วงการว่านในปัจจุบันไม่ได้เลี้ยงว่านแบบว่านดังแต่ก่อน ปัจจุบันเน้นเลี้ยงว่านแบบไม้ประดับ ว่านจึงให้ผลในมิติเพียงไม้ประดับเท่านั้น!! สมัยก่อนนั้นว่านมีผลชะงัดทั้งทางยาและทางจิตศาสตร์ เพราะหลักคิด การเลี้ยง การสืบทอดสายพันธ์มันแตกต่างกันมากกับยุคปัจจุบันครับ…เซียนว่านยุคเก่าจะมองว่า ว่านปัจจุบันมันไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว ต้นสายพันธ์มันเพี้ยนหมดแล้ว พอมันเพี้ยนคนที่หวังผลกับว่านแบบว่าน ก็ผิดหวัง แล้วก็โทษว่าโบราณสอนกันมาผิด ไม่เห็นดีดังที่ตำราว่าไว้เลย…
สารบัญ: คลิ๊กเลือกอ่าน
ทำไมคนโบราณถึงหวงวิชา
ต้องทำความเข้าใจว่าวิชามีระดับของการสอนหรือการรักษาอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน กล่าวคือ
๑. วิชาสาธารณะ มีประโยชน์มาก มีโทษน้อย วิชาเหล่านี้คือวิชาที่เผยแพร่ได้ทั่วไป วิชาประเภทนี้ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน เข้าใจคลาดเคลื่อนยาก มีโทษน้อย คนจึงไม่หวงกัน เป็นวิชาที่คนมักเรียนหรือรู้กันทั่วไป ก็วิชาที่หาอ่านได้ในหนังสือหรือ Internet ทั่วไปแหละครับ พวกวิชาในการศึกษาภาคบังคับพื้นฐานนั่นแหละครับ…
๒. วิชากึ่งเปิดเผย เป็นวิชาที่เปิดเผยได้บ้างแต่ไม่ทั้งหมด มีประโยชน์มาก แต่แฝงด้วยโทษพอสมควร ไม่มากนักหากไม่ลงลึก แต่เมื่อไม่ลงลึกก็จะไม่เด็ดขาดเท่าไร…..วิชาเหล่านี้ได้แก่วิชาเชิงวิชาชีพ เช่น วิชาวิศวกรรม วิชาสมุนไพร วิชาแพทย์ เป็นต้น (ปรุงยาผิด ให้ยาผิด บางทีอาจหายช้า/ไม่หาย หรืออาจได้รับอาการข้างเคียงของยา เป็นต้น)
๓. วิชาลับ กลุ่มนี้จำต้องเรียนหรือสืบกันในเฉพาะกลุ่ม เพราะนอกจากจะมีประโยชน์มาก อาจมีโทษมากตามมา หรือเรียนยาก เข้าใจเข้าถึงยาก ถ้าไม่มีครูชี้แนะโดยตลอดจะเข้าใจหรือทำผิดเพี้ยน บางคนทำไปอีกทาง บางคนทำไม่ได้แล้วก็จะพาลว่าวิชาเหล่านั้นไม่มีจริง เช่น วิชาว่าน วิชาไสยศาสตร์ วิชาทางจิตต่างๆ เป็นต้น
การหวงวิชาของคนโบราณส่วนมากจึงหวงในวิชาที่ ๒ และ วิชาที่ ๓ ความจริงแล้วมิใช่การหวง แต่เป็นการรักษาความบริสุทธิ์ของวิชาไม่ให้ผิดเพี้ยนมากกว่า จึงเผยแพร่ให้เฉพาะกลุ่มศิษย์ในสำนัก ไม่ผิดเพี้ยนแปลว่านอกจากทำวิชาได้ผลดังคำบอกแล้วยังไม่เพี้ยนไปทางอื่น (ธาตุไฟแตก ธาตุมารเข้าแทรก เป็นปอบ ฯลฯ) ตลอดจนรู้ทางแก้หากมีผลไม่ดีในการเรียนวิชา เช่น วิชากุลฑาลิณีโยคะ อาจเกิดงูไฟกำเริบ ต้องรู้วิธีคุม หรือวิธีแก้ เป็นต้น อย่างวิชาว่านก็อย่าง เช่น ช่อว่านโพลง ต้องรู้วิธีเลี้ยง การกำราบ การคุม การใช้ ให้ครบ ไม่อย่างนั้นโพลงจะเข้าตัวเป็นปอบได้…
การบังวิชาของคนโบราณ
มีหลากหลายวิธีการบัง การปิดบังวิชาไว้แบ่งเป็นแบบต่างๆ ได้แก่
- การบังด้วยการจดแบบต่างๆ เป็นการตั้งใจจริงๆ เช่น จดสลับหน้า ,กลตัวเลข ,ตัวข่มตัวสับ,กลกุ้งนอนเฟย ฯลฯ โดยครูจะคอยสอนให้เห็นวิธีการบังวิชาในแบบต่างๆของสำนัก ใครไม่ได้ยกเรียนหรือใจร้อนเรียนไม่จบก็หมดสิทธิ์ที่จะรู้
- การจดแยกคนละเล่ม เช่น เล่มหนึ่งคือสูตรยา ลักษณะต้นว่านยา เล่มหนึ่งฝอยหรือวิธีปรุง เล่มหนึ่งคาถากำกับ เป็นต้น
