ว่านชั้นต่างๆ เพื่อการแสวงหาว่านให้ถูกต้น

บทความนี้อาจจะกระทบใจใครบ้าง ต้องขออภัยด้วย ขอตรงไปตรงมาครับ หลักวิชาการมันเป็นแบบนี้จริงๆ ผมยั้งมือไว้ไมตรีแล้ว …

ว่านแบ่งตามชั้นความขลัง / มีประสิทธิผลตามตำรา มีแก่ประเภท

ผมแบ่งตามประสบการณ์การเลี้ยงว่านกว่า ๒๕ ปี และจากการได้ถ่ายทอดพูดคุยกับผู้ทรงความรู้เรื่องว่านต่างๆมากมาย โดยสรุปแบ่งออกมาได้ ๔ ประเภท ดังนี้ครับ

  1. ว่านชั้นครู:ดีนอกดีใน
  2. ว่านชั้นรอง: ​ดีนอกหรือดีในอย่างใดอย่างหนึ่ง
  3. เกือบเป็นว่าน (พอไหวแต่ยังใช้ไม่ได้):​ ชื่อและสรรพคุณยังไม่ชัดเจน​ ว่านป่า
  4. ไม่จัดเป็นว่าน (ใช้ไม่ได้​): ไม่ใช่ว่านแต่พยามจัดยัดให้เป็นว่าน

ว่านชั้นครู:

คือต้นไม้ที่เป็นว่านจริงๆ เพราะทั้งคัดสายพันธ์ที่ใช่ ซึ่งร้อยต้นอาจมีสักต้นในประเภทเดียวกันที่เข้าลักษณะบางอย่าง เช่น สี กลิ่น รส สรรพคุณ ตลอดจนนิมิตรเมื่อทำการกู้เก็บ ตรงตามตำราหรือเคล็ดการคัดเลือก นี่คือ “ดีนอก”

ส่วน “ดีใน” คือ ปลุกเศกและสืบต่อมายาวนานตามแหล่งรังว่านหรือครูบาอาจารย์ที่ใช้ได้ผลจริง … ว่านกลุ่มนี้เรียกว่า “ว่านชั้นครู” ปกติไม่ค่อยให้กันง่ายๆ และจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ขายในท้องตลาดคือว่าน “สำหรับขาย” ที่จะตกเกรดในระดับหนึ่ง (ราคาถึงถูกไง) หรือเป็นว่านเชิงสมุนไพรที่ปลูกขายกันเป็นแปลงๆที่จำเป็นต้อง ลด ละ เลิก พิธีกรรมในการปลูกว่านไป

ว่านนางล้อม ว่านแก้วหน้าม้าตัวเมีย
ว่านชั้นครูที่ดีนอกและดีใน คือคัดทั้งลักษณะและผ่านกรรมวิธีกล่อมเลี้ยงปลุกเศกมานานหลายปี ตัวอย่างคือนางน้อมต้นเก่า และแก้วหน้าม้าตัวเมีย

ว่านเป็นเรื่องของสมุนไพรเดี่ยวที่หยิบใช้ง่ายใกล้ตัว ว่านชั้นครูจึงมักปลูกไว้ในกระถางใกล้บ้านซึ่งมีเพียงพอใช้ มีจำนวนไม่มาก และเนื่องจากปลูกใกล้ตัว การปลุกเศกผ่านการรดน้ำ ผ่านการเดินผ่านไปชื่นชมแปลงว่านจึงทำได้ง่าย ความต่อเนื่องยาวนานของการปลุกเศกดังกล่าวนับเป็นสิบๆ จึงทำให้ว่านนั้นมีอานุภาพตามตำรา และตามเจ้าของปรารถนา…

ว่านชั้นรอง:

เป็นว่านที่ดีนอกหรือดีใน อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาจจะปลูกมานานจนดีใน แต่อาจยังขาดดีนอก คือยังหาสายพันธ์เข้าลักษณะเจ๋งๆระดับท็อปๆไม่ได้ อย่างเช่น ว่านแก้วหน้าม้า ซึ่งว่านตัวท็อปคือต้องเป็นแก้วหน้าม้าตัวเมีย “หน้าม้า หูแดะ หน้าใบพรายดั่งแก้ว ใต้ใบแดง ต้นเล็ก” ซึ่งถ้าหาไม่ได้ก็ใช้ว่านชั้นรองคือ แก้วหน้าม้าตัวผู้ อันมีลักษณะอื่นๆไม่ครบถ้วนดังกล่าว

