ตำราว่านในตำนาน ๑๒ เล่ม

ตำราว่านในตำนาน ๑๒ เล่ม

เมื่อแรกเริ่ม ผู้สนใจเรื่องว่านจะทำการศึกษาเรื่องว่านนั้น ไม่ว่าจะต้องการเล่นว่านแบบพอสนุก หรือมุ่งมั่นเอาเป็นเอาตายให้เก่งขนาดเป็นเซียนว่านเลยทีเดียวนั้น  สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนักเล่นว่านเพื่อการเป็นเซียนว่านรุ่นใหญ่ในอนาคต ก็คือ ตำราว่านดีๆคู่ใจสักเล่มสองเล่ม ซึ่งเมื่อเล่นว่านไปสักพัก จากตำราว่าน ๑-๒ เล่มก็จะค่อยๆเขยิบมาเป็นนับสิบเล่ม เช่นเดียวกับผู้เขียนและพรรคพวกนั่นเอง

ตอนในสมัยเด็กๆนั้นผู้เขียนก็ได้อาศัยห้องสมุดประจำโรงเรียนเป็นแหล่งข้อมูล ซึ่งเราจะได้มีโอกาสเห็นข้อมูลว่านจากตำรายุคต่างๆ หลายๆเล่ม แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นตำรายุคเก่าๆจริงๆ เพราะส่วนมากจะทนมือการหยิบยืมไม่ไหว กว่าจะมาถึงมือคนรุ่นเรา ตำราเก่าๆก็มักจะพังเข้ากรุหรือถูกขอลืม(ขอยืมไปแล้วแกล้งทำลืมคืน)ไปเสียแล้ว โดยส่วนมากเรามักจะพอเห็นตำราที่เขียนในช่วงยุค ๒๕๒๒-๒๕๒๔ เสียเป็นส่วนใหญ่ การนี้ผู้เขียนจึงได้นำข้อมูลของตำรายุคเก่าๆนับตั้งแต่ตำราว่านเล่มแรก จนถึงยุคปัจจุบันซึ่งแต่ละเล่มนั้นก็มีจุดเด่นแตกต่างกันออกไปมาฝากแฟนๆในคอลัมน์ครับ โดยประเดิมด้วยเรื่องและภาพของตำราว่านในตำนานทั้ง ๑๒ เล่มกันก่อนเลยครับ

หากทำการศึกษาเรื่องว่านและตำราว่านกันอย่างลึกซึ้งแล้วจะสามารถแบ่งตำราว่านออกเป็น ๓ ยุคด้วยกันกล่าว คือ

๑. ยุคแรก

นับตั้งแต่ตำราว่านเล่มแรกที่ตีพิมพ์ในปีพ.ศ.๒๔๗๓ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นยุคที่การเล่นว่านนั้นไม่หรูหราฟู่ฟ่านัก ข้อมูลต่างๆที่เขียนขึ้นมาจึงถูกเขียนโดยผู้มีความรู้หรือได้จากแหล่งตำรับตำราที่มีบันทึกอยู่จริง ไม่ใคร่จะมีการแต่งสีเติมไข่เพื่อแสวงหากกำไรใดๆ เป็นไปเพื่อวิทยาทานเสียส่วนใหญ่

๒. ยุคเฟื่องฟู

เป็นยุคที่วงการว่านมีความเฟื่องฟูมาก การซื้อขายว่านมีความคึกคักมาก เป็นยุคที่มีการจัดการประกวดว่านออกทางทีวีด้วย โดยนับตั้งแต่ยุคหลัง ปี พ.ศ.๒๕๒๐ จนถึง ๒๕๒๖ ซึ่งต่อมาเมื่อถึงจุดอิ่มตัวแล้ววงการว่านค่อยๆทยอยซบเซาลง ซึ่งมองดูคล้ายๆปรากฏการองค์พ่อจตุคามรามฟีเวอร์ในยุค ปี พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๒ เสียจริงๆ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลกในการถือมงคลตื่นข่าวที่มักจะทยอยๆเกิดมีและดับไปเป็นช่วงๆ ตัวอย่างเช่น การตื่นโป่งข่ามในสังคมไทยราวๆปี พ.ศ. ๒๕๑๓(๑) เป็นต้น

