สารบัญ: คลิ๊กเลือกอ่าน
ว่านที่ใช้ป้องกันเภทภัย
ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่ผ่านมานี้เป็นปีที่เรียกว่าเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงมากทั่วโลก ตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่หนักและถี่ขึ้นในหลายๆประเทศ หิมะตกหนักในหลายๆประเทศ แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ซึนามิที่ญี่ปุ่นในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ และที่ประเทศไทยเองก็เกิดเหตุการณ์อุทกภัยและดินโคลนถล่มภาคใต้ เมื่อ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๔ และเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยท่วมตั้งแต่ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๔ ยังความเสียหายใหญ่หลวงในหลายๆด้าน อีกทั้งแนวโน้มในอนาคตในปี๒๕๕๕และปีต่อๆไป อาจจะทวีความถี่และความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลพวงอันเนื่องมาจากความเจริญทางด้านวัตถุ และเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ความจริงแล้วเรื่องนี้มิใช่เรื่องใหม่เลย ทั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตลอดจน คำทำนายของครูบาอาจารย์ ตลอดจนบันทึกคำทำนายโบราณอย่างหนังสืออินตก, เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา(ซึ่งผู้รู้บางท่านตั้งข้อสังเกตว่าเป็นตำราที่แต่งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการทางจิตวิทยาทางการเมือง) หรือในทางพระพุทธศาสนาอย่าง ๑๖ สุบินนิมิต พระเจ้าปเสนทิโกศล อันเป็นสาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงประทาน “อภยปริตร” ก็ได้กล่าวเตือนล่วงหน้ามาช้านานแล้ว บางศาสตร์หรือตำราโบราณบางเล่มก็ได้กล่าวถึงวิธีการป้องกันผองภัยต่างๆไม่เว้นแม้แต่ศาสตร์ที่เกี่ยวกับว่านด้วย
ในตำราเก่าทั้ง ๑๒ เล่มนั้นกล่าวเป็นเกล็ดๆเกี่ยวกับว่านแต่ละตัวเอาไว้ว่าใช้ทำอะไรได้บ้างดังที่ได้เรียบเรียงให้แฟนๆคอลัมน์ได้อ่านกันครับ แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นช่วงที่การเล่นว่านเริ่มจะซบเซาแล้ว มีหนังสือที่น่าสนใจมากเล่มหนึ่งคลอดออกมาในท้องตลาด คือ
“สารานุกรมว่านไทย ฉบับสมบูรณ์” โดย ทัศนา ทัศนมิตร และดำรงศักดิ์ นาคนิยม
ซึ่ง อ.ทัศนานั้นได้เคยเรียบเรียงหนังสือ “กบิลว่าน ๑๐๘” มาก่อนหน้านี้ อ.ทัศนาได้ตกผลึกความรู้ที่เข้มงวดยิ่งขึ้นและได้ครูว่านตัวจริงที่สืบทอดการเล่นว่านมาจากสายการเล่นว่านเฉพาะ ที่มีการเลี้ยงว่านอย่างเป็นศาสตร์วิชาที่เป็นระบบมาก คือ อ.ดำรงศักดิ์ นาคนิยม ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าในเชิงศาสตร์และวิชามาก
ในตำราเล่มดังกล่าว กล่าวถึงว่านที่ใช้ป้องกันเภทภัย ในหัวข้อเรื่อง “ว่านประเภทที่มีอำนาจ” ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่จะมีชนิดที่พิเศษทั้งสิ้น ๘ ชนิด ซึ่งโบราณท่านใช้เข้าพิธีปลูกว่านรอบบ้านทั้ง ๘ ทิศ สำหรับใช้ในเชิงอำนาจและป้องกันผองภัย ได้แก่
- ว่านพุทธเจ้า(ปัจจุบันเรียกว่า ว่านมหาบัว) หากไม่มีอนุโลมให้ใช้ว่านพุทธเจ้าหลวง(กวักพุทธเจ้าหลวง)
- ว่านมหาปราบ
- ดาบนารายณ์ หากไม่มีอนุโลมให้ใช้ ว่านเพชรนารายณ์, ว่านดาบหลวง
- ว่านพญานาคราช หากไม่มีอนุโลมให้ใช้ ว่านพญากาสัก
- ว่านสี่ทิศ
- ว่านนางคุ้ม
- ว่านนางล้อม
- ว่านกุมารทอง หากไม่มีอนุโลมให้ใช้ว่านแสงอาทิตย์
กำเนิดว่านประเภทนี้
เกิดจากเมื่อมีผู้ทรงวิชาฝ่ายอกุศล ได้กระทำอวิชชาเข้าทำรายข่มขู่ผู้ประพฤติธรรม อันได้แก่ กระทำให้เกิดรูปยักษ์มาร ภูตผีปีศาจ สัตว์ดุร้าย สัตว์มีพิษร้าย กระทำคุณไสย บิดไส้บังฟัน เข้าทำร้ายจนผู้ประพฤติธรรมและหมู่ชนทั้งหลาย ต้องได้รับความเดือดร้อน หวาดกลัว จนบางคราวถึงกับชีวิต
คณะผู้ทรงวิชาธรรมจึงดำริว่า หากแม้นจะใช้วิชาเข้าตอบโต้บ้างก็เห็นจะเป็นการผิดศีลธรรม อันจะเป็นบาปกรรม เป็นเวรภัยต่อกันสืบๆกันไปไม่สิ้นสุด จึงได้คิดหาวิธีซึ่งเป็นไปในทางป้องกันอวิชาเหล่านั้น มิให้ก้ำกราย เอาเมตตาจิต อีกทั้งขันติธรรมเป็นที่ตั้งเอาไว้ เมื่อเขาทำอะไรเราไม่ได้ก็จะแพ้ภัยไปเอง
