สารบัญ: คลิ๊กเลือกอ่าน
ว่านในตำนาน “ว่านพระดำ”
มีว่านหลายตัวเมื่อกล่าวชื่อมาแล้วนักเล่นว่านปัจจุบันอาจไม่คุ้นหูเท่าไรนัก เนื่องจากขาดการสืบต่อ หรือขาดการค้นคว้าหาต้นจริง จนเรียกได้ว่าบางต้นสูญพันธ์ไปจากสาระบบการเล่นหาไปเลย หนึ่งในนั้นคือว่านที่เรียกกันว่า “ว่านพระดำ”
ว่านพระดำนี้มีกล่าวในตำราว่าโบราณหลายเล่ม ได้แก่
- ลักษณะว่าน : นายชิต วัฒนะ หน้า ๘ เรียกว่า “ว่านพระยาดำ”
- ตำราสรรพคุณยาไทย ว่าด้วยลักษณะกบิลว่าน : นายไพทูรย์ ศรีเพ็ญ หน้า ๘๒
- ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน : นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ หน้า ๒๒๖
ว่านพระดำ หรือพระยาดำ
ลักษณะ ต้นและใบเหมือนมะกล่ำ ชอบขึ้นในที่ลุ่ม และเลื้อยงอกงามในที่ชุ่มชื้น
ประโยชน์ ใช้ในการป้องกันตัว คือแก้พิษเบื่อเมาต่าง ๆ ได้ดี เวลาจะไปเอาว่านนี้ต้องทำการสระผมและอาบน้ำชำระตัวให้สะอาดเรียบร้อยเสียก่อน จึงไปขุดเอาว่านนี้มา
การปลูก เป็นว่านชอบที่ลุ่มชุ่มชื้น ฉะนั้นน้ำที่รดจึงรดให้เปียกโชกได้ ไม่ห้ามเหมือนว่านอื่น ๆ
ต้นนี้เมื่อเทียบเคียงกับตำราทางไสยศาสตร์ และลักษณะบรรยายทางพฤกษศาสตร์ รวมทั้งสรรพคุณทางยา ต้นที่เป็นไปได้มากที่สุดคือต้นที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “มะกล่ำดำ” ซึ่งทางสายการเล่นว่าน สายลุงเกษม อินทร์ชัยญะ จ.ราชบุรี (โยมเพื่อนของ ส.เปลี่ยนศรี ก็เล่นหาตัวนี้เช่นกัน
มะกล่ำชนิดที่เป็นไม้เถา หรือมะกล่ำเครือนั้นมีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่
๑. มะกล่ำตาหนู Abrus precatoriud Linn. เมล็ดเงางามสวยมากโบราณถึงกับเอาไปทำหัวแหวน นั่นคือ “…แหวนมะกั่วที่หัวเม็ดมะก่ำ ทั้งแดงดำสุกดีสีสัณฐาน…” ในเรื่องโสนน้อยเรือนงามยังไงล่ะครับ
๒. มะกล่ำส้ม Abrus sp. เมล็ดสีน้ำตาลและสีส้ม
๓. มะกล่ำเผือก Abrus pulchellus Wall. เมล็ดสีขาวล้วนดอกสีขาวล้วน
๔. มะกล่ำดำ Abrus sp. เมล็ดสีดำล้วน
ลักษณะร่วม เป็นไม้เถาขนาดเล็ก เถากลมเล็กเรียว ใบประกอบขนนกเหมือนใบมะขาม ดอกเล็กเป็นช่อ ฝักแบนยาวโค้งเล็กน้อย เท่าฝักถั่วเขียว เมื่อแก่จะแตกออกเห็นเมล็ดกลมรีเล็กน้อย เมล็ดมีพิษมาก ขึ้นตามที่รกร้างริมรั้วทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ใบ : รสหวาน ต้มดื่มแก้เจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ตับอักเสบ กระตุ้นน้ำลาย ขับปัสสาวะ แก้ปวดบวมตามข้อ ปวดตามแนวประสาท ตำพอก แก้ปวดบวม แก้อักเสบ แก้จุดด่างบนใบหน้า