เรื่องนี้ข้าพเจ้าทดลองมาหลายปี พบว่าต่างกันจริงๆ ระหว่างต้นลักษณะท็อปกับต้นลักษณะธรรมดา มันอธิบายยากนะ… คงคล้ายๆสายพันธ์ม้ามั้งครับสายพันธ์วิ่งเร็วอย่างไรก็วิ่งเร็วกว่าสายพันธ์พื้นบ้าน เพราะกล้ามเนื้อ โครงสร้างสรีระภายในและนอกที่เอื้อในการวิ่งที่โดดเด่นกว่า… ถ้าเป็นเรื่องสรรพคุณทางยาก็เป็นเพราะต้นไม้ species (ชนิด) เดียวกันแต่ต่าง variations (สายพันธ์) ก็จะให้ฤทธิ์ทางยาต่างกัน ง่ายๆคือมะม่วงครับ (Mangifera Indica) ซึ่งมีมากมายนับร้อยสายพันธ์ก็ให้ลักษณะผล สี และรสที่ต่างกันออกไป…

อีกแบบคือ ได้ว่านที่เข้าลักษณะมาแล้วแต่ยังเศกได้ไม่เต็มที่ ปรอทว่านยังไม่อยู่ตัว ญาณว่านยังไม่บังเกิด อันนี้ประสิทธิภาพของว่านก็เลยยังไม่เต็มที่นักเรียกว่ามีดีนอก แต่ยังขาดดีใน (ยังไม่ขลัง)ครับ..

เกือบเป็นว่าน (พอไหวแต่ยังใช้ไม่ได้):

คือว่านระยะเริ่มแรกปลูกดูแล ชื่อและสรรพคุณยังไม่ชัดเจน​ เพราะรับมาจากใครไม่รู้ ไม่รู้ว่าเดิมเขาปลูกเลี้ยงอย่างไร อย่างพญาลิ้นงูต้นหนึ่งบางพื้นที่เช่น จ.สุโขทัย ปลูกเป็น “แม่เฒ่าเฝ้าบ้าน” ตัวในก็กลายเป็นแม่เฒ่าที่คอยปกปักษ์รักษาบริเวณบ้าน คล้ายๆว่านนางคุ้มซึ่งบางสำนักตัวในเป็นหญิงสาว บางสำนักตัวในเป็นหญิงชรา

หรือได้ว่านป่ามา อันนี้หนักหน่อย … คนจำนวนไม่น้อยยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาก เหตุหนึ่งคือยังอ่านตำราเก่ามาไม่เต็มเล่ม คิดว่าว่านจากป่าต้องเป็นของดีของแท้…

ความจริงแล้วว่านป่าก็เหมือนม้าป่า ที่ยังไม่ได้ฝึก ช้างป่าที่ยังไม่ได้ฝึก ตามธรรมดาฤทธิ์ว่านในป่าจะเสื่่อมลงทุกครั้งเมื่อต้นโทรมลงในฤดูแล้งช่วงที่ว่านลงหัว เรียกว่า “ปรอทลืมต้น” พอฤดูฝนมาใหม่บางทีปรอทก็กลับเข้าต้นใหม่ และบางทีก็ไม่เข้าต้น ว่านป่าบางต้นไปเสพสัตว์ตายเป็นเวลานานก็อาจมีฤทธิ์มากแต่ใช้การไม่ได้ เช่น พวกว่านโพลง (ในช่อวิชาว่านโพลง มีเคล็ดลับมากมายในการกำหราบ การกู้ การใช้ อันนั้นเขาใช้กันได้เพราะมีวิชา ไม่ใช่ดุ่มๆกู้มาใช้เลย)

ปรอทลืมต้น โดยนนายเลื่อน
ในตำราเล่มหลักที่เซียนว่านยุคเก่าใช้กัน คือ ตำราคุณลักษณะว่าน และวิธีปลูกว่าน นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ ระบุไว้ชัดเจนเกี่ยวกับว่านป่าที่ปรอทจะลืมต้นทำให้ฤทธิ์ว่านเสื่อมจนหมด

ดังนั้นว่านป่าจึงเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางตัวก็ฤทธิ์มากแต่ร้าย บางตัวมีฤทธิ์กลางๆ บางตัวก็ไม่มีฤทธิ์ทางว่านเลย ใช้ได้แต่เป็นสมุนไพร

ความชัดเจนมันไม่มีในว่านป่า ดังนั้นครูว่านโบราณท่านจึงไม่ใช้ว่านป่าสักเท่าไร ถ้าหาว่านสืบทอดไม่ได้ถึงจะไปหาว่านป่าตามเคล็ดการเลือกการหา ประกอบพิธีกรรมเลือกเอาว่านป่ามา จากนั้นก็ปลุกเศกเลี้ยงกล่อมว่านอีกประมาณ ๓ ปี จนญาณว่านแก่กล้าและควรแก่การใช้งานจึงค่อยนำออกมาใช้

ไม่จัดเป็นว่าน (ใช้ไม่ได้​):

ไม่ใช่ว่านแต่พยามจัดยัดให้เป็นว่าน ได้แก่ไม้นอก ไม้สวยงามจากต่างประเทศ หรือไม้ป่าบางประเภทที่คล้ายๆว่าน เช่น ไม้หัวพวกขมิ้นขิงข่า ส่วนมากผู้รู้จะสังเกตดูไม่ยาก มักจะเป็นชื่อภาษาสมัยใหม่ และเป็นชื่อออกเทรนความต้องการของตลาด เช่นคำว่า รวย… เป็นต้น ต้นไม้ชนิดนี้ถ้าจะปลูกเป็นไม้ประดับก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าหากจะเล่นให้เป็นว่านกันจริงๆ เป็นเรื่องที่เสียเวลาเปล่า เพราะปลุกเศกยาก ใส่ปราณยาก “ผูก กัน สลัก” ก็ยาก