ท่านจึงได้ป่าวร้องบอกกล่าวผู้คนให้เอาบรรดาว่านที่ปลูกไว้ตามบ้านเรือน เอามาให้ท่าน คณะผู้ทรงวิชาธรรมจึงได้ทำพิธีปลุกเสกว่านเหล่านั้น และได้แนะนำให้ใช้ว่าน ๘ ชนิดด้วยกันสำหรับปลูกเป็นปราการรอบบ้านเรือนทั้ง ๘ ทิศ เพื่อป้องกันอวิชชาจากจากฝ่ายอธรรมทั้งหลาย จะทำให้อวิชชาทั้งหลายเหล่านั้นมิอาจก้ำกรายเข้ามาในแนวเขตปราการนี้ได้
ต่อมาจึงถือกันว่าว่านประเภทนี้มีอำนาจสามารถปกป้องคุ้มครอง ป้องกันภยันอันตรายจากภัยพิบัติต่างๆได้
สรรพคุณและคุณประโยชน์ของว่าน
เป็นกลุ่มว่านที่ใช้ปกป้องคุ้มครองบ้านเรือนและผู้ที่อยู่อาศัยให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดทั้งปกป้องคุ้มครองภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ป้องกันทั้งภูตผีปีศาจราชทูต อสรพิษ โรคภัยไข้เจ็บ และเสนียดจัญไรมิให้มาแผ้วพานกล้ำกลายในบ้านเรือนของผู้เลี้ยง โดยหากผู้เลี้ยงหมั่นดูและปลุกญาณว่านให้กล้าแกร่งว่านนี้จะแผ่อิทธิฤทธิ์เป็นรัศมีวงกว้าง ซึ่งก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย และระยะเวลา ตลอดจนความเอาใจใส่ในการดูแลว่านพอสมควร ว่านนี้ท่านว่าหากใช้ทำเครื่องรางของขลังพกติดตัว จะทำให้มีอำนาจ เป็นที่เกรงขามแก่ผู้อื่น ให้บังเกิดสง่าราศี ทั้งยังใช้รักษาโรค ใช้ทำการอบ อาบตัวเพื่อป้องกันและแก้ไขสิ่งอวมงคลต่างๆได้อย่างดีเยี่ยม
พิธีกรรมในการเตรียมเครื่องปลูกว่าน
ท่านให้เตรียมดอกไม้ ธูปเทียน และขันน้ำมนต์ ทำการบูชาพระบอกกล่าวระลึกถึงครูบาอาจารย์ โดยให้ทำน้ำมนต์ด้วยอิติปิโส ๓ ห้อง คือ บทบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ มี อิติปิโส…จนถึง …วิญญูหิติฯ เป็นต้น จะกี่จบก็ได้จนกว่าจิตจะสงบ จนพอใจดีแล้ว ก็ให้ทำการลงเครื่องปลูกว่าน โดยการเตรียมเครื่องปลูกว่าน ได้แก่ ดอกไม้, ใบมะยม, ใบคูณ, ใบขนุน, ใบพุทธรักษา, ใบหญ้าคา(อาจมีที่มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์รับหญ้าคา ๘ กำจากพราหมณ์โสตถิยะ แล้วพระองค์ทรงใช้ปูเป็นอาสนะ แล้วทรงทำสมาธิจนบรรลุอภิเษกพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า), ทราย, และหิน ๘ อย่างนี้ถือเป็น ๑ ชุด ให้เตรียมไว้ทั้งหมด ๘ ชุด สำหรับว่าน ๘ กระถางด้วยกัน
ใบพุทธรักษาและใบหญ้าคานั้นให้เอามาตัดให้สั้นเหลือเท่ากับใบไม้อื่น หินนั้นใช้ก้อนเล็กๆขนาดนิ้วโป้ง ๑ ก้อน ทรายใช้ประมาณ ๑ หยิบมือ
ของทั้ง ๘ อย่างนี้ให้เอามาลงอักขระภาษาไทยด้วยคาถาอิติปิโส ๘ ทิศโดยให้ทำการลงลงชุดละทิศ สำหรับการลงที่ทรายนั้นให้เอาทรายใส่ฝ่ามือแล้วเกลี่ยให้บางๆแล้วเขียนอักขระลงไปกับฝ่ามือถือเป็นใช้ได้ เมื่อลงอักขระครบถ้วนดีแล้วก็ให้เอาของทั้งหมดนั้นไปรองไว้ที่ก้นกระถาง โดย
กระถางที่ ๑ ปลูกว่านพุทธเจ้า
ให้ลง อิระชาคะตะระสาอิ บทนี้ชื่อว่า กระทู้ ๗ แบก ให้ตั้งไว้ทิศบูรพา คือทิศตะวันออก
กระถางที่ ๒ ปลูกว่านมหาปราบ
ให้ลง ติหังจะโตโรถินังติ บทนี้ชื่อว่า ฝนแสนห่า ให้ตั้งไว้ทิศอาคเนย์ คือทิศตะวันออกเฉียงใต้
กระถางที่ ๓ ปลูกว่านดาบนารายณ์
ให้ลง ปิสัมระโลปุสัตพุท บทนี้ชื่อว่า นารายณ์เกลื่อนสมุทร ให้ตั้งไว้ทิศทักษิณ คือทิศใต้
กระถางที่ ๔ ปลูกว่านพญานาคราช
ให้ลง โสมาณะ กะริถาโธโส บทนี้ชื่อว่า นารายณ์ถอดจักร ให้ตั้งไว้ทิศหรดี คือทิศตะวันตกเฉียงใต้
กระถางที่ ๕ ปลูกว่านสี่ทิศ
ให้ลง ภะสัมสัมวิสะเทภะภะ บทนี้ชื่อว่า นารายณ์ขว้างจักรตรึงไตรภพ ให้ตั้งไว้ทิศประจิม คือทิศตะวันตก
กระถางที่ ๖ ปลูกว่านนางคุ้ม
ให้ลง คะพุทปันทูทัม วะคะคะ บทนี้ชื่อว่า นารายณ์พลิกแผ่นดิน ให้ตั้งไว้ทิศพายัพ คือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
กระถางที่ ๗ ปลูกว่านนางล้อม
ให้ลง วาโธโนอะมะมะวาวา บทนี้ชื่อว่า ตวาดฟ้าป่าหิมพานต์ ให้ตั้งไว้ทิศอุดร คือทิศเหนือ
กระถางที่ ๘ ปลูกว่านกุมารทอง
