ว่านเขาควายและช้างผสมโขลง

ว่านเขาควายและช้างผสมโขลง

นักเล่นว่านมือใหม่หลายๆท่านเมื่อเล่นว่านที่ยากขึ้นเรื่อยๆอาจชักเริ่มสับสนกับชื่อว่านที่หลากหลาย ที่ซ้ำกันบ้าง เรียกต่างกันบ้าง หรือแม้แต่หน้าตาของว่านที่หลากหลาย มองตรงไหนก็คล้ายกันหมด ต้องตัดกันอีกทีที่ดอก ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเล่นผิดตัวบางทีรอดูดอกไปสองปีก็มี  ในฉบับนี้ผมจึงนำเสนอว่าน ๒ ตัวที่ตัดกันยากจนบางครั้งอาจทำเอานักเล่นว่านสับสนไม่น้อยเหมือนกัน นั่นคือว่าที่มีชื่อว่า ว่านเขาควายใหญ่ และว่านช้างผสมโขลง ครับ

ว่านเขาควายใหญ่ Eulophia graminea
ว่านเขาควายใหญ่ Eulophia graminea

ว่านเขาควายใหญ่ ว่านนี้มีกล่าวในตำราว่าโบราณหลายเล่ม ได้แก่

  • “ตำราสรรพคุณยาไทย” โดย นายไพทูรย์ ศรีเพ็ญ หน้า ๗๘
  • “ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์ หน้า ๑๒๘
  • “ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” โดย อุตะมะ สิริจิตโต หน้า ๑๐๙-๑๑๐
  • “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ หน้า ๑๐๑ หน้า ๑๐๕ เรียก “ว่านเขาวัว

 

ว่านควายเขาใหญ่ บรรยายตามตำราโบราณ

ลักษณะ ใบคล้ายใบข้าว ไม่มีก้าน มีสีเขียว หัวเหมือนเขาควายอ่อน

ประโยชน์ มีคุณในทางอยู่คงกระพันชาตรี

การปลูก ใช้ดินร่วนๆปลูก พอหัวงอกขึ้นมาเป็นต้นบ้างแล้ว จึงใช้กระเบื้องดินเผาทุบให้แตกโรยรอบต้น เวลารดน้ำเสกด้วย “อิติปิโสภควา ถึง ภควาติ” จบหนึ่งก่อนเสมอ

ส่วนว่านเขาวัวนั้นนักเลงว่านหลายท่านตีความว่าคือตัวว่านเขาควายใหญ่แต่หัวเล็กกว่า อาจจะด้วยสภาพแวดล้อมและการเล่นหาเรียกชื่อกันในท้องถิ่นที่มองเห็นและบรรยายลักษณะออกมาแตกต่างกันออกไป

 

ว่านเขาวัว บรรยายตามตำราโบราณ

ลักษณะ  หัวเหมือนวัวอย่างสั้น ใบเหมือนใบข้าว

ประโยชน์  มีคุณในทางคงกระพันชาตรี

การปลูก ใช้ดินร่วนๆเป็นดินปลูก เมื่อเอาหัวลงดินกลบแล้ว อย่ากดดินให้แน่น เพียงกลบพอมิดหัวว่าน หรือให้หัวโผล่พ้นดินสักนิดหน่อยก็ได้รดน้ำพอเปียกทั่วดินเท่านั้น น้ำที่จะรดเสก คาถา นะโมพุทธายะ ๓ จบ

 

ว่านเขาควายใหญ่หรือเขาวัวนี้ มีชื่อวิทย์ว่า Eulophia graminea ครับ

ว่านช้างผสมโขลง ว่านนี้มีกล่าวในตำราว่านโบราณหลายเล่ม ได้แก่

  • “ตำรากบิลว่าน และต้นยาวิเศษนานาชนิด” โดย พยอม วิไลรัตน์ หน้า ๑๑๑
  • “ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” โดย อุตะมะ สิริจิตโต หน้า ๘๒-๘๓
  • “ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์” โดย อาจารย์ชั้น หาวิธี หน้า ๑๐
  • “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ หน้า ๑๓๗
  • “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น หน้า ๖๕

 