๓. ยุคปัจจุบัน

ซึ่งเป็นยุคหลังจากที่วงการว่านเริ่มซบเซาลง จึงไม่ค่อยจะพบเห็นตำราออกมาเท่าไรเมื่อเทียบกับยุคที่สอง เนื่องจากได้นอกกระแสความสนใจของผู้คนไปแล้ว โดยนับตั้งแต่ราวๆปี พ.ศ. ๒๕๒๗ จนถึงปัจจุบัน

ตำราในยุคนี้จำนวนมากเป็นการอ้างอิงตำราเดิมเรียกว่าเก่าเอามาทำใหม่นั่นเอง ส่วนมากมักอ้างอิงสำนวนตำราของ เชษฐา พยากรณ์ ซึ่งเป็นนักเขียนที่ออกหนังสือเกี่ยวกับว่านหลายเล่ม และแพร่หลายมากที่สุด(ปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว)

เป็นที่น่าสนใจมากเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ สำนักพิมพ์บ้านและสวนได้ออกหนังสือว่านชื่อ ว่าน สมุนไพร ไม้มงคล โดย ณรงค์ศักดิ์ ค้านอธรรม นับว่าเป็นการรวบรวมรายการว่าน ตลอดจนองค์ความรู้เรื่องว่าน ได้ออกมาชัดเจนแตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆในยุคปัจจุบันนี้ทีเดียว พอประมาณเทียบเท่ากับ ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน  โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ

ตำราในยุคแรกที่นักเลงว่านรุ่นเก่าให้ความเชื่อถือมากที่สุดเล่มหนึ่ง ราคาก็สมน้ำสมเนื้อกับคุณภาพ ๖๑๕ บาทครับ ทำให้การเล่นหาว่านในปัจจุบันมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้น แม้ในช่วงนี้จะไม่ฟู่ฟ่ามากนักเหมือนเช่นในอดีตก็ตาม แต่ก็ทำให้พบปรากฏการแปลกๆคือ กลุ่มคนที่สนใจนั้นมีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่เป็นกลุ่มเยาวชนครับ

แรกเริ่มเดิมทีนั้น คำว่าว่านน่าจะมีการจดบันทึกแทรกอยู่อย่างกระจัดกระจายตามตำรับตำรายาโบราณ ตลอดจนคัมภีร์ไสยศาสตร์รุ่นเก่าๆ ของไทย เช่น ปั๊บสา/ใบลาน สมุดข่อย ส่วนที่สามารถพบเห็นเป็นหลักฐานแน่นอนจากการค้นคว้าของอาจารย์วิชัย อภัยสุวรรณ ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ “ธรรมชาติศึกษา” ฉบับ พืชที่เรียกว่าน รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.๒๕๒๔ นั้นกล่าวว่า พบมีบันทึกคำว่าว่านอยู่ใน(๒)

หนังสือที่ตีพิมพ์ในยุคแรกๆ ๒ เล่มด้วยกัน

แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์

๑. หนังสือ “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์”(๒, ๓) โดย พระยาพิศประสาทเวช  (ท่านอาจารย์คง) เป็นประธานผู้รวบรวม พิมพ์ครั้งแรก ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐

แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เป็นตำราแพทย์แผนโบราณ ฉบับหลวง มีที่มาจาก พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นว่า

บรรดาคัมภีร์แพทย์แผนโบราณ และตำรายาพื้นบ้านของไทย มีคุณประโยชน์ยวดยิ่ง ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำนุบำรุง ให้พระคัมภีร์แพทย์ปรากฏไว้ เป็นหลักฐานเผยแพร่ต่อไปในกาลภายหน้า จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมแพทย์หลวง เริ่มแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๓ นำคัมภีร์แพทย์ในที่ต่างๆ มาตรวจสอบชำระ ให้ตรงกันกับฉบับดั้งเดิม โดยจุดมุ่งหมายของตำรา แพทยศาสตร์สงเคราะห์ มิได้มีบทบาทเป็นตำราแพทย์ เฉพาะให้แพทย์ใช้ และก็มิได้เป็นเพียงตำราแพทย์ ที่ใช้เรียนในราชแพทยาลัยเท่านั้น หากยังเป็นตำราแพทย์ประจำบ้าน สำหรับสามัญชนทั่วไป ไว้ใช้ช่วยตนเอง และครอบครัวด้วย(๔)