ให้ลง อะวิชสุนุตสานุสติอะ บทนี้ชื่อว่า นารายณ์แปลงรูป ให้ตั้งไว้ทิศอีสาน คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อทำพิธีลงของเหล่านี้เสร็จแล้ว ท่านให้เอาแผ่นตะกั่วหรือแผ่นทองแดงก็ได้(ผู้เขียนแนะนำให้ใช้แผ่นทองแดงเนื่องจากปลอดภัยกว่าหากจำเป็นต้องใช้ว่านนั้นในทางยา) ขนาด ๒x๒ นิ้ว เอามาลงยันต์พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ โดยให้ลงตัวนะก่อน แล้วค่อยลงตัวอื่นครอบลงไป เมื่อจะลงให้ว่าคาถานี้ไปด้วยจนกว่าจะเขียนเสร็จ
คาถาสำหรับลง
พุทธัง กันตัง อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ ธัมมัง กันตัง อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ สังฆัง กันตัง อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ
เมื่อเขียนเสร็จแล้วให้เสกด้วยคาถามงกุฏพระพุทธเจ้า ดังนี้
อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ ให้เสกไปจนจิตสงบได้ที่ หรือเสกครบ ๑๐๘ คาบ
พิธีกรรมการปลูกว่าน
ว่านประเภทนี้ท่านให้ใช้วันพฤหัสบดีเช้าเป็นฤกษ์ปลูก คือเวลาตั้งแต่ ๐๖.๐๐-๐๗.๓๐ น. (ซึ่งนับเป็นยามที่ ๑ ในเกณฑ์ยามอัฐกาล) โดยให้นั่งหันหน้าไปทางทิศอุดรหรือทิศเหนือ เอาเครื่องปลูกที่ลงอักขระไว้แล้วนั้นใส่ลงไปที่ก้นกระถาง แล้วจึงเอายันต์ที่ลงไว้วางทับลงไปอีกที จากนั้นจึงใช้ดินที่สะอาดกลบลงไปพอสมควร แล้วจึงนำเอาต้นหรือหัวว่านลงปลูก กลบดินที่ต้นว่านให้เรียบร้อย เมื่อปลูกว่านเสร็จแล้วให้จุดธูปอีก ๓ ดอก ภาวนาคาถาเรียกญาณว่านว่า
“เอหิตาตะ ปิยะพฤษตะ ปุเรถะ มะมะ ปะระมิง หัตถะยัง เม พิสันเจถะ กะโรวะจะนัง มะมะ”
(ซึ่งบทนี้เป็นบทคาถาที่สืบมาจากบทที่พระเวสสันดรเรียกบุตรขึ้นจากสระบัว) แล้วจึงนำเอาธูปที่จุดไว้ มาจดบนขอบกระถาง วนจากซ้ายไปขวาคือ วนทักษิณาวรรต หรือวนตามเข็มนาฬิกา โดยภาวนาคาถา
- รอบที่ ๑ อิมัง องคะพันธะนัง อธิษฐามิ
- รอบที่ ๒ ทุติยัมปิ อิมัง องคะพันธะนัง อธิษฐามิ
- รอบที่ ๓ ตะติยัมปิ อิมัง องคะพันธะนัง อธิษฐามิ
(หมายเหตุ : ตัวคาถาแบบของ อ.อุดมศักดิ์ อธิษฐามิ เป็น อิทิถามิ) แล้วนำน้ำมนต์ที่ทำไว้รดลงไปที่ต้นว่านให้ชุ่ม เป็นอันเสร็จพิธี
สถานที่ตั้งเลี้ยงว่าน
สถานที่ตั้งเลี้ยงว่านนั้นถือว่าสำคัญมาก ต้องทำที่ตั้งให้สูงกว่าบั้นเอวของเราขึ้นไป อย่าตั้งไว้ใกล้ราวตากผ้า ห้ามนำอะไรไปเที่ยวโยนหรือหยิบข้ามเป็นอันขาด ประการหนึ่งคืออย่านำเศษอาหารหรือสิ่งสกปรกไปวางใส่ในกระถางว่าน และห้ามหญิงมีรอบเดือนเข้าไปแตะต้องว่าน เพราะเชื่อว่าอาจทำให้ว่านนั้นหมดอิทธิคุณ และว่านอาจเฉาตายได้
พิธีการรดน้ำว่าน
เวลารดน้ำให้ภาวนา “พุทธัง ชัยยะมังคะลัง ธัมมัง ชัยยะมังคะลัง สังฆัง ชัยยะมังคะลัง” จะทำให้ว่านมีพุทธคุณแก่กล้ายิ่งๆขึ้น สามารถแผ่รัศมีอำนาจตะบะเดชะปกป้องคุ้มครองผองภัยได้เป็นวงกว้าง
วิธีเรียกญาณว่าน
คำว่าญาณว่านนี้นักเล่นว่านหลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยนักเพราะเป็นการเรียกขานกันในสายการเล่นว่านสายของ อ.ดำรงค์ศักดิ์ ซึ่งอาจจะไม่แพร่หลายมากนัก อันมีความแตกต่างกันในรายละเอียดจากตำรากบิลว่านภาคกลางมากพอสมควร ซึ่งผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า คงจะคล้ายคลึง กับคำว่า “ปรอท” อันหมายถึงพลังงานชนิดหนึ่งที่มีมากในพืชตระกูลว่าน (คล้ายๆหรืออาจจะหมายถึงสิ่งเดียวกับคำว่า ปราณ, พิษนุยา เป็นต้น) สามารถเพิ่มหรือลดได้จากการดูแลของผู้ปลูกว่าน และหนีหายไปจากต้นว่านได้ เรียกว่า “ปรอทลืมต้น” จนต้องมีคาถาเรียกปรอทว่านก่อนทำการกู้เก็บว่าน นั่นก็คือบทที่ว่า “โอม ขุกขุก…” นั่นเอง พิธีการเรียกญาณว่านท่านให้ จุดธูปขึ้น ๓ ดอกนำไปปักที่กระถางว่านแล้วภาวนาว่า
“พุทธบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา อิติปิโสภะคะวา ข้าพเจ้าจะเชิญพระฤาษีนารอด พระฤาษีนารายณ์ พระฤาษีตาวัว พระฤาษีตาไฟ พระฤาษีเกตุตะลัย(ผู้เขียน : อาจหมายถึง พระฤาษีกไลโกฎหรือพระฤาษีหน้าเนื้อ) ทะมิตชะดาบสทั้ง ๑๐๘ พระองค์อันทรงฤทธิ์ข้าพเจ้าขอปรากฎ อีกพระสาวกคะบาดาลทั้งเจ็ดแสนจักรวาล จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้าสำเร็จผลเดชะกุศลของข้าพเจ้า จะระลึกถึงคุณพระพุทธคุณัง คุณพระธรรมคุณัง คุณพระสังฆคุณัง ข้าพเจ้าจะกระทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ดี ขอให้ประสิทธิสิทธิ์ธัง(ประสิทธิพุทธัง : ผู้เขียน) ประสิทธิธัมมัง ประสิทธิสังฆัง สัมมาทิเม วันทูระโต(อะหังวันทามิทูระโต : ผู้เขียน) อะหังวันทามิธาตุโย อะหังวันทามิสัพพะโส”