ว่านช้างผสมโขลง Eulophia andamanensis
ว่านช้างผสมโขลง Eulophia andamanensis

ว่านช้างผสมโขลง บรรยายตามตำราโบราณ

ลักษณะ ใบเหมือนใบว่านน้ำ แต่มีสีเขียวแก่ ต้นก็เหมือนกับว่านน้ำ เว้นแต่เล็กกว่า หัวเหมือนหัวหอม มีสีเขียว ไม่มีหน่อขยายตัว นอกจากขยายพันธุ์ด้วยหัวเท่านั้น

ประโยชน์ ใช้ในทางเสน่ห์ เมตตามหานิยม

การปลูก ใช้ดินปนทรายผสมหญ้าแห้ง สับเป็นท่อน ๆ ขนาด ๓ นิ้ว มากลบหัวพอให้หัวโผล่พ้นดินเล็กน้อย ใช้น้ำรดพอเปียกทั่วเท่านั้น อย่าให้น้ำโชก

อีกตำราหนึ่งว่า ต้นและหัวเหมือนหน่อไม้ มีสีเขียว ใบเหมือนใบข้าว

ประโยชน์ ใช้หัวติดตัวเป็นเสน่ห์ เมตตามหานิยม ถ้าเอาหัวตำเป็นผงโรยในตุ่มน้ำ รักและหลงทั้งบ้านเลย เมื่อจะใช้ว่านนี้ให้เสกด้วยคาถาพระยาเต่าเรือนคือ  “นาสังสิโม สังสิโมนา สิโมนาสัง โมนาสังสิ”

ถ้าปลูกไว้กับบ้าน ก็เป็นมหานิยมต่อครอบครัวของผู้นั้นเอง ถ้าว่านออกดอกจะเกิดลาภผลมาสู่ เพราะเป็นว่านเสี่ยงทาย อธิษฐานเอาตามชอบใจ

การปลูก ใช้หัวปลูกโดยเอาดินร่วน ๆปนทรายนิดหน่อยเป็นดินปลูก รดน้ำพอเปียกทั่ว

ว่านช้างผสมโขลงนี้ ตามตำราของ อ.เชษฐา บรรยายไว้อย่างพิสดารว่า “คุณานุภาพ  ชิ้นว่านหรือหัวว่าน  ใช้ติดตัวเป็นเสน่ห์เมตตามหานิยม   เข้าสมาคมได้ทุกหนทุกแห่ง  และจะไปทำกิจกรรมใดๆ ก็มักจะได้รับผลสำเร็จ  เกิดความดี  มีชัยชนะทุกสถานทำมาค้าขายได้ลาภผลสมดังปรารถนาแล

หากจะทำให้เกิดเสน่ห์ทางนักเลงชู้สาว  ท่านให้เขียนชื่อของผู้ที่เราจะไปติดต่อลงในชิ้นว่าน  แล้วเอามาตำให้ละเอียดโรยใส่ให้ผู้นั้นกิน  จะทำให้หลงรักยิ่งนักแล

แต่อาจารย์ท่านสาปแช่งไว้แรงนักหนาสำหรับผู้ที่คิดทุจริตมิชอบมิควร หรือได้เข้ามามิเลี้ยงดู  จักมีอันเป็นไปทันตาเห็น ชิ้นว่านนี้หากตำให้ละเอียดแล้วละลายผงว่านลงไปในตุ่มน้ำ

บ้านใดบ้านหนึ่ง  ท่านว่าคนทั้งบ้านจะชอบใจและรักเราทั้งบ้าน  ทำการทั้งหลายเอาใจเรายิ่งนัก   จงสังเกตก่อนที่จะโรยผงว่านและหลังจากโรยแล้วคนที่มิชอบก็จะนอบน้อมมาสู่เรา

แต่พระอาจารย์เจ้าท่านให้เขียนชื่อตัวเราลงไปในชิ้นว่านและจึงจะกระทำการหากมีใจสุจริตจะเกิดผลทันตาถ้าปลูกว่านนี้ไว้ในบ้าน  จะเป็นมหานิยมต่อครอบครัวผู้นั้น

