สารบัญ: คลิ๊กเลือกอ่าน
กำเนิดคาถา “นะโมพุทธายะ”
อ้างอิงข้อมูลที่เขียนในตำราของ อ.เทพ สาริกบุตร ดังนี้
สิทธิการิยะ…ดำเนินความตามโบราณคำภีร์ตั้งแต่ครั้งต้นปฐมกัปป์ โลกนี้ยัง ว่างเปล่า เพราะเหตุที่เกิดไฟประลัยกัลป์ไหม้โลก เผาผลาญสรรพสิ่งต่างๆจนหมดสิ้น แล้วบังเกิดฝนตกลงมาจนกระทั่งน้ำท่วมโลก ชำระล้างสิ่งต่างๆให้สูญสิ้นไป ครั้งกระนั้นยังคงเหลืออยู่แต่พรหมโลกที่รอดพ้นจากภัยพิบัติอันเกิดจากแต่ไฟไหม้และน้ำท่วม
ขณะที่น้ำท่วมโลกค่อยๆลดลงไปแล้ว และงวดลงทุกทีกำลังจะบังเกิดเป็นแผ่นดินขึ้นมา ก็เผอิญให้บังเกิดเป็นดอกบัวผุดขึ้นมา ๕ ดอก ท้าวสหพรหมบดี ซึ่งประทับอยู่ชั้นพรหมโลกจึงทรงพิจารณาเล็งพระญาณลงมาบนโลกนี้ ได้ทรงทอดทัศนาการเห็นดอกบัว ทั้ง ๕ ดอก แต่ละดอกมีพระอักขระ “ นะ โม พุท ธา ยะ ” กำกับอยู่ดอกละอักขระ จึงทรงทำวันทนาการ แล้วตรัสคำกล่าวพยากรณ์ว่า กัปป์ที่จะเกิดขึ้นมาใหม่นี้ชื่อว่า ภัทรกัปป์ จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๕ พระองค์ คือ…
- องค์ที่ ๑ พระกุกกุสันโธ “นะ”
- องค์ที่ ๒ พระโกนาคมน์ “โม”
- องค์ที่ ๓ พระกัสสปะ “พุท”
- องค์ที่ ๔ พระสมณโคดม “ธา”
- องค์ที่ ๕ พระศรีอาริยเมตไตย “ยะ”
ท้าวสหพรหม จึงได้ทรงเอาหญ้าคาทิ้งลงมา (ในสายบางวิชาว่านจึงมีการทำ “มณฑลคาเขียว” ในการล้อมว่านเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของว่านด้วย) ทำให้บังเกิดเป็นแผ่นดินขึ้นต่อจากนั้นก็บังเกิดมนุษย์ สัตว์และพืชทั้งหลาย สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้พระอักขระวิเศษนี้บังเกิดขึ้นเองโดยมิมีผู้ใดตบแต่งขึ้น
เป็นสิ่งที่เรืองอานุภาพสูงสุดในบรรดาเวทย์มนตร์คาถาที่จะมุ่งภาวนาให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ในลัทธิพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทาวมหายานหรือเถรวาท จำเป็นจะต้องภาวนายึดมั่นในพระอักขระทั้ง ๕ นี้ เพราะถือกันว่าเมื่อได้ภาวนาทั้ง ๕ พระอัขระนี้ก็เปรียบเสมือนหนึ่งได้พบพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์
คำนมัสการ ระลึกถึงท้าวสหบดีพรหม
ตามมติของท่านโบราณจารย์ ก่อนที่จะภาวนาพระคาถาบทนี้จำเป็นจะต้องกล่าวคำนมัสการ ระลึกถึงท้าวสหบดีพรหมเสียก่อน เพราะท่านผู้นี้เป็นปฐมเหตุ ที่ได้พบพระอักขระทั้ง ๕ นี้ก่อนผู้ใด และได้ทรงประสิทธิ์ประสาธน์เป็นคัมภีร์ตบแต่งไว้ให้กุลบุตรทั้งหลายได้เรียนรู้สืบมาจนถึงทุกวันนี้