เสร็จแล้วให้เอามือจับที่โคนต้นว่านไว้ ภาวนาคาถาเรียก “เอหิตาตะ ปิยะพฤษตะ ปุเรถะ มะมะ ปะระมิง หัตถะยัง เม พิสันเจถะ กะโรวะจะนัง มะมะ”
แล้วว่าคาถาปลุก “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ อุกาสะ พุทโธ พุทโธ”
พิธีกู้ว่านหรือขยายพันธ์ว่าน
การกู้ว่านประเภทนี้ให้กู้ว่านในวันเสาร์ และห้ามกู้ว่านในช่วงเข้าพรรษา โดยให้กู้เวลายามที่ ๒ ตามหลักยามอัฐกาล คือ ช่วงเวลา ๗.๓๐-๙.๐๐ น. และเวลากู้ให้หันหน้าไปทางทิศอุดร
ก่อนขุดกู้ว่านให้เตรียมดอกไม้ธูปเทียน ขันทำน้ำมนต์ ให้ทำการจุดธูปเทียน แล้วตั้งนะโม ๓ จบ สวดอิติปิโส ๓ ห้อง สำหรับใช้ทำน้ำมนต์ เมื่อทำน้ำมนต์เสร็จแล้ว ให้เอาน้ำมนต์นั้นประพรมลงไปที่ต้นว่านให้ทั่ว โดยห้ามใช้มีดขุดหรือตัดต้นของว่าน ให้เอามือซ้ายจับโคนต้นว่าน เอามือขวาขุดหรือคุ้ยดินออกจากกระถาง ในขณะขุดว่านนั้นให้ภาวนาคาถาไปด้วยว่า “นะถอนโมถอน จะถอนด้วย นะโมพุทธายะ ยะธาพุทโมนะ โสมา เรมา อาคัจฉายะ อาคัจฉาหิ โอกาเส ติฎฐาหิ” ฯ”
เมื่อทำการขุดเสร็จแล้ว ถ้าจะเอาไปปลูกก็ไปทำพิธีปลูกตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ส่วนต้นหัวใดหากจะนำเอาไปใช้ ให้ล้างให้สะอาดแล้วเอาน้ำมนต์ประพรมว่านให้ทั่วต้น ไม่ต้องตัด เอา ไปเก็บในที่สูงๆ จะไปไหนก็ค่อยเอาติดตัวไปด้วย
ว่านประเภทที่มีอำนาจ ๑๓ ชนิด
ผู้เขียนจะขอกล่าว บรรยายคุณ และแสดงรูปภาพในส่วนที่เป็นไปตามตำรา “สารานุกรมว่านไทย ฉบับสมบูรณ์” เนื่องจากเป็นการเล่นหาเฉพาะสาย จึงมิสมควรสังเคราะห์ตีความในแบบอ้างอิงตำราเก่าของกบิลว่านภาคกลางดังที่ผู้เขียนเคยเขียนมาในแนวดังกล่าวก่อนหน้านี้ สำหรับว่านประเภทที่มีอำนาจ ทั้ง ๑๓ ชนิดก็ได้แก่
๑. ว่านพุทธเจ้า (ปัจจุบันเรียกว่า ว่านมหาบัว)
ตามแต่เดิมนั้นว่านนี้มีชื่อว่า “ว่านพระพุทธเจ้า” แต่ต่อมาผู้ปลูกเลี้ยงบางคนที่ไม่รู้จักชื่อ เห็นว่าว่านนี้มีดอกคล้ายดอกบัว จึงเรียกว่า “ว่านมหาบัว” ว่านนี้มีสรรพคุณทาง อำนาจคุ้มครองรักษา และทางเมตตามหานิยม ผู้ใดปลุกเลี้ยงไว้และหมั่นสักการบูชา จะเป็นมหามงคลยิ่งนัก ว่านนี้เป็นว่านที่มีต้นและหัวขนาดใหญ่ ดอกมีสีขาว ดอกตูมดังดอกบัว เวลาดอกบานมีกลิ่นหอม ว่านนี้มีมีชนิดดอกแซมด้วยสีแดงอมชมพูด้วย แต่ไม่ได้กล่าวถึงในตำรา “สารานุกรมว่านไทย ฉบับสมบูรณ์” ครับ อาจจะใช้ในเชิงศาสตร์วิชาเพียงชนิดดอกขาวเท่านั้นคล้ายๆกับ การใช้ดอกรักซ้อนในทางไสยศาสตร์เพียงชนิดดอกขาว หรือบานเย็นชนิดดอกขาวเท่านั้นที่จัดเป็นว่าน เป็นต้น
๒. ว่านพุทธเจ้าหลวง (กวักพุทธเจ้าหลวง)
เป็นว่านที่มีสรรพคุณใช้ในทางเมตตามหานิยม และเป็นมงคลการค้าขาย เมื่อปลูกเลี้ยงไว้จะทำอะไรในด้านธุรกิจการค้าจะมีความคล่องตัวก้าวหน้า อีกทั้งทำให้มีคนเมตตาและเลื่อมใสนับถือ(๒) ว่านนี้คล้ายว่านนางพญาใหญ่ จุดต่างอยู่ที่ว่านกวักพุทธเจ้าหลวงผิวใบขรุขระขอบใบเป็นคลื่น ขอบกลีบดอกเป็นคลื่น ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ในว่านกลุ่มกวักทั้งหลายว่านกวักพุทธเจ้าหลวงที่ว่าเป็นหมายเลขหนึ่งของว่านกลุ่มนี้
๓. ว่านมหาปราบ
ลักษณะเหมือนกับว่านพญาว่านทุกประการ ใบเขียว เส้นกลางใบแดง ก้านใบและลำต้นสีแดงใต้ใบเคลือบเหลืองเล็กน้อย หัวดังหัวขมิ้น แต่เนื้อในสีขาว สรรพคุณใช้ในทางอิทธิฤทธิ์และอำนาจ ทำให้อยู่ยงคงกระพันและใช้ป้องกันภูตผีปีศาจได้ดีนัก ท่านว่าปลูกไว้กับบ้านทำให้ผีสางนางไม้ไม่กล้าเข้าใกล้
๔. ว่านดาบนารายณ์
เป็นว่านที่มีสรรพคุณทางด้านอำนาจ ใช้ป้องกันภูตผีปีศาจ อัคคีภัย และภัยพิบัติต่างๆอันจะเกิดขึ้น ตลอดทั้งคุณไสย ศัตรูหมู่ร้าย และอสรพิษเขี้ยวงา อีกทั้งใช้ในทางเมตตามหานิยมได้อีกด้วย
ว่านนี้มองดูคล้ายกับว่านหางช้าง และว่านพัดแม่ชี จุดตัดอยู่ที่ดอก ว่านพัดแม่ชีดอกสีขาว(จำง่ายๆว่าแม่ชีนุ่งขาวห่มขาว) ว่านหางช้างพื้นดอกสีส้มกระสีแดงอิฐ ในขณะที่ว่านดาบนารายณ์พื้นดอกสีขาวแต้มดอกสีฟ้า ว่านนี้เมื่อดอกโตเต็มที่และโรยไปแล้วจะเกิดเป็นหน่อต้นใหม่ได้ ต้นนี้คือต้นที่มีชื่อวิทย์ว่า Neomarica candida ครับ