ถ้าว่านออกดอกเมื่อใดจะเกิดลาภผลมาสู่ตนเองและครอบครัวเนื่องจากเป็นว่านเสี่ยงทายชนิดหนึ่ง  พึ่งอธิษฐานเอาตามใจชอบเถิด  สมปรารถนาเมื่อใดอย่าลืมแก้บนตามที่กล่าวไว้ หากบ้านใดปลูกไว้ในบ้านจะไปอยู่ ณ ที่ใด  เพื่อนบ้านก็จะไปมาหาสู่เสมอทั้งช่วยดูแลสารทุกข์สุกดิบมิให้อนาทรร้อนใจเลย

สรรพคุณทางยา   หัวว่านหรือชิ้นว่านหากตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำปูนใส  หรือน้ำซาวเข้าพอกฝีหัวเดียวชะงัดยิ่งนักหญิงใดเป็นฝีที่นมทั้งสองข้าง  หากใช้ว่านนี้พอกไว้ฝีจะแห้งเหือดในไม่ช้า และใช้แก้ฝีได้ทุกชนิด

จากการตีความนักเลงว่านหลายท่านเชื่อว่าที่กล่าวมาทั้ง ๒ ลักษณะข้างต้นเป็นต้นเดียวกัน แต่ต่างคำบรรยายกัน โดยคำบรรยายที่ว่า “ต้นและหัวเหมือนหน่อไม้ มีสีเขียว ใบเหมือนใบข้าว” ดูจะเห็นภาพพจน์ที่ชัดเจนที่สุด

ดูภายนอกหัวใหญ่กว่าและเข้มแข็งกว่า ต้นนี้คือเขาควายใหญ่
ดูภายนอกหัวใหญ่กว่าและเข้มแข็งกว่า ต้นนี้คือเขาควายใหญ่

คราวนี้เรามาดูจุดตัดของว่านทั้งสองกันครับว่าแตกต่างหรือพอแยกกันได้อย่างไร ความจริงแล้วถ้าเอาทั้งสองต้นมาเทียบกันแล้วจะเห็นความแตกต่างอยู่มาก หลักๆคือภาพโดยทั่วไปเขาควายใหญ่ที่ใช้ในทางตีรันฟันแทงหรือคงกระพัน หัวจะดูแข็ง ใบจะดูแข็งและเล็กกว่า ใบสีเขียวอ่อน ช่อดอกออกมากและเป็นก้านแข็ง ชอบขึ้นในที่แล้ง ตามป่าหญ้าป่าไผ่ คงทนต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่าช้างผสมโขลง

ในขณะที่ช้างผสมโขลงนั้นหัวสีเขียวสดกว่า ใบโตและพริ้วดูอ่อนโยนกว่า และมักพบในที่ที่ชุ่มชื้นกว่าว่านเขาควายใหญ่ ดอกออกช่อไม่ดกเท่าเขาควายใหญ่

แต่จุดตัดที่ถือเป็นจุดตายคือกลีบดอก ดอกเขาควายใหญ่กลีบดอกล่างสีม่วง(ภาพบน) ส่วนช้างผสมโขลงกลีบดอกล่างมีลายเป็นเส้นสีน้ำตาล(ภาพล่าง)

เขาควายใหญ่(บน) ช้างผสมโขลง(ล่าง)
เขาควายใหญ่(บน) ช้างผสมโขลง(ล่าง)

การปลูกดูแลนั้นเขาควายใหญ่เอาใจยากกว่า นักเลงว่านหลายท่านเลี้ยงแล้วหัวจะค่อยๆฝ่อและตายลงทุกๆปีไม่ใคร่ให้หัวเพิ่ม เคล็ดคือว่านนี้ให้ปลูกลงกระถางดินเผา ต้องใช้ดินร่วนซุยฮิวมัสสูง วางไว้ที่ร่มรำไร แต่อย่าร่มจัด รดน้ำอย่ามากเกิน และให้หาใบไผ่หรือใบไม้มาโรยที่หัวสม่ำเสมอ โดยเฉพาะฤดูแล้ง อาจให้น้ำบ้างในฤดูแล้งแต่อย่าให้ทุกวัน

ส่วนว่านช้างผสมโขลงชอบความชื้นสูง ชอบร่มมากกว่า ดูแลง่ายกว่าชอบดินที่มีฮิวมัสสูงครับ

 

เรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน

ผู้เผยแพร่ พรหมวิหารคลินิก

๒๔ ก.ค. ๒๕๕๖

—————————————————————————