แพทย์ตำบล
แพทย์ตำบล

๒) หนังสือ “แพทย์ตำบล เล่ม ๑ พระยาแพทย์พงศาวิศุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ซึ่ง นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๕ ของประเทศไทย มีศักดิ์เป็นหลานลุง เป็นผู้รวบรวมตำรานี้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.๒๔๖๔

ในหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้ จะพบว่ามีว่านอยู่เพียง ๕ ชนิดเท่านั้น คือ ว่านกีบแรด ว่านนางคำ ว่านหางช้าง ว่านน้ำ และว่านเปราะ ซึ่งล้วนแต่เป็นว่านยาที่ใช้ประโยชน์ในทางสมุนไพร(๒, ๓)

ว่านกลีบแรด
ว่านกลีบแรด

แต่ในเอกสารอ้างอิงที่ ๔ พบว่าระบุไว้ถึง ๑๐ ชนิดด้วยกันคือ ว่านกลีบแรด ว่านนางคำ ว่านน้ำ ว่านร่อนทอง ว่านสากเหล็ก ว่านเสมา ว่านหางจระเข้ ว่านหางช้าง ว่านเปราะ(พบในเนื้อหาตำรับยา) ว่านกาบหอยเล็ก(พบในตัวอย่างรูปภาพประกอบ)(๔)

ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๓ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงถึงขนาดทางรัฐบาลต้องปลดข้าราชการออกจากกรมกองเป็นจำนวนมากเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเงินเดือน โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นชุกชุม มีการก่อวินาศกรรมแบบเผาเมืองเกิดขึ้นเป็นประจำ เป็นยุคที่คนไทยหมดที่พึ่งทั้งทางชีวิตและจิตใจด้วยบรรดาท้าวพระยาเสนาบดีทั้งหลายไม่มีเวลาดูแลทุกข์สุขของราษฎรเพราะมัวแต่แก่งแย่งอำนาจกันและกัน(๓)

แหม่!…ช่างคล้ายกับยุคปัจจุบัน นี้เสียจริงๆ

เมื่อคนหมดที่พึ่งพิง ก็พากันแสวงหาสรณะที่พึ่ง บ้างก็เข้าเข้าวัดวา บ้างก็แสวงหาของดีที่ช่วยทำให้ชีวิตรอด หรือช่วยใหม่มีฐานะดีขึ้น ด้วยมูลเหตุนี้จึงไปปลุกกระแสความนิยมในว่าน ทั้งว่านที่ใช้ในทางป้องกันไฟ ว่านประเภทป้องกันขโมยขึ้นบ้าน ว่านยู่ยงคงกระพัน ว่านแก้ความยากจน จนมีผู้เห็นความสำคัญของกระแสดังกล่าว และได้ทำการรวบรวมและจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับว่านขึ้นเป็นเล่มแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ซึ่งถือว่าเป็นตำราว่านเล่มแรกของไทยหรือของโลกก็ว่าได้ คือหนังสือ “ลักษณะว่าน” ของ นายชิต วัฒนะ(๓)

ตำราว่าน

และต่อไปนี้คือรายชื่อ “ตำราว่าน” ทั้งหมด เท่าที่เคยมีการจัดพิมพ์กันขึ้นมา ในยุคก่อน พ.ศ.๒๕๒๐(๒) ซึ่งถือกันว่าเป็นตำราว่านในตำนาน ๑๒ เล่ม ที่นักเลงว่านต่างแสวงหากันมาก