๕. ว่านเพชรนารายณ์
ว่านนี้มีอีกหลายชื่อเช่น ขุนโจรกลับใจ หอกนารายณ์ ลักษณะ ใบและก้านมีสีเขียว รูปคล้ายหอก ดอกแดงเหมือนดอกหงอนไก่ ฝักดอกมีสีขาวในเดือน ๑๒ จึงจะออกดอก
ประโยชน์ เมื่อต้องการจะขุดเอาว่านนี้ ต้องหาวันฤกษ์ดียามดีจึงมาขุดเอาไป แล้วนำไปผึ่งแดดในที่สูง ครั้นถึงวันเดือนดับ คือวันสิ้นเดือนแรม ๑๕ ค่ำ จึงแต่งเครื่องบูชามีข้าวตอกดอกไม้ กุ้งพร่าปลายำ อันเป็นเครื่องกระยาบวช แล้วจึงแกะเป็นรูปพระนารายณ์ มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายถือสังข์ มือขวาบนถือจักร มือซ้ายบนถือพระขรรค์ แล้วเศกด้วยคาถานี้ “อมชัยยะ ชัยยะ ปราชัยยะ ปราชัยยะ อหัง มหาเพช สะตูรยะยัง สัพพะลาภัง สะวาหะ” เศกให้ได้ ๑๐๘ คาบ ก่อนเศกหันหน้าไปทางทิศบูรพา แล้วเอาพระธาตุของพระอรหันต์กับรูปที่แกะนี้ใส่ในตลับทองรวมกันไว้ เอาไปที่ไหน ๆ หรือจะไปสู่สงครามผจญข้าศึกศัตรู นำติดตัวไปด้วย ย่อมมีชัยชนะทุกประการ ทั้งเป็นเสน่ห์มหานิยมและเป็นนะจังงังอีกด้วย
ว่านเพชรนารายณ์ อีกตำราหนึ่งว่า เมื่อแกะเป็นรูปพระนารายณ์ ๔ กรแล้ว ให้เศกด้วยคาถานี้ “โอม พระนารายณ์เจ้าเอ๋ย โอมไชยะ ไชยะ ปราชัยยะปราชัยยะ มหาเทวา สัพพะอินทรา นะมะพะทะ วินัสสันติ” เศก ๑๐๘ ครั้ง ขณะเศกให้หันหน้าไปทางทิศบูรพา เมื่อเศกเสร็จแล้วให้นำเอารูปที่แกะกับพระธาตุของพระอรหันต์ใส่ไว้ด้วยกันในตลับทองคำ แล้วเศกด้วยคาถา “อิติปิโสภควาถึงภควาติ” อีก ๑๐๘ คาบ เวลาจะไปไหนให้นำติดตัวไปด้วย แม้จะต้องไปในราชการสงครามหรือต้องผจญภัย ต่อสู้ข้าศึกศัตรู ย่อมมีชัยชนะทุกสิ่งทุกประการ ทั้งเป็นเสน่ห์และเกิดจังงังแก่ศัตรูอีกด้วย(๔)
๖. ว่านดาบหลวง
เป็นว่านที่มีอำนาจ ใช้ป้องกันศัตรูหมู่ร้าย ที่จะเข้ามาโจรกรรมบ้านเรือน โดยว่านนี้จะแผ่อิทธิฤทธิ์อภินิหารให้ศัตรูเห็นเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด เหล่าศัตรูนั้นจะไม่กล้าเข้ามากล้ำกราย และคิดโจรกรรมในบ้าน
ลักษณะ หัวคล้ายกับหัวหอมใหญ่ ใบสีเขียวเข้ม ใบเล็กและยาวคล้ายกับมีดดาบ ปลายใบห้อยลง ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ช่อดอกยาวประมาณ ๑ เมตร(๒)
ว่านต้นนี้คือไม้หัวในสกุล Hymenocallis sp. ว่านต้นนี้คล้ายพลับพลึงกทม.ที่เห็นกันได้ทั่วไป จุดเด่นคือในเรียวยาวเล็กและแข็งกว่าพลับพลึงกทม.มาก ว่านนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ว่านขอนดอก”(๕)ครับ
๗. ว่านพญานาคราช
ว่านนี้ใน “สารานุกรมว่านไทย ฉบับสมบูรณ์” ไม่ได้ระบุบรรยายลักษณะเอาไว้ แต่ได้อาศัยอ้างอิงตำราว่านเล่มเก่าๆสรุปออกมาเป็นว่านถึง ๔ ลักษณะ แยกเป็น ๗ ชนิดด้วยกันคือ
ลักษณะที่ ๑
ต้นดังต้นพลับพลึง หลังใบเป็นเกล็ดดังเกล็ดนาคราช ปลายใบจดดินแล้วเป็นต้นขึ้นใหม่ได้อีก ส่วนต้นเก่าก็จะค่อย ๆ ตายไป ต้นคืบไปได้ไกลเหมือนกับว่านคืบ ผิดกันที่ว่านคืบนั้นมีเมล็ดอยู่ที่ปลายใบ สรรพคุณเป็นยาฆ่าปรอท(๖-๑๒)
ต้นนี้นักเลงว่านตีความกันไปได้ ๒ ต้นด้วยกัน คือ
๑) ต้นที่เรียกว่าเฟินก้านดำหางสิงห์ หรือ หางนาคบก Adiantum cauddatum ด้วยลักษณะและชื่อที่พ้องกัน และใบที่มีลักษณะเป็นเกล็ด
๒) ต้นที่เรียกว่าเฟินนาคราชใบหยาบ,ว่านนาคราช Davallia Solida ด้วยชื่อที่พ้องกันและลำต้นที่มองดูคล้ายเกล็ดงู
แต่ส่วนตัวผมตีความว่าน่าจะเป็นเฟินชนิดใบเดี่ยวแบบ tripartite ต้นที่เรียกว่า เฟินข้าหลวงเลื้อย Asplenium batuense ซึ่งมีลักษณะคือ ใบเลื้อยแนบไปตามต้นไม้หรือโขดหิน ลักษณะใบยาวเรียว มีคลื่นเล็กน้อย ที่ปลายใบเกิดตา มีต้นใหม่ได้(๑๔-๑๕) อับสปอร์เป็นเส้นเหมือนเฟินข้าหลวงหลังลาย พบในป่าดงดิบชื้น ทางภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง ยะลาเป็นต้น ด้วยลักษณะที่เข้าตำรามากกว่าคือ “ต้นดังต้นพลับพลึง หลังใบเป็นเกล็ดดังเกล็ดนาคราช ปลายใบจดดินแล้วเป็นต้นขึ้นใหม่ได้อีก” โดยเฉพาะต้นนี้เมื่อขึ้นติดกันกอต้นจะเหมือนกอพลับพลึงมากที่สุดในกลุ่มครับ