พระคาถานมัสการท้าวสหบดีพรหม
โองการพิน์ธุนาถัง อุป์ปัน์นัง พรหมาสหปตินามัง อาทิกัป์เป สุอาคโต ปัญ์จปทุมัง ทิสวา นโมพุทธายะ วัน์ทนังฯ
พระอักขระทั้ง ๕ นี้ ยังจัดเป็นเวทย์มนตร์คาถาที่สำคัญสูงสุด และยังจัดเป็นแม่ธาตุอีกด้วยเพราะเหตุที่บุคคลเราจะดำเนินชีวิตอยู่ได้นั้น ก็เพราะเหตุที่มีธาตุเป็นปกติสมบูรณ์อยู่ ถ้าหากธาตุเกิดอาการวิปริตขึ้นแล้วมักจะเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หนักเข้าก็ถึงกับสูญเสียชีวิตไป การจะประกอบวิทยาคม ให้บังเกิดอิทธิปาฏิหารย์สมใจนั้นปัญหาสำคัญอยู่ที่ธาตุ โดยจำแนกเอาไว้ ดังนี้..
- นะ ได้แก่ อาโปธาตุ ( ธาตุน้ำ ) มีกำลัง ๑๒
- โม ได้แก่ ปถวีธาตุ ( ธาตุดิน ) มีกำลัง ๒๑
- พุท ได้แก่ เตโชธาตุ ( ธาตูไฟ ) มีกำลัง ๖
- ธา ได้แก่ วาโยธาตุ ( ธาตุลม ) มีกำลัง ๗
- ยะ ได้แก่ อากาศธาตุ ( อากาศ ) มีกำลัง ๑๐
เมื่อรวมกันได้คือ ๕๖ คือกำลังแห่งพระพุทธคุณ
บทนี้เองเป็นบทบาทฐานในการตั้งธาตุ-หนุนธาตุที่จะประยุกต์ใช้ในการปลุกเศกว่านให้ใช้ในทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำผงว่าน ๑๐๘ การหุงน้ำมันว่าน การปลุกเศกเบี้ยแก้สายว่านยา เป็นต้น
คาถาพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์กับการปลูกว่าน
เหตุนี้เองในการปลูกเลี้ยงดูแลว่านในทรงอิทธิฤทธิ์ตามตำราที่เรียบเรียงไว้ ครูท่านจึงให้หมั่นภาวนาและรดน้ำด้วย “นะโมพุทธายะ” เป็นนิจศีล ต้นว่านที่งอกงามจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถือเป็นคาถาใหญ่ที่ครอบคลุมคาถาในการเลี้ยงว่านทั้งหมด
หากแต่เมื่อต้องการแต่งว่าน กล่อมว่านให้ใช้เฉพาะอย่าง ก็จะมีคาถาและพิธีกรรมต่างๆเพิ่มขึ้นมาในแต่ละต้นไป
สิ่งนี้ดูเหมือนเรียบง่ายแต่เอาเข้าจริงก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยาก ต้องอาศัยวินัยในการปฏิบัติ และด้วยความต่อเนื่องและวินัยในการปฏิบัตินี้ พลังจิตคือความต่อเนื่องของการทรงสมาธิในคำภาวนาก็จะบังเกิดทั้งภายนอกคือต้นว่าน กับภายในคือตัวผู้ภาวนาคาถานี้เอง จึงเรียกว่า “ดีทั้งนอก ดีทั้งใน”
ดังนี้จึงอย่าดูเบาในวัตรปฏิบัตินี้เลย คาถา ๕ ตัวนี้แยบคายพิศดารยิ่งนัดปรับใช้ได้พันช่องแลฯ
เอวังฯ
อรรถวัติ กบิลว่าน
๒๕ ก.พ.๖๔