๑) ตำราว่านเล่มแรกของไทย และของโลกจริงๆ นั้นชื่อ “ลักษณะว่าน” โดย นายชิต วัฒนะ(๒, ๓, ๕)  เป็นผู้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ สำหรับเล่มนี้ผู้เขียนเองยอมรับว่ายังไม่เคยพบเห็นและไม่มีไว้ครอบครองด้วย ได้ติดตามมานานแล้วแต่ไม่สามารถหาได้เลย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก หากสูญหายไปจากสังคมไทย เพราะหนังสือเล่มนี้จะช่วยยืนยันว่าตำนานเริ่มแรกจริงๆของว่านที่เล่นหากันนั้น เล่นหาว่านตัวใดกันบ้าง ถ้าใครพบเห็นหรือครอบครองก็ช่วยบอกด้วย ทางผมต้องการเพียงคัดลอกหรือสำเนาเพื่อที่จะเติมเต็มฝันและปณิธานที่อยากจะช่วยชำระและอนุรักษ์ภูมิปัญญาแห่งสยามแขนงนี้ให้บริสุทธิ์และคงอยู่สืบทอดให้ลูกให้หลานตราบนานเท่านานครับ

ตำราว่านเล่มแรกของไทย
ตำราว่านเล่มแรกของไทย

๒) เล่มที่สองชื่อ “ตำหรับ กระบิลว่าน” โดย หลวงประพัฒสรรพากร(๒, ๓, ๕) รวบรวมพิมพ์ ในงานปลงศพสนองคุณ นางเอี่ยม กาญจนะโภคิน โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พ.ศ. ๒๔๗๕  และรวบรวมพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์โท วิจิตร เลขการ โรงพิมพ์ อักษรนิติ บางขุนพรหม พ.ศ. ๒๔๗๖(๒, ๓)  ซึ่งข้อความทั้ง ๒ เล่มเหมือนกันครับ

ในสมัยนั้นต่างยอมรับนับถือกันว่า เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เรื่องว่านอย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว และใช้เป็นคู่มืออ้างอิงกันอยู่ในหมู่นักเลงว่านอย่างกว้างขวางในสมัยนั้น ขนาดราชบัณฑิตยสถานยอมรับนับถือ ให้ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในปี ๒๔๗๗ จนแล้วเสร็จในปี ๒๔๙๓(๓)

มีรายชื่อว่าน ๑๑๔ ชนิด และรายชื่อพันธ์ไม้ที่ใช้เป็นสมุนไพรอีก ๗ ชนิด ในตอนต้นกล่าวถึงคาถาปลุกว่านก่อนทำการกู้ ที่ว่า

“อมขุกๆ กูจะปลูกพญาว่านให้ลุกก็ลุก กูจะปลูกพญาว่านให้ตื่นก็ตื่น พญาว่านหนีไปอื่นให้แล่นมาหากูนี่เน้อ มาฮอดแล้วพันเฝ้าตื่น อมมสหหับคงทน”

เอาไว้ด้วย ซึ่งผู้เขียนได้คัดลอกตามอักขระเดิมทุกประการโดยเน้นให้เห็นว่าคำว่าปลุกนั้น ในตำราเขียนว่าปลูกครับ

๓) เล่มสามชื่อ “ตำราพันธุ์ว่านยา 108 อย่าง” ศ.ส. (๒, ๓, ๕) รวบรวมพิมพ์ โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, ๒๔๘๐(๒) เล่มนี้ผู้เขียนยังหาไม่ได้เช่นกันครับผม

คู่มือนักเล่นว่าน
คู่มือนักเล่นว่าน

๔) เล่มที่สี่ “คู่มือนักเล่นว่าน” ล.มหาจันทร์(๒, ๓, ๕)  รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๐ พิมพ์ที่ โรงพิมพ์หลักเมือง ถนนบำรุงเมือง พระนคร เล่มนี้มีรายชื่อว่าน ๕๔ ชนิดครับ สำนวนในหนังสือเล่มนี้เป็นสำนวนเชิงผู้รู้เล่าจากประสบการณ์ การปลูกว่านของต้นเองและบรรยายลักษณะเป็นภาษาชาวบ้าน ซึ่งต่างจาก “ตำหรับ กระบิลว่าน” โดย หลวงประพัฒสรรพากร ซึ่งภาษาเป็นแนวภาษาหนังสือที่คัดลอกมาจากคัมภีร์สมุดข่อยใบลานต่างๆ