เถาและราก : รสเปรี้ยวหวานชุ่ม ต้มดื่ม แก้เจ็บคอ แก้หืด แก้ไอแห้ง แก้หลอดลมอักเสบ กัดเสมหะ แก้ร้อนใน แก้อาเจียน แก้ตับอักเสบ แก้ดีซ่าน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ
เมล็ด : รสขมเผ็ดเมาเบื่อ เป็นพิษถึงชีวิต ใช้ได้เฉพาะภายนอก บดผสมน้ำมันพืช ทาแก้กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิผิวหนัง ฝีมีหนอง บวมอักเสบ ใช้ทำยาฆ่าแมลง มีพิษแรงมากถ้าเคี้ยวเพียง ๒-๓ เมล็ด อาจตายได้ สามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง ๒ วัน
สารสำคัญ : เมล็ดและราก มีสาร toxalbumin ชื่อ abrin สลายตัวเมื่อถูกความร้อน มีพิษระคายเคืองต่อเยื่อเมือก กด Vasomotor center ร่วมกับการขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการอักเสบต่อทางเดินอาหารอย่างเฉียบพลัน เส้นเลือดฝอยถูกทำลาย ทำให้มีเลือดออกที่ม่านตา ทำให้ตับอักเสบ เกิดแผลที่ไต เปลือกเมล็ดแก่จะหนาไม่ถูกย่อยได้ง่าย บางครั้งเด็กกินเข้าไปโดยไม่ได้เคี้ยวจึงไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าเปลือกแตกออกเพียง ๑ -๒ เม็ด ก็เกิดพิษได้อย่างรุนแรง
ยาแก้พิษจากเมล็ดมะกล่ำเครือ
๑.ชะเอมจีน หนัก ๑๐ กรัม
๒.ดอกสายน้ำผึ้ง หนัก ๑๒ กรัม
ใส่น้ำ ๒ ชาม ต้มเคี่ยวให้เหลือ ๑ ชาม ดื่มให้หมดครั้งเดียว
นอกจากนี้ แพทย์สิทธะชาวทมิฬรู้ถึงพิษของมะกล่ำตาหนูและเสนอวิธีทำให้บริสุทธิ์หรือที่เรียกว่า “suththi seythal” ทำโดยการต้มเมล็ดในนมและตากแห้งจะช่วยกำจัดพิษได้ แต่อย่างไรเสียผมว่าหลีกเลี้ยงการกินเมล็ดมันดีกว่าครับ
ในทางความเชื่อนั้นมะกล่ำจะใช้เป็นมวลสารในการสร้างพระ อย่างพระสมเด็จของหลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม ท่านจะฝังเม็ดมะกล่ำเผือกที่องค์พระด้วย และว่ากันว่าบางรุ่นท่านจะฝังมะกล่ำดำซึ่งหายากกว่ามากในองค์พระด้วยเช่นกัน
ตำราทางไสยศาสตร์กล่าวถึงการทำประคำมะกล่ำดำไว้ดังนี้
“สิทธิการิยะ ท่านจะกล่าวอุปเท่ห์มะกล่ำดำไว้ว่า ถ้าผู้ไดพบลูกมะกล่ำดำ ให้ชำระตัวเสียให้บริสุทธิ์จึงค่อยไปเก็บ นำมาทำลูกประคำ ร้อยด้วยไหมเบญจพรรณทำเป็นลูกประคำ”
อุปเท่ห์ฝอยใช้ลูกประคำนี้มีคุณานุภาพมากมายหลายนัก เมื่อจะทำลูกประคำท่านให้เอาแป้งหอม น้ำมันหอม กระแจะ ธูปเทียน ดอกไม้เมี่ยงหมาก บายศรีสำรับหนึ่ง ผู้ใดได้ทำลูกประคำสายนี้ ถึงแม้ว่าผู้นั้นเป็นคนถ่อยย่อมมีคนช่วยเหลือ