แต่ก็ยังมีอีกตัวที่เข้าลักษณะและชื่อเช่นกันคือต้น Oleandra pisitllaris ซึ่งมีชื่อเรียกว่า นาคราช, ว่านนาคราช, พญางู, นาฆอ เป็นเฟินอิงอาศัย ลักษณะใบยาวประมาณ ๑๕-๒๐ ซ.ม. ลักษณะเหง้าเลื้อยไม่ติดพื้น เหง้ามีเกล็ดสีน้ำตาลปกคลุม ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว ใบเกิดรอบเหง้า ครั้งละหลายใบติดกัน ใบยาวประมาณ ๑๐-๓๐ ซ.ม. กว้าง ๒-๓ ซ.ม. พบได้ตามต้นไม้ โขดหิน พบทางภาคใต้ ป่าดงดิบภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดต้นใหม่ที่ปลายใบ
ลักษณะที่ ๒
ลำต้นเป็นเถาเลื้อยขึ้นอยู่ตามต้นไม้สูงๆคล้ายกล้วยไม้ ลำต้นนั้นเป็นลายคล้ายงู สีมันละเลื่อม ลำต้นเถาโตประมาณปลายนิ้วก้อย ใบเขียวเป็นฝอยมีก้านยาว สรรพคุณเอามาดองกับสุรารับประทานแก้โลหิตเสีย และแก้พิษงูโดยใช้น้ำสุราเป็นกระสาย(๑๑)
ต้นที่ ๓
เป็นเถานิ่มเขียวคล้ำ ชอบขึ้นอยู่ตามต้นไม้สูงๆ ไม่มีใบ ที่เถาเป็นจุดหนามเล็กๆอยู่ทั่วไป สรรพคุณแก้พิษงูร้าย ใช้น้ำซาวข้าวเป็นน้ำกระสาย เอามารับประทาน ส่วนกากของว่านเอามาปิดไว้ที่ปากแผล(ว่านชนิดนี้เรียกว่านาคราชงูเขียว)(๑๑)
ต้นที่ ๔
ลำต้นเป็นเถาอย่างกับนาคราชงูเขียว เหมือนกันทุกๆอย่าง ผิดกันอยู่ที่ลำต้นเถามีสีแดงเรื่อๆ สรรพคุณตลอดจนถึงวิธีใช้ก็อย่างเดียวกัน(ชนิดนี้เรียกว่านาคราชปีนแก้ว)(๑๑)
๘. ว่านพญากาสัก
ป็นไม้ที่มีสรรพคุณอย่างเดียวกันกับต้นธรณีสาร มีอำนาจญาณสูง เชื่อกันว่าท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ ท่านแนะนำให้เอาลำต้นมาทำเป็นลูกประคำ-ลูกอม-ปลัดขิก ใช้คล้องคอ ผูกบั้นเอวป้องกันสิงห์สาราสัตว์ อสรพิษ เขี้ยวงาต่างๆในยามเดินป่า อีกทั้งใช้ป้องกันภูตผีปีศาจ กันการกระทำยำยี ฝังรูปฝังรอย และป้องกันเวทย์มนต์คาถาของพวกอธรรมใบของไม้ชนิดนี้ยังใช้ตำพอกถอนพิษคุณไสย ตลอดทั้งคุณผีต่างๆ ทั้งยังใช้ในทางศิริมงคลดีนัก ว่านนี้ลักษณะลำต้นเหมือนต้นมะอึก ต้นสูงใบมีขนสีเขียวนวล ใบกว้างใหญ่คล้ายใบพลวงแต่บางกว่า หัวคล้ายมันสำปะหลัง ดอกลักษณะเหมือนกับดอกเถาคัน(๒) ว่านนี้ขยายพันธ์ด้วยเมล็ดเป็นหลักครับ
๙. ว่านสี่ทิศ
เป็นว่านที่มีอำนาจทางด้านปกป้องคุ้มครอง ถ้าทำพิธีปลูกให้ถูกต้องว่านนี้จะมีอำนาจแก่กล้ามาก สามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ และภัยพิบัติต่างๆได้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ผู้ปลูกเลี้ยง ลักษณะหัวคล้ายหัวหอมใหญ่ เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ใบคล้ายกับว่านดาบหลวง ใบห่อเป็นราง ใบยาวสีเขียว โคนใบมีสีแดงเรื่อทางด้านหลังใบ เวลาออกดอกจะชูก้านสูงขึ้นมามีทั้งดอกสีแดงและดอกสีส้ม(๒)
ว่านนี้เนื่องจากดอกมีด้วยกันสี่ดอกจึงเรียกว่านสี่ทิศ หากเป็นว่านเก่าจะมีด้วยกันสามสีคือ ส้ม แดง และขาว แต่ต้นที่แพร่หลายเป็นต้นดอกสีส้ม เทคนิคการดูว่าต้นนั้นดอกสีอะไรโดยไม่ต้องรอดูที่ดอก ให้ดูที่โคนต้น หากมีสีแดงเรื่อที่หลังใบต้นนั้นจะมีดอกสีส้ม โดยต้นที่นิยมใช้ในพิธีปลูกว่านเพื่อป้องกันภัยพิบัตินี้จะใช้ชนิดต้นดอกสีส้ม ซึ่งอาจเป็นเพราะหาได้ง่ายกว่าครับ
๑๐. ว่านนางคุ้ม
เป็นว่านที่ใช้ในทางอำนาจและป้องกันภัย ตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บและภูตผีทั้งหลาย ช่วยป้องกันคุณไสยและเสนียดจัญไรทั้งปวงมิให้มาแผ้วพาล
ว่านนี้เชื่อกันว่าเป็นว่านที่แม่นางพฤกษาสิงสถิตอยู่ ทำให้ผู้ปลูกเลี้ยงมีความร่มเย็นเป็นสุข
ลักษณะหัวคล้ายหัวหอมใหญ่ ก้านและใบเหมือนผักตบชวา ก้านใบมีสีเขียวนวล ใบใหญ่กลมรี ดอกมีสีขาวเวลาออกดอกจะแทงก้านช่อดอกขึ้นพ้นเหนือใบ(๒)
ว่านนี้ผู้ปลูกจำนวนไม่น้อยที่มีประสบการณ์ทางด้านปาฏิหาริย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป้องกันโจร ป้องกันไฟไหม้ หรือแม้บางครั้งจะเห็นเป็นคนแก่นั่งอยู่หน้าบ้านในเวลาที่ไม่มีใครอยู่บ้าน จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ว่านผู้เฒ่าเฝ้าบ้าน” เป็นว่านที่ผู้เขียนแนะนำให้หามาปลูกไว้ต้นหนึ่งครับ
๑๑. ว่านนางล้อม
ว่านนี้คล้ายว่านสี่ทิศ แต่ต้นและหัวเล็กกว่า มีหน่อล้อมต้นแม่ขึ้นล้อมกันเป็นกอ สรรพคุณใช้ในทางป้องกันภัยเช่นเดียวกับว่านนางคุ้ม(๒ หน้า ๑๑๒)