ตำราสรรพคุณยาไทย
ตำราสรรพคุณยาไทย

๕) เล่มที่ห้า “ตำราสรรพคุณยาไทย ว่าด้วยลักษณะกบิลว่าน” นายไพทูรย์ ศรีเพ็ญ(๒, ๓, ๕)  รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มีรายการว่านอยู่ในหนังสือ ๘๘ ชนิด สำนวนเป็นภาษาบรรยายสั้นๆประมาณ ๒ บรรทัด เพราะส่วนใหญ่เนื้อหาในตำราจะเน้นที่ยาสมุนไพรมากกว่า เช่น ว่านพระฉิม ลักษณะเหมือนใบพลู ต้นขึ้นเป็นเถา ใช้ในทางคงกระพัน, ว่านพระมเหศวร ลักษณะก้านใบเขียว ใบเหมือนใบโพธิ์รักษา กลางใบดุจดังน้ำค้าง ใช้ในทางเมตตามหานิยม

เล่มนี้นับเป็นตำราเล่มสุดท้ายในยุคก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ พอตำราเล่มนี้พิมพ์ออกมาได้ไม่นานนัก ประเทศไทยก็ตกอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้นอีกครั้ง ผู้คนจึงพากันพึ่งความศักดิ์สิทธิของว่านกันอีกรอบหนึ่ง

ยุคนี้เองที่การสร้างพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง ได้เริ่มมีการนำว่านมาสร้างกันอย่างแพร่หลาย โดยมีการนำว่านมาสร้างมากกว่าเนื้อโลหะเสียอีก เนื่องจากโลหะสมัยนั้นหายากมากขนาดตะปูเก่าๆราคายังแพงถึงกิโลกรัมละ ๘ บาททีเดียว(๓)

หลังสงครามสิ้นสุดลงบ้านเมืองเข้าสู่ยุคสร้างบ้านแปลงเมือง และยุคแฟชั่นต่างๆ เช่น แฟชั่นสวมหมวกเถิด จะสำรวยสวยไม่เบา แฟชั่นทำสวนครัวไม่ต้องกลัวอดผัก แฟชั่นประกวดแม่ลูกดก แฟชั่นผู้นำไปทางไหน ฉันจะตามไปทางนั้น ฯลฯ ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี (ท่านแปลกสมชื่อจริงๆ) จนทำให้ในช่วงนั้นผู้คนต่างพากันลืมว่านไปเสียเลย วงการว่านช่วงนี้จึงซบเซาไปพักใหญ่ทีเดียว(๓)

ต่อมาถึงยุคอันธพาลครองเมืองราวๆ พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๐ เศรษฐกิจและการเมืองสับสนวุ่นวายอีกครั้ง ข้าวของแพง ภาษีขึ้น นักการเมืองมัวแต่แย่งชิงอำนาจกัน วงการว่านก็เลยกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง

ตำราดูว่านและพระเครื่องพระบรมธาตุ
ตำราดูว่านและพระเครื่องพระบรมธาตุ

๖) ทิ้งช่วงมานานหลายปีจึงมาถึงเล่มที่หกชื่อ “ตำราดูว่านและพระเครื่องพระบรมธาตุ” โดย ชัยมงคล อุดมทรัพย์(๒, ๓, ๕) หรือโหรญาณโชติ อดีตคอลัมนิสต์นิตยสารทีวีสยาม  รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๓ เล่มนี้มีชื่อว่านบันทึกอยู่ ๑๑๒ ชนิด(๒) ซึ่งต่อมาท่านได้พิมพ์ตำรา คัมภีร์ไสยศาสตร์ ฉบับสมบูรณ์ ตีพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งได้ระบุจำนวนว่านถึง ๒๖๐ ชนิด และพฤกษาศาสตร์วิเศษอีก ๔๖ ชนิด ซึ่งตำราเล่มหลังนี้ผู้เขียนถือว่าใช้อ้างอิงได้ทีเดียวแต่จัดอยู่ในตำรายุคที่สามหรือตำรายุคใหม่ครับ

