเป็นช่วงที่หัวว่านมักแก่เต็มที่และลงหัวหมดแล้ว อิทธิคุณหรือโอสถสารในหัวว่านมีเต็มที่แล้ว
๒) เวลาจะขุดว่าน ให้ใช้มือตบดินตรงใกล้กอว่านหรือต้นว่านนั้นแล้วว่าคาถาเรียกว่านไปตบดินไปสลับกัน จนกว่าคาถาใช้เรียกว่านจะจบลง จึงขุดเอาหัวว่านขึ้นมา
๓) คาถาสำหรับเรียกว่านมีดังนี้ “อมขุก ๆ กูจะปลุกพญาว่านให้ลุกก็ลุก กูจะปลุกพญาว่านให้ตื่นก็ตื่น พญาว่านหนีไปอื่นให้แล่นมาหากูนี่เน้อ มาฮอดแล้วพันเฝ้าตื่น อม มะ สะ หะ หับคงทน” ซึ่งตัวคาถาบทนี้เป็นตัวคาถาที่แพร่หลายตามตำหรับกบิลว่านภาคกลาง แต่ในภาคอื่นๆนั้นอาจมีความแตกต่างกันไปบ้าง

นอกจากนี้ยังมีตัวคาถาทางสายขอมที่ใช้เวลากู้ว่านนั่นคือ “โอม คะเก็งคะกัง คะเก็งการัง เค็งกังสวาหะ” โดยส่วนตัวแล้วแนะนำให้ใช้สำนวนของทางกบิลว่านภาคกลางมากกว่าครับ
๔) ในการขุดเอาว่านขึ้นใช้หัวเพื่อนำไปทำอะไรหรือติดตัวไปไหนด้วย หรือจะขุดเพื่อเก็บว่านเอาไว้เพราะมีมากเกินไป ก็ต้องใช้คาถาเรียกว่านกำกับเวลาขุดขึ้นทุกคราวไป ว่านนั้น ๆ จึงจะทรงอิทธิฤทธิ์คงที่อยู่เสมอไม่เสื่อมคลายลงเลย
ฤกษ์ในการขุดหรือปลูกว่าน
การขุดหรือปลูกว่านให้คงมีอิทธิฤทธิ์โดยไม่เสื่อมคลายนั้น ท่านมีวันกำหนดให้ทำการในเดือนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- เดือนอ้ายหรือเดือน ๑ ใช้วันพุธ
- เดือนยี่(เดือน ๒), เดือน ๗ ใช้วันพฤหัสบดี
- ในเดือน ๓ กับเดือน ๘ ใช้วันศุกร์
- ในเดือน ๔ , ๙ กับเดือน ๑๑ ใช้วันเสาร์
- เดือน ๕ กับเดือน ๑๐ ใช้วันอาทิตย์
- เดือน ๖ กับเดือน ๑๒ ใช้วันอังคาร
ตามตำราโดยมากมักปลูกในเดือน ๖ วันอังคาร และขุดในเดือน ๑๒ วันอังคาร เหมือนกันอย่างนี้เกือบทุกเล่ม ทั้งนี้เพราะเดือน ๖ วันอังคาร เป็นฤดูฝนเหมาะแก่การปลูก และเดือน ๑๒ เหมาะแก่การขุดเอาขึ้น เพราะเป็นสมัยน้ำจะลงมาท่วมบรรดาพืชที่ปลูกกับพื้นดินนั่นเอง(คาดว่าเป็นฤดูน้ำหลากของภาคกลางโบราณ) ส่วนวันอังคารทั้ง ๒ เดือนนั้น ก็เพราะเป็นเกณฑ์ฤกษ์ดีของเดือนทั้งสองที่ตกในวันอังคาร และจะสังเกตได้ว่าไม่มีวันกู้ว่านตามเดือนที่เป็นวันจันทร์เลยครับ
เคล็ดลับของการขุดว่าน เพื่อให้ต้นว่านขลังเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างคือ ในขณะที่ยกต้นว่านขึ้นจากดินที่ปลูกอยู่เดิมเมื่อขุดออกได้แล้ว ให้ร้องว่า ขะโมย…ขะโมย…ขะโขย ๓ ครั้ง ดังนี้แล้ว จึงนำว่านนั้นไปปลูกตามพิธีการปลูกว่านแต่ละชนิดให้ถูกต้องต่อไป เมื่อทำได้ดังนี้ ต้นว่านนั้นจะคงความขลังความศักดิ์สิทธิ์ตามอิทธิฤทธิ์ที่มีโดยมิเสื่อมคลาย(การขโมยเป็นเคล็ดทางวิชาว่าน เรียกว่าขโมยฤทธิ์ว่าน ไม่ใช่ไปลักไปขโมยว่านของคนอื่นเขานะครับ)

ว่านโดยเฉพาะว่านยาเมื่อทำการเก็บกู้ว่านแล้ว ให้ผึ่งลมหรือแดดอ่อนๆให้แห้ง ใส่ถุงมัดหลวมๆหรือเปิดปากถุงไว้ในร่มคอยหมั่นตรวจเช็คเชื้อราอยู่เสมอ ๆ พอฝนเริ่มตกในราวๆเดือนหก ก็ค่อยๆทยอยๆลงดินปลูกอีกครั้ง
เรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน
ผู้เผยแพร่ พรหมวิหารคลินิก
๒๕ พ.ค. ๒๕๕๗
——————————————————-