ว่านนี้ในตำราทั่วไปกล่าวถึงต้นที่มีสีเขียวล้วน Crinum sp. แต่ในตำราของ “ทัศนา ทัศนมิตร และดำรงศักดิ์ นาคนิยม” กล่าวถึงต้นที่มีลักษณะโคนก้านและใบมีสีแดงม่วง ซึ่งไปคล้ายกับ พลับพลึงแดงแคระ Crinum menehune โดยต้นชนิดสีเขียวล้วนนั้นออกดอกยากมาก ส่วนต้นสีแดงออกดอกง่ายกว่า
๑๒. ว่านกุมารทอง
เป็นว่านที่มีสรรพคุณทางด้านเมตตามหานิยม และอำนาจมหามงคล ว่านนี้เชื่อกันว่าท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ ท่านแนะนำให้ทำพิธีปลูกว่านทั้งแปดทิศ สำหรับป้องกันภูตผีปีศาจ โรคภัยไข้เจ็บ และป้องกันภัยพิบัติต่างๆ อันมีอัคคีภัยเป็นต้น และยังใช้ในทางเสน่ห์เมตตามหานิยมให้คนรักใคร่ดีนักแล
ลักษณะหัวคล้ายหัวหอมใหญ่ ใบป้อมเหมือนว่านมหาลาภแต่ใบใหญ่และแข็งกว่า ปลายใบไม่ตก ลำต้นเป็นจุดแดงคล้ำ ดอกสีแดงเป็นภู่เหมือนดอกเข็ม(๒)
เนื่องจากว่านต้นนี้ออกดอกเป็นช่อกลมแดงดังดวงอาทิตย์ฉายแสงจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งที่ซ้ำกับว่านอีกประมาณ ๔ ตัวคือ “ว่านแสงอาทิตย์” และเนื่องจากว่านนี้ออกดอกประมาณเดือนพฤษภาคมบางท้องถิ่นจึงเรียกว่า “ว่านพฤษภา” ครับ
๑๓. ว่านแสงอาทิตย์
เป็นว่านที่มีสรรพคุณทางอำนาจ เหมาะสำหรับปลูกไว้กับบ้านเรือน จะเป็นศิริมงคล และมีอำนาจป้องกันภัยต่างๆ ลักษณะหัวคล้ายกับหัวข่า ต้นก้านใบคล้ายกับต้นพุทธรักษาแต่แข็งกว่า ปลายใบมนแหลมหน้าใบสีเขียวเข้ม หลังใบสีแดงคล้ำ กระดูกใบสีเขียวอ่อนขึ้นอยู่เป็นกอ(๒)
ว่านต้นนี้มีชื่อซ้ำกันหลายต้นมากในตำราว่าน หรือจากการเรียกขานในแต่ละท้องถิ่น โดยเรียกว่านต่างๆเหล่านี้ว่า “ว่านแสงอาทิตย์” ทั้งสิ้น ได้แก่ ว่านกุมารทอง ว่านกาบหอยแครง ว่านกระชายแดง เป็นต้น สำหรับต้นในภาพนี้ยึดตามตำรา “สารานุกรมว่านไทย ฉบับสมบูรณ์” โดย ทัศนา ทัศนมิตร และดำรงศักดิ์ นาคนิยม เป็นหลักเนื่องจากเป็นต้นที่ใช้ทำวิชาปลูกว่านแปดทิศสำหรับเพื่ออำนาจคุ้มครองป้องกันภัย
บทโมรปริตร
สำหรับในทางพระพุทธศาสนานั้นพุทธมนต์บทที่แต่โบราณกาลมา นิยมใช้เพื่อการป้องกันผองภัยทั้งหลายได้แก่ “บทโมรปริตร” โดยมีตำนานเล่าว่า ครั้งอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญานกยูงทอง ทุกๆรุ่งเช้า นกยูงทองจะขึ้นไปบนยอดเขาสูง เฝ้ามองดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วกล่าวนมัสการพระอาทิตย์กำลังอุทัย กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระคุณของพระองค์ เสร็จแล้วจึงออกเที่ยวหาอาหาร
ครั้นตกเย็น นกยูงทองนั้นจะกลับขึ้นไปบนยอดเขาสูง เฝ้ามองดูดวงอาทิตย์กำลังตก แล้วกล่าวนมัสการพระอาทิตย์กำลังอัสดง กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งเสด็จปรินิพพานแล้วพร้อมทั้งพระคุณของพระองค์ด้วย แล้วก็เข้าพักผ่อน
ด้วยอานุภาพพระปริตรที่กล่าวนมัสการอยู่ทุกเช้าทุกเย็นเช่นนี้ นกยูงทองก็อยู่เป็นสุขและปลอดภัยมาช้านาน โดยคาถาโมรปริตรนี้มีบทย่อและบทเต็มคือ
บทย่อ
“นะโมวิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา”
“ขอนอบน้อมท่านผู้หลุดพ้นแล้ว (จากกิเลส) ทั้งหลาย ขอนอบน้อมวิมุตติธรรม (ธรรมอันหลุดพ้นคือพระนิพพาน)” (๒๐)
บทเต็ม
สำหรับสวดตอนเช้า
๑. อุเทตะยัง จักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะถะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะถะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลก ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ เสด็จอุทัยขึ้นทรงพระรัศมีสีทองสาดส่องปฐพี ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอาทิตย์ผู้ทรงรัศมีสีทองสาดส่องปฐพีพระองค์นั้น พระองค์ได้คุ้มครองข้าพระองค์ในวันนี้แล้ว ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตยั่งยืนอยู่ตลอดวัน
๒. เย พฺราหฺมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตฺวา โมโร จะระติ เอสะนา
พระพุทธเจ้าเหล่าใด ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระพุทธจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม (เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้ว จึงออกเสวงหาอาหาร)
สำหรับสวดตอนค่ำ