ตำรากบิลว่าน
ตำรากบิลว่าน

๗) เล่มที่เจ็ด “ตำรากบิลว่าน” พยอม วิไลรัตน์(๒, ๓, ๕)  รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๔ ตำราเล่มนี้มีว่านบันทึกไว้ ๒๓๓ ชนิด (แต่ว่านจำพวกเศรษฐี ๘ ชนิด ท่านนับรวมเป็น ๑ ชนิดเท่านั้น) และยังมีพืชที่เรียกว่า “ต้นยาวิเศษนานาชนิด” อีก ๔๗ ชนิดบันทึกไว้ รวมเป็นทั้งหมด ๒๘๐ ชนิด(๒)

จุดเด่นของตำราเล่มนี้คือ ต้นยาวิเศษนานาชนิดนี่เอง ซึ่งเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประเภทหนึ่งที่โบราณให้ชื่อเป็นปริศนายากแก่การตีความ ถือว่าเป็นกลุ่มของต้นไม้ที่เป็นทนสิทธิ์อย่างหนึ่ง หากใครตีความได้และแสวงหามาได้ตามตำรา เทียบกับได้แก้วมณีอันมีค่าเลยทีเดียว ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผู้ตีความได้น้อยเต็มทีจนบางตัวเรียกว่าสูญพันธ์ไปจากองค์ความรู้แล้วก็ว่าได้

ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน
ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน

๘) เล่มที่แปด “ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” ฉบับแก้ไขและเพิ่มเติมใหม่ อุตะมะ สิริจิตโต(๒, ๓, ๕)  รวบรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ในตำราเล่มนี้มีว่านอยู่ ๑๖๘ ชนิด เป็นตำราเล่มแรกที่มีภาพประกอบอยู่ด้วย แต่เป็นภาพขาวดำที่ไม่ค่อยชัดนัก และมีเพียง ๑๖ ภาพเท่านั้น(๒)

ตำราวิธีปลูกว่านและดูลักษณะว่าน
ตำราวิธีปลูกว่านและดูลักษณะว่าน

อุตะมะ สิริจิตโต ได้เขียนตำราว่านออกมาก่อนหน้านี้แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก ชื่อ “ตำราวิธีปลูกว่านและดูลักษณะว่าน” โดย สิริจิตโต มีรูปภาพประกอบขาว-เขียวจำนวน ๑๗ รูป โดย อุตะมะ สิริจิตโต นี้เองที่กล่าวถึงเคล็ดในการเลี้ยงว่านให้เข้มขลังโดยการขโมย ออกมาเป็นท่านแรกๆ กล่าวคือการร้องขโมยๆๆ ๓ ครั้ง ก่อนที่จะนำว่านมาจากเจ้าของหรือร้านว่าน เล่มแรกนี้มีรายการว่าน ๑๑๐ ชนิด(ซ้ำว่านไชยมงคล-ว่านชัยมงคล)

ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์
ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์

๙) เล่มที่เก้า “ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์” อาจารย์ชั้น หาวิธี(๒, ๓, ๕)  รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๖ ในเล่มนี้มีว่าน ๑๙๗ ชนิด (พิมพ์ซ้ำ ๕ ชนิด) และมีต้นยาพิเศษอีก ๘ ชนิด รวมเป็น ๒๐๕ ชนิด(๒)

ในตำราหน้าแรกๆได้กล่าวถึงการค้นพบพระยางิ้วดำต้นแท้ และตำรานี้เป็นตำราที่สายว่านศิษย์ป้าบุญช่วย ใจจันทึก ใช้เป็นข้อมูลตำราอ้างอิงในการเล่นหาว่าน ซึ่งเรื่องเล่าของครูว่านต่างๆ เช่น ป้าบุญช่วย, อ.หล่อ ขันแก้ว, ส.เปลี่ยนสี, และเชษฐาพยากรณ์ ทางผู้เขียนจะได้นำมาลงเป็นข้อมูลเชิงลึกให้อ่านกันในฉบับต่อๆไปครับ