นักเล่นว่านหน้าใหม่พึงระวังไว้ด้วยครับ กลุ่มผมใช้ความพยายามอย่างหนักในการปลุกกระแสการเล่นว่านจนฟื้นฟูกลับมาได้อีกครั้ง แต่สุดท้ายก็เริ่มเข้ากลับวังวนเดิมคือ มีการแต่งว่านแต่งตำราผิดเพี้ยน เอาไม้นอกมาตั้งเป็นว่าน เอาไม้ป่ามายัดชื่อว่านจนมั่วไปหมด ดังที่เคยเกิดเมื่อหลัง ปี ๒๕๒๒ ซึ่งทำให้ต่อมาวงการว่านซบเซามาตลอดจนหาคนเล่นแทบไม่ได้….

วังวนนั้นกำลังจะซ้ำรอยเดิมประมาณนี้

เล่นว่าน --> ว่านป่ามาตัดราคา / ตั้งชื่อว่านใหม่ -->  หมดหวังจากว่านเลยไปเล่นเสน่ห์จันท์ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ว่าน --> เล่นบอนสี --> วงการว่านซบเซา ไม้นอกไม้ด่างมาแทนที่

เรื่องจริงๆที่คนไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับการปล่อยว่าน

คนเล่นว่านยุคใหม่มักไม่ทราบว่า การปล่อยว่านตามตลาด เช่น จตุจักรในยุคสมัยก่อน จำนวนมากปล่อยว่านเกรดไม่ได้คัด… อันได้แก่เกรดโตเร็วขยายพันธ์เร็วเพราะได้กำไรเยอะกว่า ปล่อยว่านเกรดปลูกในแปลงใหญ่ เกรดสมุนไพร เกรดที่รับมาจากป่าหรือลูกไร่ซึ่งไม่ทราบที่มาชัดเจน ไม่ได้ปล่อยว่านชั้นครู เหตุผลโดยรวมคือ

  • มีน้อย ไม่พอแบ่งขาย เพราะว่านชั้นครูจะปลูกใกล้ตัวปลูกพอใช้ ประมาณ ๑ กระถาง
  • คติเรื่องการหวงวิชาหรือหวงของ เพราะในระยะยาวจะเป็นตัวรักษาความโดดเด่น ความมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เช่น ผงว่านจากรังว่านนี้เสกง่าย เศกแล้วขลังกว่า …ซึ่งเรื่องนี้สมัยก่อนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว การหวงวิชา หรือหวงว่าน คือการรักษาความบริสุทธิ์ของวิชา(หรือว่าน) ให้คนที่คู่ควรเท่านั้นพึงได้รับไป
  • ความสะดวกและความง่าย สายพันธ์ที่โตเร็วก็ย่อมขยายขายได้เร็วกว่า
  • การปลูกขายปริมาณมาก ภาคพิธีกรรมก็จะถูกลดทอนไปโดยปริยายอยู่แล้ว เช่น การเสกน้ำรดทีละต้นคงทำไม่ไหวถ้าปลูกเป็นไร่…
  • รับมาจากเจ้าอื่นมาขายต่อ หรือรับมาจากเจ้าที่หามาจากป่า แน่นนอน…การสืบประวัติก็ทำยาก

สรุป

ผมพยามจัดชั้นว่านต่างๆ เพื่อหวังให้นักเล่นว่านยุคหลัง ได้อิน (Inner) ฟินส์ และเข้าใจการเล่นว่านเชิงลึกจริงๆ ที่เรียกว่าจริงใจจะเห็นผล… ทำสุดๆแล้วว่านจะให้ผลดังในตำราไม่มากก็น้อย แต่ที่ว่าไม่มีผลเลยนั้นไม่ใช่ครับ ว่านมีผลจริง..ถ้าเราทำจริง และทำถูกทางด้วย…

อีกประการเพื่อเราจะได้คัดเลือกที่จะเล่นว่านให้ถูกต้น ไม่เสียเวลาไปเปล่าๆ ประการหนึ่งแม้หาว่านชั้นครูถูกต้องทุกลักษณะมาเล่นไม่ได้ ก็มีแนวทางในการคัดเลือก แสวงหาและปฏิบัติทางจิต(ปลุกเศกว่าน ทำพิธีกรรม) ได้อย่างถูกต้องและสมดุลครับ เพื่อสักวัน ว่านของท่านจะเอกอุเป็นว่านชั้นครูได้ด้วยมือของท่านเองครับ….

อรรถวัติ กบิลว่าน

๒๖ –  ๒๘ ม.ค.๖๔