๓. อะเปตะยัง จักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะถะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะถะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลก ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ เสด็จอัสดงคตทรงพระรัศมีสีทองสาดส่องปฐพี ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอาทิตย์ผู้ทรงรัศมีสีทองสาดส่องปฐพีพระองค์นั้น พระองค์ได้คุ้มครองข้าพระองค์ในวันนี้แล้ว ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตยั่งยืนอยู่ตลอดราตรี
๔. เย พฺราหฺมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตฺวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ
พระพุทธเจ้าเหล่าใด ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระพุทธจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม (เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้ว จึงนอน)(๒๑)
บทสวดโมรปริตรนี้เป็นบทสวดที่ผู้เขียนอยากแนะนำให้สวดภาวนาทุกเช้าค่ำเพื่อป้องกันภัยทั้งปวงครับ
ในประเด็นของภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นแท้จริงแล้วภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลายนั้นก็ล้วนแล้วเกิดแต่น้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น(กรรมร่วมกันของคนทั้งโลก) การที่มนุษย์เบียดเบียนธรรมชาติมากเกินไปจนเกินที่ธรรมชาติจะเยียวยาตัวเองได้ ธรรมชาติก็เกิดการเจ็บป่วยและเกิดการแปรปรวนวิปริตขึ้น ดังนั้นหากจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขต้องแก้ไขที่พฤติกรรมการเบียดเบียนธรรมชาติของมนุษย์เอง ซึ่งการปลูกต้นไม้ การปลูกว่านก็เป็นจุดเล็กๆจุดหนึ่งแห่งการเริ่มต้นที่มนุษย์จะสมัครสมานสามัคคีกับธรรมชาติ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติ เพื่อการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างมีความสุขครับ
เขียนและเรียบเรียงโดย อรรถวัติ กบิลว่าน
ออกแบบและเผยแพร่โดย
๙ ม.ค. ๒๕๕๔ –๗ พ.ค. ๒๕๕๕
——————————————————-
อ้างอิง
- ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2011 โดย kitti http://ufokaokala.com/index.php?topic=3388.0
- “สารานุกรมว่านไทย ฉบับสมบูรณ์” โดย ทัศนา ทัศนมิตร และดำรงศักดิ์ นาคนิยม
- ว่านดาบนารายณ์ Walking Iris โดย กะได http://www.magnoliathailand.com/webboard/index.php?topic=0
- “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
- ว่านดาบหลวง โดย กะไดhttp://www.magnoliathailand.com/webboard/index.php?topic=0
- “ตำหรับ กระบิลว่าน” โดย หลวงประพัฒสรรพากร
- “ตำราสรรพคุณยาไทย ว่าด้วยลักษณะกบิลว่าน” โดย นายไพทูรย์ ศรีเพ็ญ
- “ตำราดูว่านและพระเครื่องพระบรมธาตุ” ชัยมงคล อุดมทรัพย์
- “ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน” โดย อุตะมะ สิริจิตโต
- “ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน” โดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ
- “ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์” โดย ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น
- คัมภีร์ไสยศาสตร์ ฉบับสมบูรณ์ : อาจารย์ โหรญาณโชติ(ชัยมงคล อุดมทรัพย์)
- เฟินข้าหลวงเลื้อยhttp://www.thaifern.com/Aspleniaceae/batuense.htm
- http://www.thaifern.com/family.html
- http://www.fernsiam.com/FernWorld/Taxonomy/ASPLENIACEAE/Asplenium/_simple.html
- http://yutthana.bcnice.net/p12-8.html
- ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย http://www.thaibiodiversity.org/Life/LifeDetail.aspx?LifeID=10935
- http://img683.imageshack.us/img683/3066/proiphysamboinensis1.jpg
- http://www.visoflora.com/images/inter/med-haemanthus-multiflorus-visoflora-jpg
- โมรปริตร.. พรหมมนต์ป้องกันภัย โดย ท่าพระจันทร์ http://thaprajan.blogspot.com/2011/08/blog-post_html
- http://th.wikisource.org/w/index.php?title=โมรปริตร&oldid=36885