- การบังจากการที่รู้และเห็น จำได้กันในสำนัก เลยไม่ต้องจดเพราะเข้าใจตรงกัน นั่นคือถ้านอกสำนักจะไม่รู้ เช่น ว่านกำแพงเจ็ดชั้น ต้นที่ทำยาบำรุง กับต้นที่ใช้ทางไสยศาสตร์(กลุ่มทิพย์เนตร) จะเป็นคนละต้นกัน (ในตำราว่านบางเล่มจดรวมเป็นต้นเดียวกัน) คล้ายๆกับว่านนางกวักที่จดสองต้นรวมกัน คือต้นหัวหอมกับต้นขมิ้น เป็นต้น
- วิชาศิษย์-วิชาครู บางคาถาบางวิธีใช้ ระดับศิษย์ธรรมดา ศิษย์เอก และระดับครู ก็ต่างกันไป ตามคุณสมบัติและความสามารถของแต่ละคน คนไม่รู้ได้ตำราระดับอาจารย์มาคุยกับตำราระดับศิษย์ก็คุยกันคนละเรื่อง…
วิชาว่าน มีการบังวิชาหลายชั้นเนื่องจาก
- ตำราว่านสมัยก่อนปะปนเป็นกระสายในตำราไสยศาสตร์ ดังนั้นคนเรียนว่านจะต้องเรียนไสยควบคู่ด้วย คนเรียนครึ่งๆกลางๆก็ได้วิชาว่านไม่ครบ
- ตำราว่านยุคสร้างกบิลว่านแล้วคือรวบรวมเป็นชุดวิชาว่านเฉพาะแล้ว ยังอ่านทำความเข้าใจยาก เช่น
- ว่านตัวหนึ่งอ้างอิงลักษณะว่านหรือพืชอีกตัวหนึ่ง คนไม่รู้ครบก็จะงงดังอ่านลายแทง ทำให้ตีความกันผิดๆไป
- คาถาหรือเนื้อหาไม่ครบหรือสะกดผิด ทั้งที่ตั้งใจผิดจากการบังวิชา ไม่ก็คัดลอกกันผิด (คนไม่ยกเรียนก็จะพลาดตรงนี้ไป)
- การคัดลอกบางทีคัดลอกแบบสั้นๆ เพราะเห็นและรู้กันในสำนัก แต่บางต้น บรรยายโดยรวมชื่อพ้องกันแต่ต่างต้นมาไว้ที่เดียวกัน….เข้าใจว่าลอกผิดในยุคหลังไม่ก็ตั้งใจให้ผิด เพราะคนในสำนักรู้อยู่แล้ว
- ในสำนักมีต้นว่านประจำอยู่แล้ว ต้นไหนใช้อย่างไร ใช้กันเป็นอยู่แล้ว ตำราว่านคือสิ่งกันลืม จดพลาดบ้าง ขาดบ้างเกินบ้าง รู้กันอยู่แล้วในหมู่คนเรียนหรือคนใช้จริง… คนไม่ได้ยกเรียนมาถึงตรงนี้ก็งงไป…
- ว่านใช้ในสำนักคือว่าน “คัด” ที่คัดสายพันธ์เอาสายพันธ์ชั้นดีมาใช้ทั้งทางยาและทางไสยศาสตร์ การคัดนั้นบางต้นใช้เวลาทั้งชีวิตในการคัดสรรค์ ดังนั้น “นอกสำนัก” แม้หาว่านป่าเข้าตามตำราที่จด ว่านที่ใช้ก็ไม่ได้ผลเท่าว่านเก่าที่สืบสายกันมา เหมือนว่านแม่ทัพ คนไม่รู้ก็จับต้นที่คล้ายๆ มาขายมาใช้ แต่แท้จริงแม่ทัพกลิ่นต้องเป็นไพลชัดเจน หรือว่านเสน่ห์จันทน์ในยุคหลังที่เอาว่านป่า หรือว่านเมืองนอกมาปน กลิ่นมันไม่ใช่ ไม่ถึงเสน่ห์จันทน์ต้นเดิม เป็นต้น
สรุป
จึงรวมความได้ว่า วิชาว่าน นั้นมีเกราะรักษาความบริสุทธิ์หลายชั้น (โดยเฉพาะในมิติสายพันธ์ว่านคัดสืบทอด) และแน่นอนความเพี้ยนก็มากด้วยเป็นเงาตามตัว แต่สุดท้ายมันวัดกันที่ผลได้ชัดเจน เหมือนว่านปัดตลอดตัวผู้ หรือว่านกวักพุทธเจ้าหลวง ที่มีสายพันธ์และวิธีการเลี้ยงเฉพาะ จึงให้คุณแตกต่างอย่างชัดเจนในคนที่ได้ต้นป่าที่มีลักษณะคล้ายไปเลี้ยง….
ดังนั้น ในยุคที่ครูว่านเก่งๆยังมีตัวตน ตำราเดินได้ยังมีอยู่ หากจะเรียนวิชาว่านและอยากจะเลี้ยงว่านแบบหวังผลในระดับว่าน ไม่ได้หวังผลในระดับ “ไม้ประดับ” ก็ควรเข้าหาครูที่เก่งจริงๆ ที่รู้จริงๆ จะได้ไม่เสียเวลา และหลงทางว่านครับ…
และอยากจะบอกคนเล่นว่านยุคเก่าที่มีว่านเก่าว่าให้ภูมิใจและเก็บว่านเก่านอกกระแสของตัวเองไว้ให้ดีครับ ในภายภาคหน้ามันจะเป็นสิ่งที่กล่าวถึงและแสวงหากันมาก… เก็บว่านต้นแท้ให้ลูกให้หลานนะครับ…อย่าไปแห่วิ่งตามไม้กระแสพวกไม้ด่างไม้ประดับ แล้วทิ้งของดีประจำชาติอะไรกับเขาเลย…
อรรถ
๓๐ มิ.ย.๖๔
อ้างอิง
https://www.facebook.com/Lanna.UKM/photos/a.401555203324446/1060048337475126
https://farmssb.com/superstition/