สำหรับอาจารย์ชั้นนั้น เมื่อก่อนท่านมีแผงขายว่านอยู่ที่สนามหลวง ภายหลังจึงย้ายเข้าไปขายในตลาดวัดมหาธาตุครับ(๒)

ตำราคุณลักษณะว่าน
ตำราคุณลักษณะว่าน

๑๐) เล่มที่สิบ “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ(๒, ๓) รวบรวมพิมพ์ในนามของสมาคมพฤษชาติแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๐๖ ตำราเล่มนี้ได้รวบรวมชื่อว่านเข้าไว้ถึง ๓๐๑ ชนิด รวมกับต้นยาอีก ๑ ชนิด(เถากำแพง ๗ ชั้น) รวมเป็น ๓๐๒ ชนิด แต่มีที่ซ้ำเยอะมากเพราะเป็นตำราที่รวบรวมและเรียบเรียงขึ้นมาจากตำราทั้ง ๙ เล่มข้างต้น รวบรวมเอาเข้ามาไว้ในเล่มนี้เล่มเดียว ทำให้มีชื่อพ้องชื่อซ้ำกันเป็นธรรมดา ในตำราเล่มนี้มีภาพขาวดำประกอบอยู่ ๑๖ ภาพ(๒)

ตำราว่านเล่มนี้นี่เอง ที่นักเลงว่านตัวจริงในยุคกลางตลอดมาจนถึงยุคหลัง ต่างก็ใช้เป็นคู่มือและใช้เป็นหลักอ้างอิงในการเล่นว่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้ และต่างก็ยอมรับนับถือกันว่าเป็นตำราว่านที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะได้รวบรวมรายละเอียดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับว่านเอาไว้ทั้งหมด เป็นต้นว่า กำเนิดว่าน พระตำหรับว่าน อิทธิฤทธิ์ของว่าน ฤกษ์ในการปลูกว่านหรือกู้ว่าน วิธีปลูกว่าน พิธีกู้ว่าน ตลอดจนคาถาที่ใช้ในการเสกน้ำรดว่านเพื่อให้คงความเข้มขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังเป็นตำราว่านเล่มแรกและเล่มเดียวที่มีการจำแนก และบอกชื่อว่านเป็นชี่อทาง พฤกษ์ศาสตร์ไว้ได้ถึง ๑๔๓ ชนิดถึงแม้จะไม่ครบทั้งหมดก็ตาม (๒, ๓) แต่ก็ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้นักเล่นว่านรุ่นหลังเล่นว่านกันเป็นอย่างสากลมากยิ่งขึ้น ทำให้การแยกแยะหรือระบุชื่อชนิดของว่านเป็นไปอย่างชัดเจนขึ้น

ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์
ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์

๑๑) เล่มที่สิบเอ็ด “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น. รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๘ ตำราเล่มนี้รวบรวมว่านไว้ ๒๑๗ ชนิด (มีซ้ำ ๑ ชนิด) และมีภาพขาวดำประกอบอยู่ ๓๖ ภาพ(๒)

ตำราเล่มของ ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น. นี้เองที่กล่าวถึงคาถาปลุกว่านก่อนทำการกู้ว่านที่เพิ่มอีก ๑ ประโยคเข้ามา ทำให้เนื้อความได้ใจความสมบูรณ์ขึ้น พระคาถาว่า

“อมขุกขุก กูจะปลูกพญาว่าน ให้ลุกก็ลุกกูจะปลูกพญาว่านให้ตื่นก็ตื่น ถ้าพญาว่านหนีไปอื่นให้วิ่งมาหากูนี่เน้อ พญาว่านหนีไปข้างหน้าให้มาฮอดกูนี่เน้อ มาฮอดแล้วพันเฝ้าตื้น อมมสหับคงทน”

ตำราเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่มีการเปิดตัวบรรดาว่าน ที่มีชื่อ”กวัก”นำหน้าเอาไว้ถึง ๙ ชนิด ได้แก่ กวักพุทธเจ้าหลวง กวักนางพญาใหญ่ กวักนางพญาเล็ก กวักนาวมาควดี (ภายหลังเล่นกันในนามว่านมหาโชค) กวักหงสาวดี(ภายหลังเล่นกันในนามว่านมหาลาภ) กวักทองใบ กวักแม่จันทร์ กวักโพธิ์เงิน และกวักเงินกวักทอง ให้นักเลงว่านได้รู้จักและเริ่มเสาะแสวงหามาเล่นกัน(๒)

กบิลว่าน ๑๐๘
กบิลว่าน ๑๐๘

๑๒) เล่มสุดท้ายชื่อ “กบิลว่าน ๑๐๘” สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๖ ตำราเล่มนี้เกิดขึ้นจากการที่อาจารย์ทัศนา ทัศนมิตร ได้นำเรื่องว่านไปลงเผยแพร่ในนิตยสาร “นพเก้า” ก่อน แล้วค่อยรวบรวมพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มในภายหลัง จึงมีภาพประกอบอยู่มากจนดูคล้ายกับตำราว่านในยุคหลังๆ แต่ที่จัดเข้าไว้ในยุคแรกก็เพราะช่วงที่จัดพิมพ์ตำรานี้ ว่านยังไม่เป็นที่นิยมฮือฮากันมากนัก ตำราเล่มนี้จึงพอเชื่อถือได้เพราะจุดประสงค์ในการจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อการเผยแพร่ มิได้มุ่งหรือหวังผลทางการค้า(๒)  สำหรับเล่มนี้ยังพอหาซื้อได้ตามร้านหนังสือเก่าครับ เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนยังเห็นมีวางขายอยู่ ส่วนเล่มอื่นๆอีก ๑๑ เล่มนั้น ผู้เขียนไม่เห็นนานแล้วครับ

นักเล่นว่านทั่วไปที่มีความรู้(แถมอาจจะมีอายุมีประสบการณ์ผ่านช่วงเวลาต่างๆข้างต้นมาแล้ว) ต่างก็ยอมรับกันว่ารายชื่อว่านที่ได้บันทึกอยู่ในตำราทั้ง ๑๒ เล่มข้างต้นนี้แหละ คือ “ว่าน” ที่แท้จริง  ด้วยเพราะเป็นการค้นคว้ารวบรวมเอามาจากบรรดาครูอาจารย์และผู้รู้ที่เชื่อถือได้ในรุ่นก่อนๆ บ้างก็คัดลอกมาจากตำราเก่า คัดจากใบลานบ้างสมุดข่อยบ้าง โดยมิได้มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่เพื่อเป็นวิทยาทาน ไม่ได้ตั้งชื่อกันเอาเองเพื่อหวังผลการค้าขายต้นว่านอย่างการเล่นว่านในยุคหลังๆโดยเฉพาะช่วงหลังราวๆปี พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นต้นมา

สำหรับในตอนหน้าจะกล่าวถึงตำราว่านในยุคที่ ๒ ซึ่งใครหลายๆท่านอาจจะได้เคยเห็นคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้างบางเล่มก็ยังพอหาซื้อได้ในปัจจุบันตามร้านหนังสือเก่า แต่ขอบอกว่า ตำรายุค ๒ นี่อ่านแล้วต้องมีสติหน่อยนะครับ เพราะมีข้อผิดพลาดทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจอยู่พอสมควรทีเดียวครับ พบกันใหม่ฉบับหน้านะครับ

อรรถวัติ กบิลว่าน

๓๐ พ.ค. ๒๕๕๓
——————————————————-

อ้างอิง

  1. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม ๒๐ เรื่องอัญมณี
  2. ว่าด้วย “ตำราว่าน” โดย ซาน
  3. ธรรมชาติศึกษา” ฉบับ พืชที่เรียกว่าน โดย วิชัย อภัยสุวรรณ
  4. แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ
  5. ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ

หมายเหตุ:

ปัจจุบัน (2564) ผู้เขียนมีตำราดังกล่าวครบทุกเล่มแล้ว และมีตำราว่านอื่นๆ ทั้งเก่าและใหม่ ราวๆ กว่า 60 เล่ม