ถ้าจะถึงคราวจะตกทุกข์ได้ยาก ก็มิรู้ยากเลย ถึงศัตรูจะคิดร้ายก็มิสามารถจะทำอันตรายได้เลย ถ้าใครคิดร้ายผู้นั้นก็ย่อมบรรลัยเอง
“ลูกประคำนี้อยู่ในเรือนผู้ใด ถึงผู้ร้ายจะเข้าปล้นมันมาสักเท่าไรเผอิญให้เห็นคนที่เรือนเรามากเท่านั้นแล ถ้าจะมิให้เห็นเรือนเรา ให้เอาลูกประคำพวงนี้ชุบน้ำ เอาน้ำนั้นไปประพรหมทั้งแปดทิศ มันมามิพบเลย ถึงจะเที่ยวหาทั้งคืนยันรุ่งก็มิพบ ถ้าจะแข่งโคควายมิให้แพ้แก่เขา ให้เอาน้ำชุบนี้มาประพรมตัวอื่นวิ่งมิทันแล ถ้าจะแข่งเรือให้เอาลูกประคำห่อผ้า เอาเชือกผู้รัดหัวเรือนไว้ ถ้าเรือเขาจะหลีกขึ้นไปให้ผ่อนเชือกปล่อยไห้ผ้านั้นราน้ำไว้ เรือเขามันเรือเราเลย”
และในตำรา “หนังสือภาพว่านยาไม้ประดับ : คงคาท ธนาคม และหล่อ ขันแก้ว หน้า ๒๕๗ ได้กล่าวถึงการสร้างพระคำมะกล่ำดำดังนี้ “…ให้เก็บเม็ดมาให้ครบ ๑๐๘ เม็ด นำมาลงด้วยคาถาพุทธคุณ ๕๖ เม็ด ธรรมคุณ ๓๘ เม็ด สังฆคุณ ๑๔ เม็ด เมื่อลงคาถาบทใดๆก็ตามต้องเรียกสูตรลงทับคาถาบทนั้นๆทุกตัว เช่น
เมื่อลง “อิ ก็ให้ว่า “นามสังสวาโส ยุตตโถยุตตถะแห่งนามะทั้งหลาย อาจาริยะพึงหมาย ให้ชื่อ อิ จุติปุติสนธิ จงมาบังเกิดเป็น อิ เอหิอักขระนามะวิกรึงคะเร” เช่นนี้เรื่อยไปจนครบ ๑๐๘ อักขระ เมื่อครบทุกเม็ดแล้วให้นำมาร้อยเชือกทำเป็นลูกประคำเสกด้วยคาถาพระพุทธคุณ ๑๐๘ คาบ คล้องคอป้องกันภัยอันตราย เป็นเมตตามหานิยมแก่ผู้ใช้
นอกจากนี้แล้วนักเลงไก่บางพื้นที่จะเก็บมาให้ไก่กินเชื่อว่าทำให้ไก่คงกระพันอีกด้วยครับ….ไหนๆก็กล่าวถึงมะกล่ำแล้วก็ขอกล่าวให้ครบถึงมะกล่ำชนิดต้น อีก ๒ ต้นคือ
๑. มะกล่ำตาช้าง Adenanthera pavonina ไม้ต้นขนาดกลาง ใบ เป็นใบประกอบซ้อน มีใบย่อย ๓-๔ คู่ ใบย่อยเป็นใบประกอบ มีใบย่อย ๕-๙ คู่ รูปกลมรีเสมอกันทั้งใบ ขนาดเท่าหัวแม่มือ สีเขียวเข้ม มักออกที่ปลายกิ่ง ดอก ออกช่อสีเหลือง ผล กลมยาวบิด เมื่อแก่แตกออกเห็นเมล็ดสีแดงสดกลม
สรรพคุณ :
ราก – รสเปรี้ยวเล็กน้อย แก้ทางเสมหะ แก้ร้อนใน แก้อาเจียน แก้หืดไอ และพิษฝี เมล็ด, ใบ – แก้ริดสีดวงทวารหนัก
เมล็ดใน – เป็นยาเบื่อพยาธิ และเบื่อไส้เดือนได้ดี ถ้าผสมกับยาอื่นที่ทำให้ระบายด้วยแล้ว ก็จะได้ประโยชน์ทั้งเบื่อไส้เดือน และระบายออกมาด้วย
๒. มะกล่ำตาไก่ Adenanthera microsperma ลักษณะต้นและสรรพคุณทางยาคล้ายมะกล่ำตาช้างจุดแตกต่างอยู่ที่ขนาดของเมล็ด มะกล่ำตาช้างจะมีขนาดใหญ่กว่ามะกล่ำตาไก่ครับ
เรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน
เผยแพร่โดย พรหมวิหารคลินิก
๒๐ มิ.ย. ๒๕๕๖
————————————————————-